ญี่ปุ่นเป็นตลาดผักขนาดใหญ่ แม้ผลิตในประเทศได้มูลค่า ๒,๑๑๑ พันล้านเยน ในปี ๒๕๕๑ แต่ยังต้องนำเข้าผักทั้งสด แห้ง แช่แข็งมูลค่า ๑๗๔ พันล้านเยน หรือ ๑,๖๙๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีดียวกัน
ปริมาณการผลิตผักในญี่ปุ่นที่สำคัญ เช่น มันฝรั่ง ประมาณ ๒.๕ ล้านตันต่อปี มันเทศประมาณ ๑ ล้านตัน หัวไชเท้า ๑.๖ ล้านตัน กะหล่ำปลี ๑.๔ ล้านตัน หอมหัวใหญ่ ๑.๒ ล้านตัน ผักกาดขาว ๙ แสนตัน มะเขือเทศ ๗ แสนตัน แตงกวา ๖ แสนตัน ผักกาดหอม ๕.๕ แสนตัน มะเขือม่วง ๓.๕ แสนตัน ผักโขม ๓ แสนตัน เป็นต้น
ผักในญี่ปุ่นมักปลูกกันเป็นแปลงเล็ก เกษตรกรผู้ปลูกผักแต่ละรายปลูกผักไม่กี่ชนิด ผักจำนวนมากปลูกกันในโรงเรือนที่คลุมด้วย vinyl กระจก หรือพลาสติก เช่น มะเขือเทศ พริกหวาน แตงกวา มะเขือม่วง ผักกาดหอม เป็นต้น ซึ่งโรงเรือนที่คลุมด้วย vinyl และกระจก จะสามารถติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และระบบควบคุมการใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงได้ดี
แม้ประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะที่มีพื้นที่ขนาดเล็กกว่าหลายๆประเทศ แต่ลักษณะยาวในแนวลองติจูด ทำให้สามารถผลิตผักหลายชนิดทั่วประเทศกระจายเกือบตลอดปี ยกเว้นช่วงอากาศหนาวจัด ปริมาณผักสดลดต่ำลงกว่าช่วงอื่นๆของปี
ปกติผลผลิตกว่า ร้อยละ ๘๐ ของ ผัก และผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศ ผู้ผลิตมักจัดส่งให้สหกรณ์การเกษตร หรือองค์กรอื่น รวบรวมนำสินค้าไปยังตลาดค้าส่ง เพื่อจำหน่ายต่อแก่ผู้ค้าปลีก แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ที่โรงไฟฟ้านิเคลียร์ฟูกุชิมา สืบเนื่องจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ผู้บริโภคกังวลต่อความปลอดภัยในอาหารจากการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสำคัญๆ ได้เพิ่มการสั่งซื้อผักและอาหารสดจากผู้ผลิตโดยตรงมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้บริโภคที่จะสามารถตรวจสอบแหล่งผลิตได้ง่าย
ราคาผักในตลาดญี่ปุ่นไม่เคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากทางการญี่ปุ่นสำรวจ สภาวะ demand และ supply ของผักสำคัญบางชนิดเพื่อกำหนดเป้าหมายการผลิต และผู้ค้าเองมักมีเครือข่ายกับทั้งผู้ผลิตภายในประเทศ และผู้นำเข้า เพื่อรักษาเสถียรภาพของปริมาณสินค้าสำหรับการจำหน่าย
ผักที่ญี่ปุ่นนำเข้า เป็นผักสดประมาณร้อยละ ๔๑ ผักแช่แข็งร้อยละ ๒๘ ผักที่ถนอมไว้ชั่วคราวร้อยละ ๔ ผักแห้ง ถั่ว รวมทั้งมันสำปะหลังและมันเทศ ร้อยละ ๒๗ ผักสดที่นำเข้ามูลค่ามาก ได้แก่ หอมหัวใหญ่ แครอท บรอคเคอลี หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และถั่วลันเตา เป็นต้น
แม้จำนวนประชากรญี่ปุ่นชลอลง แต่การนำเข้าผักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง จำนวนเกษตรกรลดลง และพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด ปี ๒๕๕๓ ญี่ปุ่นนำเข้าผักมูลค่า ๒,๑๕๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๒๖.๑ ๕ เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม)ของปีนี้ นำเข้าผักมูลค่า ๑,๑๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ร้อยละ ๒๗.๗ ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าต่อเดือนในช่วงมีนาคม - พฤษภาคม สูงกว่าช่วงต้นปี ก่อนเกิดอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เล็กน้อย
ปี ๒๕๕๓ ญี่ปุ่นนำเข้าผักจากไทยมูลค่า ๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๑๔.๗ ระยะ ๕ เดือนแรกปี ๒๕๕๔ นำเข้ามูลค่า๕๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ ๖.๙
แหล่งนำเข้าผักที่สำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ไทย เม็กซิโก ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น
- จีนเป็นแหล่งนำเข้าผักรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ ๕๗ สินค้าสำคัญที่นำเข้าจากจีน เช่น ผักแช่แข็ง หอมหัวใหญ่ เห็ด แครอท กระเทียมต้น(leek) กระเทียม และถั่ว เป็นต้น
- สหรัฐอเมริกา แหล่งนำเข้าผักอันดับที่ ๒ ของญี่ปุ่น สัดส่วนมูลค่านำเข้าร้อยละ ๑๒ สินค้าผักจากสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น บรอคโคลี่สด มันฝรั่งแช่แข็ง หอมหัวใหญ่ และข้าวโพด
- นิวซีแลนด์ มีสัดส่วนมูลค่านำเข้าร้อยละ ๗ สินค้าสำคัญจากนิวซีแลนด์ ได้แก่ ฟักทอง หอมหัวใหญ่ แครอท พริกหวาน และข้าวโพดแช่แข็ง
- ไทย ญี่ปุ่นนำเข้าผักจากไทยสัดส่วนร้อยละ ๕ ของการนำเข้าจากทุกแหล่ง สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง หอมหัวใหญ่ และผักแช่แข็ง เช่น หน่อไม้ฝรั่งหั่น กระเจี๊ยบเขียว และข้าวโพดอ่อน ทั้งฝักและหั่น แช่แข็ง เป็นต้น
- แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ เช่น เม็กซิโก สินค้าผักที่สำคัญ คือ หน่อไม้ฝรั่ง ไต้หวัน ผักที่ส่งออกมาญี่ปุ่นจำนวนมาก คือ ถั่วแระแช่แข็ง ผักกาดหอม และแครอท ส่วนเกาหลีใต้เป็นแหล่งนำเข้า พริกหวาน และมะเขือเทศ เป็นต้น
อัตราภาษีนำเข้าผักของญี่ปุ่น ที่เรียกเก็บโดยทั่วไปจากประเทศสมาชิก WTO เป็นดังนี้
- ผักสดส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ ๓
- ผักแช่แข็งร้อยละ ๘.๕
- ผักที่อัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าผักชนิดอื่น เช่น มันเทศ เห็ดshitakeแห้ง มีอัตราร้อยละ ๑๒.๘ เท่ากัน burdock และข้าวโพดหวาน อยู่ที่อัตราร้อยละ ๑๒.๐ และ ๑๐.๖
ญี่ปุ่นมีมาตรการนำเข้าผัก ๒ ชนิด ที่แตกต่างจากผักชนิดอื่น ดังนี้
- ถั่ว มีโควตาภาษีสำหรับถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิดยกเว้นถั่ว Lentil ถั่วลูกไก่ (Chickpea) และถั่วที่ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ อัตราภาษีในโควตาอยู่ที่ร้อยละ ๑๐ สินค้านำเข้านอกโควตาคิดภาษี ๓๕๔ เยน/กก. ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นกำหนดปริมาณ pooled quota ของถั่ว ไว้ ๑๒๐,๐๐๐ ตันเป็นพื้นฐาน และจะพิจารณาปรับโควตาของแต่ละปีโดยคำนึงถึงความต้องการ และการผลิตภายในประเทศ
- หอมหัวใหญ่ ญี่ปุ่นกำหนดภาษีนำเข้าภายใต้ WTO ไว้ที่อัตราร้อยละ ๘.๕ แต่ปัจจุบันเก็บในอัตราที่กำหนดไว้ชั่วคราว คือ หอมหัวใหญ่ที่ราคานำเข้าตั้งแต่ ๖๗ เยน/กก.ลงมาคิดภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ ๘.๕ กรณีราคานำเข้าสูงกว่า ๖๗ เยนแต่ไม่เกิน ๗๓.๗ เยน/กก. คิดภาษีจากส่วนต่างระหว่าง๗๓.๗ กับราคานำเข้า สำหรับหอมหัวใหญ่ที่ราคานำเข้าแพงกว่า ๗๓.๗ เยนต่อ กก. ไม่เก็บภาษี
ภายใต้ความตกลง JTEPA ญี่ปุ่นลดภาษีสินค้าผักจากไทย ดังนี้
- ผักบางชนิดลดลงเหลือศูนย์ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง หอมแดง มันฝรั่งสด/แช่เย็น พืชผักตระกูลถั่ว(เช่น ถั่วลันเตา) มันสำปะหลัง และหอมหัวใหญ่ที่ราคานำเข้าแพงกว่า ๗๓.๗ เยนต่อ กก. เป็นต้น
- หอมหัวใหญ่ที่ราคาตั้งแต่ ๗๓.๗ เยนต่อ กก. ลงมา ทยอยลดภาษีโดยในปี ๒๕๕๔ คิดอัตราร้อยละ ๔.๖ หรือคำนวณภาษีจากส่วนต่างของราคานำเข้ากับราคา ๗๓.๗ เยนคูณด้วย ๖/๑๑ แล้วแต่อัตราใดต่ำกว่า
- ผักชนิดอื่นรวมทั้งผักแช่แข็งทะยอยลดภาษี โดยอัตราภาษีในปี ๒๕๕๔ นี้อยู่ที่ร้อยละ ๐.๕-๖.๕
- ถั่วที่มีโควตาภาษีไม่รวมอยู่ในรายการเปิดตลาดของญี่ปุ่นภายใต้ JTEPA
ทั้งนี้ รายการสินค้าผักที่ญี่ปุ่นลดภาษีลงเป็นศูนย์ภายใต้ JTEPA ใกล้เคียงกับการลดภาษีภายใต้ EPA (FTA) ที่ญี่ปุ่นมีความตกลงกับ เม็กซิโก ชิลี และประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับผักบางชนิดที่ญี่ปุ่นทยอยลดภาษีนั้น ปัจจุบันภาษีภายใต้ JTEPA สูงกว่าภาษีภายใต้ EPA ที่ญี่ปุ่นทำกับเม็กซิโก ชิลี และมาเลเซียเล็กน้อย แต่ต่ำกว่า ภาษีภายใต้ความตกลงฯ กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
มาตรการด้านภาษีนำเข้าผักของญี่ปุ่นนอกเหนือจากการกำหนดโควตาข้างต้นแล้ว ไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้านัก แต่อุปสรรคสำคัญ คือ กฎระเบียบเกี่ยวกับสุขอนามัยที่เข้มงวด กฎหมายที่ควบคุมการนำเข้าผัก คือ กฎหมายป้องกันโรคพืช(Plant Protection Law)ซึ่งห้ามนำเข้าส่วนของพืช ผัก ผลไม้ ที่มีดิน หรือปนเปื้อนแมลง และศัตรูพืช และกฎหมายสุขอนามัยของอาหาร (Food Sanitation Law) ควบคุมระดับสารพิษตกค้าง และความปลอดภัยของอาหาร
ก่อนการส่งออก ผู้ส่งออกผัก ทั้งสดแช่เย็น แช่แข็ง และอบแห้ง ต้องให้กรมวิชาการเกษตร ของไทย ออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) และตรวจสารพิษตกค้างเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการสุ่มตรวจอีกครั้ง ปริมาณการสุ่มตรวจขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ทั้งนี้ หากไม่ผ่านด่านกักกัน เช่น พบแมลง ศัตรูพืชเจือปนมมากับสินค้า ผู้นำเข้าต้องดำเนินการฆ่าเชื้อโรคหรือกำจัดศัตรูพืชด้วยกระบวนการรมควัน (fumigation)
ระเบียบพิธีการนำเข้าผักเข้มงวด ทั้งการตรวจเพื่อป้องกันโรคพืช ความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และรายละเอียดของเอกสารที่จะต้องครบถ้วน ถูกต้องตรงกับรายการสินค้าทุกประการ สร้างภาระทั้งค่าใช้จ่าย และเวลาสำหรับการนำเข้า
ผู้บริโภคญี่ปุ่นนิยมสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ดูสวยงาม และรสชาติดี ซึ่งผู้ผลิต/ผู้ประกอบการญี่ปุ่นจะเข้าใจรสนิยมของตลาดได้ดี ในส่วนของความสดใหม่ของผักสด ก็เป็นจุดแข็งของเกษตรกรผู้ปลูกผักในประเทศ และเป็นข้อได้เปรียบของ ประเทศแถบเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน เกาหลี และไต้หวัน มากกว่าแหล่งนำเข้าอื่น
อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนการผลิตในประเทศที่สูง ขณะที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องราคามากขึ้น สินค้านำเข้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย ในราคาที่แข่งขันได้ จึงยังมีโอกาสที่ขยายขึ้นในตลาดนี้
นอกจากนี้ การที่ผู้ค้าปลีกต้องการให้มีสินค้าวางจำหน่ายสม่ำเสมอ จึงต้องหาแหล่งนำเข้าที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของสินค้าผักที่จำหน่าย เช่น หน่อไม้ผรั่งของไทยแม้มีสัดส่วนการนำเข้าน้อยกว่าเม็กซิโก แต่มีผลผลิตส่งไปตลาดญี่ปุ่นตลอดทั้งปี จึงเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญแหล่งหนึ่ง รวมทั้งกระเจี๊ยบเขียวที่ไทยสามารถผลิตได้ทั้งปีและผลผลิตมีสีสันสวยงามกว่าสินค้าจากจีน เป็นต้น
- World Trade Atlas, Japan Customs "Japan Import Statistics"
- www.custom.go.jp "Japan's Tariff Schedule"
- www.maff.go.th "Statistical Yearbook of Ministry of Agriculture, Forestry, and Fisheries
2009-2010"
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th