UAE ยังคงมีความต้องการผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ จากไทยอย่างต่อเนื่อง มุสลิมในตะวันออกกลาง และอัฟริกา รณรงค์ให้มีการแต่งกายให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แม้ว่าจะมีเสื้อผ้าจากยุโรปที่ประยุกต์แนวทางการแต่งกายของมุสลิมในการผลิต และเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปจำหน่ายในภูมิภาคนี้ แต่สตรีอาหรับก็ยังนิยมซื้อผ้าผืนสั่งตัดเสื้อผ้าตามรูปทรงและแบบที่ต้องการมากกว่า
ความต้องการนำเข้าผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เพื่อใช้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของประเทศใกล้เคียง อาทิ ซีเรีย จอร์แดน อาจจะชะงักตัวลงเพราะปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันประเทศรองรับสินค้าส่งออกต่อ เช่น อิรัค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกไปยังยูเออี ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นฐานการส่งออกต่อผ้าผืน และเส้นด้าย เส้นใยประดิษฐ์
ในรายงานฉบับนี้จะครอบคลุมเฉพาะสินค้าเส้นด้ายและผ้าผืน (Code 55)ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีตลาดที่มีความต้องการบริโภคมีมูลค่าสูง และเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่สำหรับใช้ส่งออกต่อ (Re-export)ไปประเทศใกล้เคียง กลุ่มประเทศ CIS ยุโรปตะวันออก และอัฟริกา
มูลค่าการนำเข้าที่ผ่านมาพอสรุปได้ ดังนี้
ปี 2008 ประมาณ 409.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2009 นำเข้ามูลค่าลดลงร้อยละ 21 หรือประมาณ 323 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (- 21%)
ปี 2010 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในอัตราร้อยละ 7.3 หรือคิดเป็นการนำเข้ามูลค่า 346.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยูเออีนำเข้าสินค้าปี 2010 มีสัดส่วนตลาดมากน้อยดังนี้ จีน(36.2%) อินเดีย(16.3%) ญี่ปุ่น(15.3%) ไทย(9.4%) อินโดนีเซีย(4.1%) เกาหลีใต้ อังกฤษ ปากีสถานและซาอุดิอาระเบีย (3%) ฝรั่งเศส (2%) ตามลำดับ
- มาตรการกีดกันทางการค้า : ไม่มี
- อัตราภาษีนำเข้า : ร้อยละ 5 - ภาษีอื่นๆ : ไม่มี - วิธีการชำระเงิน : L/C - การขนส่ง : ขนส่งทางเรือ ความต้องการสินค้า
ยูเออีเป็นประเทศที่ไทยส่งออกด้ายเส้นใยประดิษฐ์และผ้าผืนมากมูลค่าเป็นอันดับ 1 ในตะวันออกกลาง (มูลค่ามากเป็นอันดับที่ 18 ที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก) เส้นด้ายที่นำเข้าเพื่อใช้สำหรับส่งออกต่อ(Re-export) เพราะเนื่องจากที่ไม่มีโรงงานทอผ้าในในประเทศ สำหรับผ้าผืนบางส่วนใช้ในโรงงานผลิตเสื้อผ้าในประเทศที่มีจำนวนลดน้อยลงมาก หลังจากมีการยกเลิกโควตาสิ่งทอของสหภาพ ยุโรป และอเมริกา ในการปกป้องสินค้านำเข้าราคาถูกจากเอเซีย ตามข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถเลือกนำเข้าจากประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันได้โดยไม่ถูกจำกัดโควตา ซึ่งประเทศผู้นำเข้าจะเลือกนำเข้าจากประเทศที่มีความพร้อมสูงสุด ไม่ว่าในเรื่องราคา คุณภาพ และบริการ โรงงานผลิตเสื้อผ้าหลายแห่งในเขตอุตสาหกรรมพิเศษของยูเออีไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้จึงต้องปิดตัวลง
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าขนาดกลาง-เล็กตัดเย็บเสื้อยืด ชุดอาหรับพื้นเมือง เสื้อคลุมสตรี (Abaya) เพื่อส่งออกและใช้ในประเทศ แต่การขยายตัวคงมีจำกัดเนื่องจากการขาดแคลนจำนวนแรงงานและแรงงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ส่วนผ้าผืนของรัฐดูไบเป็นศูนย์กลางขายส่งและส่งออกต่อที่สำคัญที่สุดในตะวันออกกลาง การส่งออกต่อมีหลายลักษณะ เช่น Cash and carry โดยมีพ่อค้าจากประเทศใกล้เคียงและอัฟริกาเดินทางเข้าไปเลือกซื้อสินค้าในย่านขายส่ง เมื่อผู้ซื้อเลือกผ้าตามตัวอย่างที่กำหนดจำนวนขายส่งอย่างน้อย 25 ม้วนขึ้นไป ผู้ค้าส่งจะนำสินค้าจากโกดังส่งให้ต่อไป
นอกจากนั้นมีบริษัท Commission agents เป็นนายหน้ารวบรวมคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อหลายราย เพื่อสั่งซื้อสินค้าและเรียกเก็บค่านายหน้าประมาณ 1- 3 % บางบริษัททำหน้าที่สั่งซื้อสินค้าโดยอาศัยระบบการเงินการธนาคารของยูเออีเพื่อเปิดแอลซี แต่สินค้าจากประเทศผู้ผลิตจะส่งตรงไปประเทศผู้นำเข้าโดยตรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หลังจากยูเอ็นประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน มีมาตรการให้มีการตรวจสอบสินค้าต้องสงสัยที่ส่งถึงหรือมาจากอิหร่าน ตรวจสอบเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางเข้า-ออกอิหร่านในน่านน้ำสากล ดังนั้นมีสินค้าสำหรับส่งไปอิหร่านจะถูกเปลี่ยนถ่ายที่ยูเออี รวมทั้งเปลี่ยนใบกำกับสินค้าต่างๆ ทำให้ยูเออีเป็นแหล่งส่งออกต่อสินค้าไปอิหร่านที่สำคัญมากยิ่งขึ้น
ประเทศอื่นๆที่ยูเออีส่งออกต่อสินค้ากลุ่มนี้เมื่อปี 2010 ได้แก่ อิรัค เคนย่า เทนซาเนีย คูเวต โซมาเลีย ปากีสถาน เอธิโอเปียและโอมาน รวมมูลค่าประมาณ 109 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
1.ปัญหาเรื่องราคา สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนได้ ถ้ามีการสั่งสินค้าในปริมาณมากสินค้าจีนจะถูกมาก
2.ระยะเวลาการผลิต ผู้นำเข้านิยมสั่งสินค้าจากจีน เนื่องจากรอบการผลิตต่ำกว่าไทย เนื่องจากมีปริมาณเครื่องจักรที่ทำให้จีนมีศักยภาพการผลิตที่รวดเร็ว ทันความต้องการ
3.แนวโน้มการใช้สินค้าคุณภาพรองมีมากในปัจจุบัน เนื่องจาก ชาวตะวันออกกลางระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
4.สินค้าไทยที่มีคุณภาพสูง ยังคงมีโอกาสในตลาดตะวันออกกลาง แต่ถ้าผู้ส่งออกรายใดต้องการเพิ่มมูลค่าการค้า อาจใช้ฐานการผลิตของบังคลาเทศที่มีคุณภาพดี ราคาถูก ควบคุมคุณภาพโดยบริษัทในไทย เนื่องจากปัจจุบัน ยุโรป อเมริกา ลดการสั่งผลิตสินค้าจากโรงงานในบังกลาเทศ ทำให้โรงงานใหญ่ ๆ ในบังกลาเทศ มีกำลังการผลิตเหลือพอที่จะรับการสั่งผลิตผ้าผืนได้ หากแต่ผู้นำเข้า ยูเออี ไม่นิยมเดินทางหรือติดต่อกับชาวบังกลาเทศโดยตรง จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกไทย สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้มากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th