เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อ Ecoli ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเยอรมนีกว่า 50 รายนั้น ล่าสุดทางการเยอรมันรายงานว่า เกิดจากเมล็ดพันธุ์ถั่ว Fenugreek (Trigonella foenum-graecum ) ที่นำเข้าจากอียิปต์ เพราะสินค้าประเภทเดียวกันได้มีการนำเข้าโดยผู้นำเข้าในฝรั่งเศสในปี 2553 ที่ผ่านมาและมีการเจ็บป่วยในทำนองเดียวกันเกิดขึ้น จากการประกาศของทางการ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายผักสดหลายชนิด ได้แก่ แตงกวา มะเขือเทศและผักสลัด ได้ทำให้เกษตรกรทั่ว EU ได้รับความเสียหาย สหภาพยุโรปจึงตั้งวงเงินช่วย ชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายประมาณ 250 ล้านยูโร ในส่วนของเยอรมนีจะได้รับราว 16 ล้านยูโร ปัจจุบันการบริโภคผักสดค่อนข้างเป็นปกติแล้ว โดยสินค้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งผักสดจากไทยด้วย ได้มีการปรับราคาสูงขึ้นระหว่าง 10 - 20% เพราะนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายในการถูกตรวจเข้มแล้ว สินค้าจะบอบช้ำ เสียหายมากขึ้น เพราะต้องใช้เวลาในการเคลียสินค้านานขึ้น เนื่องจากต้องรอรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยก่อน เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค กระทรวงคุ้มครองผู้บริโภค เยอรมนี ได้จัดทำโฮมเพจสำหรับผู้บริโภคใช้เป็นสื่อกลาง (www.lebensmittelkontrolle.de) เพื่อการร้องเรียน แจ้งความไม่ถูกต้องของสินค้าอาหาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการระบุรายละเอียด แจ้งส่วนผสม ส่วนประกอบของสินค้า โดยเริ่มใช้บริการได้ตั้งวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ปรากฏว่าได้มีผู้บริโภคเข้าใช้บริการหลายหมื่นราย ทำให้ระบบขัดข้องเป็นระยะๆ โฮมเพจนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ผลิตอาหารในเยอรมนีมาก โดยบางรายอ้างว่า อาจจะมีผู้ผลิตบางรายใช้ในทางที่ไม่เหมาะควร เป็นฐานในการบิดเบือนความจริงหรือสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดีให้กับกิจการอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งได้ ในส่วนของผู้บริโภคต่างเห็นว่า จะช่วยทำให้ผู้ผลิตต้องสนใจ ให้ความสำคัญของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้ผลิตส่วนใหญ่มุ่งหวังแต่การทำกำไรให้มากขึ้น มีการปกปิดข้อมูลบางส่วน เนื่องจากเกรงว่า หากเปิดเผยแล้วจะทำให้ผู้บริโภคไม่สนใจในสินค้านั้น เป็นต้น
ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 ยอดการจำหน่ายอาหารในเยอรมนีเป็นมูลค่ารวม 41,377 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 9.8 โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศ 32,911 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 และการจำหน่ายในต่างประเทศมูลค่า 8,466 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7
ในช่วงครึ่งปีแรก 2554 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยโดยรวมยังคงแจ่มใส สินค้าเกษตรกรรมส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 เป็นมูลค่า 191.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นมูลค่า 146.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกได้มากจะเป็นเนื้อไก่แปรรูป ที่ปัจจุบันเริ่มมีการแข่งขันมากขึ้นโดยเฉพาะจากเดนมาร์คที่มีการเข้าไปลงทุนสร้างโรงเลี้ยงไก่ในเยอรมนีมากขึ้น นอกจากนี้เยอรมนีเองมีการผลิตเนื้อไก่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื้อไก่ของไทยส่วนใหญ่นำเข้ามาเพื่อป้อนโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป จึงยังไม่ได้รับผลกระทบมาก สำหรับกุ้งแช่แข็งและแปรรูป มีการนำเข้ามากจากเวียดนามและเนเธอร์แลนด์ ทำให้ตลาดให้ความสนใจสินค้าจากไทยน้อยลง ปลาทูน่ากระป๋องมีปัญหาด้านการผลิต สินค้าไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่ง สำหรับสินค้ารายการอื่นๆ ยังคงเป็นที่นิยมของตลาดในเยอรมนี ยังคงสามารถส่งออกเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสับปะรดทั้งชนิดกระป๋องและน้ำผลไม้ การดูแลการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ปราศจากสารเคมีอันตราย สารตกค้าง หรือมีเจือปนได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ เหล่านี้จะทำให้สินค้าของไทยเป็นที่นิยม ช่วยให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่าเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th