รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาคอาเซียน ประเทศสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 27, 2011 14:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2554

1. คาดการณ์เงินเฟ้อของสิงคโปร์มีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.1 เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2554 ที่คาดว่า จะมีอัตราร้อยละ 6.2 จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 ทั้งนี้ จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนโดย Monetary Authority of Singapore คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 6.2 เพิ่มจากการคาดการณ์เดิมร้อยละ 5.7 และอยู่ระหว่างอัตราที่ภาครัฐคาดการณ์ ร้อยละ 5 - 7 เมื่อการเติบโตเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความกังวลถึงอัตราเงินเฟ้อ จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 21 ราย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ปรากฎว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากันกับในเดือนเมษายน แต่ต่ำกว่าอัตราในเดือนมกราคม (ร้อยละ 5.5) และมากกว่าอัตราที่คาดการณ์เดิม (ร้อยละ 4) และนับเป็นอัตราที่สูงกว่าที่ภาครัฐได้คาดการณ์ไว้ (ร้อยละ 3-4) อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของอาหารและน้ำมัน และนโยบายควบคุมแรงงานต่างชาติ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 นักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America Merrill กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐที่จำกัดแรงงานต่างชาติ อาจจะส่งความตึงเครียดแก่ค่าจ้าง และไม่เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลง ส่วนปัจจัยอื่นที่พึงระวัง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะธรรมชาติโดยฉับพลันในจีนและไต้หวัน ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นอีก สำหรับปัจจัยที่ส่งให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2554 มีอัตราสูงขึ้น ได้แก่ ราคาที่พักอาศัย(เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1) การคมนาคมขนส่ง(เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5) และอาหาร(เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8)

2. International Enterprise Singapore ส่งเสริมให้นักลงทุนสิงคโปร์เข้าไปลงทุนใน Central China ซึ่งเป็นเขตสำคัญและมีศักยภาพในปัจจุบัน เนื่องจากภาครัฐสนับสนุนตลาดผู้บริโภคในประเทศและที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดีในภูมิภาค ความแข็งแกร่งของ Central China จะกลายเป็นเขตที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในจีน โดยเฉพาะที่ Anhui, Henan, Hubei และ Hunan ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงของจีนที่ใช้การขยายตัวเศรษฐกิจภายในประเทศส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงนโยบายที่ชัดเจนจาก Central Government นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ Central China จะเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต อนึ่งนักลงทุนสำคัญจากสิงคโปร์ คือ ธนาคาร OCBC วางแผนเปิดดำเนินการใน Central China ภายใน 3 เดือนข้างหน้า เพื่อให้บริการแก่กลุ่มนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ และผู้มีรายได้สูง ที่ประสงค์จะหาโอกาสในการลงทุนโดยผ่าน OCBC (ธนาคาร OCBC มีสาขาในเมืองสำคัญๆได้แก่ Beijing, Chengdu, Chongqing, Guangzhou และ Shanghai)

3. สิงคโปร์เป็นประเทศที่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรม Ore และ Steel ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่ง Mr. S. Iswaran, Second Minister for Trade and Industry and Home Affairs กล่าวในงาน Annual Iron Ore Summit ครั้งที่ 8 โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ที่ตั้งของประเทศและโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ รวมถึงระบบการเงิน ซึ่งทำให้ธุรกิจขยายตัวในเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ มีโรงเรียนธุรกิจสำคัญคือ Insead ที่ฝึกอบรมบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ ทำให้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนจัดตั้งสำนักงานในสิงคโปร์เพื่อตลาดนานาชาติ ได้แก่ 1) BHP Billiton และ Rio Tinto ผู้ผลิต Iron Ore ใหญ่ที่สุดของโลก 2) บริษัท Miniral Enterprises, Rudhra Energy, Bagadiya Brothers และ Kineta International จากอินเดีย 3) บริษัท Sinosteel, Minmetals and Sha-gang จากจีน

4. เงินเหรียญสิงคโปร์ยังคงมีค่าแข็งแกร่งต่อไป แม้ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวหรือถึงขึ้นถดถอยก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เงินเหรียญสิงคโปร์จะเป็นเงินสกุลเดียวที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี และคงความยืดหยุ่นด้วย นักลงทุนในเงินเหรียญสิงคโปร์ สามารถที่จะเลือกลงทุนได้ในทุกแห่งและทุกเวลาที่ประสงค์ และจะได้รับผลตอบแทนในอัตราแลกเปลี่ยนที่สูง คาดว่า ในปลายปี 2554 ค่าเงินเหรียญสิงคโปร์จะมีอัตรา 1.15 ต่อเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 7.3 สูงขึ้นจากระดับในปัจจุบัน (1.24 เหรียญสิงคโปร์) ในส่วนของเงิน Euro จะลดลงร้อยละ 0.7 เงิน Swiss Franc และ Australian dollar จะลดลงร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ สิงคโปร์ให้ตัวเลือกของตลาดหุ้นที่มากกว่าในตลาดเอเชีย และนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าร้อยละ 4 หุ้นที่สำคัญๆ ได้แก่ SingTel, DBS Group Holdings, ST Engineering และ Singapore Press Holdings ในทางที่ตรงกันข้าม ดอกเบี้ยธนาคารเงินออมทรัพย์มีอัตราต่ำระหว่าง ร้อยละ 0.1 และ 0.125 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ไม่ส่งเสริม คือ สิงคโปร์เป็นตลาดเล็กและเศรษฐกิจเปิด เมื่อเกิดเหตุเศรษฐกิจถดถอยในประเทศใด สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบโดยตรงในด้าน Singapore Bourse อนึ่ง CITI Investment Research เน้นว่า ค่าเงินเหรียญสิงคโปร์จะมีอัตราคงที่ในขณะนี้ เนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับปานกลาง และ Central Bank ของสหรัฐฯ จะเสร็จสิ้นภาระที่โอบอุ้ม Bonds มูลค่า 600 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

5. สนามบินชางงี จะมีผู้ใช้บริการถึง 50 ล้านคน ภายใน ปี 2557 จากสถิติเมื่อปี 2553 มีผู้ใช้บริการมากกว่า 42 ล้านคน หากในปี 2551 ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้จำนวนที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ 50 ล้านคน เป็นไปตามเป้าหมายได้ภายในปี 2555 ทั้งนี้ Changi Airport Group (CAG) ได้ประกาศคาดการณ์ล่าสุดเมื่อ 5 มิย. 54 ว่า Low-cost Carriers เป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการเติบโตของการใช้บริการสนามบิน ซึ่งในปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนรวมการใช้บริการของสนามบิน และจะคงยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อไป

นอกจากนี้ การเติบโตเพิ่มขึ้นของการบินในภูมิภาคได้ส่งผลประโยชน์ต่อสิงคโปร์ โดยในปี 2553 ผู้เดินทางระหว่างสิงคโปร์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศฝยเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2552 อนึ่ง สนามบินชางงีมี Good Prospects ที่ทำให้สายการบินต่างๆได้จัดตั้งสำนักงานฯ และยังมีสายการบินที่ประสงค์ใช้บริการได้แก่ Quntas จัดตั้ง Airline Base, สายการบินไต้หวัน TransAsia Airways เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ระหว่างไทเปกับสิงคโปร์ วันละเที่ยวบิน และ Singapore Airlines วางแผนเปิดตัวสายการบินชั้นประหยัดบินระยะทางไกลภายในปลายปี 2554 ในส่วนของความนิยมที่สนามบินชางงีได้รับโดยการจัดอันดับของ Global Airport Body Airports Council International ได้ให้ชางงีเป็นอันดับ 6 ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการสูงในปีที่ผ่านมา รองจากคู่แข่งขันคือ ปักกิ่ง โตเกียว ฮ่ององ จาการ์ตา และกรุงเทพฯ หากคิดในส่วนอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นจากปี 2552 สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 2 ร่วมกับปักกิ่ง ขยายตัวร้อยละ 13 ส่วนอันดับแรกคือ Soekarno-Hatta International Airport (จากาตาร์) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18

6. เสื้อผ้าแบรนด์สิงคโปร์เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในตลาดสิงคโปร์ โดยห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ได้แก่ Takashimaya, Tangs, Metro และ BHG จำหน่ายสินค้าฯที่สั่งโดยใช้แบรนด์ของห้างฯเอง และเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ของนักออกแบบสิงคโปร์ ซึ่งจำหน่ายควบคู่ไปกับแบรนด์นานาชาติอื่นๆ เสื้อผ้าสตรีที่ออกแบบโดยนักออกแบบสิงคโปร์มียอดการจำหน่ายสูงขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อให้การยอมรับเพิ่มขึ้น หากเทียบกับสินค้าแบรนด์นานาชาติที่ผลิตเป็นจำนวนมากในแต่ละรูปแบบ ทำให้ผู้ซื้อหันมาสนใจแบรนด์สิงคโปร์เพิ่มขึ้น ซึ่ง ไม่เพียงแต่มีให้เลือกหลากหลาย แต่ยังให้ความเป็น Exclusive ที่ไม่สามารถหาซื้อได้นอกเอเชีย ทั้งนี้ ห้างฯและแบรนด์เสื้อผ้า ได้แก่ 1) ห้างฯ BHG ร้อยละ 70 ของเสื้อผ้าที่จำหน่ายเป็นแบรนด์สิงคโปร์ ได้แก่ Future State, Fashion Lab, Le Range, Forever Orange และ Societe ราคาระหว่าง 29-89.90 เหรียญสิงคโปร์ 2) ห้างฯ Takashimaya แบรนด์สิงคโปร์ ได้แก่ Pricepts, AlaNuit และ Elita ราคาระหว่าง 29-189 เหรียญสิงคโปร์ 3) ห้างฯ Tangs เป็นเสมือน Spring Board ส่งเสริมการเติบโตแก่นักออกแบบเสื้อผ้าพรีเมียมแบรนด์สิงคโปร์ที่ตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ Thomas Wee และ Peter Kor ราคาสินค้าระหว่าง 69-399 เหรียญสิงคโปร์ นอกจากนี้ Tangs มี Pop-up Stores สำหรับนักออกแบบสิงคโปร์แบรนด์อื่นๆได้แก่ Hansel, Chalk, Yumumu, Own Muse, Elohim, Allure, Santorini และ Reckless Ericka 4) ห้างฯ Metro มีแบรนด์สิงคโปร์ได้แก่ Arthur Yen, Celiana, Eden, Marissa และ Veneto ซึ่งบางแบรนด์ออกแบบและตัดเย็บในสิงคโปร์โดยใช้ผ้าจากยุโรป สินค้าราคาระหว่าง 49-299 เหรียญสิงคโปร์ ทั้งนี้ Mr. William Teo, Head of Department of Fashion Studies ที่ Nanyang Academy of Fine Arts (NAFA) ให้ความเห็นว่า แม้ว่าปัจจุบันผู้ซื้อในสิงคโปร์มีความนิยมที่เปลี่ยนไป แต่ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อเสื้อผ้ายังคงดูที่ราคา คุณภาพ และรูปแบบ ซึ่งแบรนด์สิงคโปร์จะได้เปรียบในด้านขนาด ทราบความต้องการของผู้ซื้อ ราคาที่แข่งขันได้ และเสื้อผ้าเหมาะกับการสวมใส่ในสิงคโปร์ที่มีอากาศร้อน แบรนด์นานาชาติอาจจะมีรูปแบบที่ดี แต่ไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศในสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าสำหรับฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว เนื่องจากผ้าที่ใช้มีความหนามากเกินไป สำหรับแนวโน้มของสินค้าเสื้อผ้าในสิงคโปร์ จะเป็นรูปแบบที่มีความโดดเด่น แสดงความเป็น Exclusive มากขึ้น

7. ธุรกิจแฟรนไชส์ยังมีโอกาสในสิงคโปร์ ปัจจุบันบริษัทในประเทศเริ่มขยายธุรกิจไปสู่กิจการแฟรนไชส์ เนื่องจากรูปแบบธุรกิจไม่ต้องลงทุนสูง ในปี 2553 ธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าประมาณ 8 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และสมาคม Franchising and Licensing Association of Singapore (FLA) มีสมาชิก 140 ราย จำนวนครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทภายในประเทศที่มีสาขาแฟรนไชส์ 1 แห่งในปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2553 ในปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในสิงคโปร์มี Concept ประมาณ 500 แบบ ซึ่งจำนวน 380 ราย เป็นบริษัทในประเทศ ราคาค่าแฟรนไชส์สาขาละประมาณ 15,000- 100,000 เหรียญสิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับรูปแบบ นอกจากนี้ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่อเดือนหรือต่อปี ร้อยละ 3-20 ของมูลค่าการจำหน่ายสินค้า ทั้งนี้ BizLink Exhibition Services กำหนดจัด FLA’s Fair 2011 ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2554 ณ Marina Bay Sands คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 120 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2553 (109 ราย) และปี 2552 (99 ราย)

8. สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2554 จากการสำรวจของ Mercer’s Worldwide Cost of Living (ปี 2553 อยู่อันดับที่ 11) ปัจจัยสำคัญมาจาก ค่าเงินเหรียญสิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้นต่อเหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 13 รวมถึงราคาต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ อาหาร ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าเช่าสำนักงาน การคมนาคมขนส่ง และอัตราเงินเฟ้อ (เดือนพฤษภาคม 2554 ร้อยละ 4.5) นอกจากนี้ การที่ภาครัฐมีนโยบายจำกัดแรงงานต่างชาติ ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นอีกด้วย

9. กลุ่มอุตสาหกรรม Clean Energy สิงคโปร์ได้รับเงินสนับสนุน 195 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จาก National Research Foundation ซึ่งกำหนดให้ใช้ภายใน 5 ปี ในการดำเนินการค้นคว้าวิจัยด้าน Solar Energy ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าแหล่งผลิตพลังงานดั้งเดิม รวมถึงการสร้าง Green Building วิธีการในการจัดการ Carbon Dioxide และการเริ่มจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อดำเนินกิจการด้าน Solar Energy โดยการให้การสนับสนุนนี้ จะทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมฯมีการจ้างงาน 7,000 อัตราภายในปี 2558 และส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นประเทศสำคัญด้าน Clean Technology Industry ในภูมิภาค ทั้งนี้ The Energy Market Authority มีความเห็นว่า Solar Energy ในสิงคโปร์ไม่เหมาะสม เนื่องจากต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก และหากสิงคโปร์ใช้พื้นที่ทั้งหมดเพื่อ Solar Energy พลังงานที่ได้รับมีเพียงร้อยละ 10 ของความต้องการทั้งประเทศ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังไม่สามารถสร้าง Wind Energy เนื่องจากพลังลมไม่เพียงพอที่จะปรับให้เป็นเชิงพาณิชย์ แต่สิ่งที่สิงคโปร์สามารถจัดการ คือ ให้สถานที่เพื่อสนับสนุนให้บริษัทสามารถดำเนินการติดต่อเครือข่ายได้โดยสะดวกทั้งด้านเทคโนโลยี ตลาด ผู้ชำนาญการ และเงินลงทุน ซึ่งเอเชียต้องลงทุนด้าน Clean Energy อย่างด่วนที่สุด อนึ่ง UN คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรในเมืองของภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า จากจำนวน 1.8 พันล้านคน เป็น 3.4 พันล้านคนภายในช่วง 40 ปี ข้างหน้า ทำให้ภูมิภาคเอเชียเป็นเขตที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งของโลก

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2554

1. ดำเนินการจัดโครงการส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับห้าง Isetan ระหว่างวันที่ 3-16 มิถุนายน 2554 โดย นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีฯ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2554

2. ดำเนินการจัดโครงการ Thailand Trade Exhibition 2011 “Creatively Thai 2011” ณ ห้าง VivoCity ระหว่างวันที่ 8-12 มิถุนายน 2554 โดย นางนันทวัลย์ ศกุตนาค อธิบดีฯ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานฯ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2554

3. ประสานงานและร่วมมือกับทีมประเทศไทยนำผู้ประกอบการไทยจำนวน 67 รายเข้าร่วมงาน Thai Festival 2011 ณ บริเวณ สถานทูตไทย ในสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายน 2554

4. เจ้าหน้าที่ สคร.นำคณะผู้แทนการค้าสินค้าทั่วไปเจรจาการค้าในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน — 3 กรกฎาคม 2554 โดยมีคณะจำนวน 12 บริษัท

5. ดำเนินการจัดส่งรายชื่อคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์ จำนวน 5 ราย เยือนงานแสดงสินค้า Made in Thailand 2011 (กำหนดจัดระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2554)

6. ประสานงานเพื่อการจัดโครงการคณะผู้แทนการค้าสินค้าแฟชั่นไปเจรจาการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย) โดยคณะเยือนสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2554 ณ Orchard Hotel

7. ประสานงานเพื่อการจัดโครงการส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจสปาไทยสู่ตลาดสิงคโปร์ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรม Goodwood Park Hotel

8. ประสานการลงโฆษณางาน Bangkok RHVAC 2011 และ Bangkok E&E 2011 ในสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์

9. ประสานงานการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการส่งออกในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ (สิงคโปร์)

10. ประสานงานการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์งาน Thailand International Logistics Fair 2011 ในสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์

11. ประสานเชิญชวนและจัดคณะนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair 2011 (14-18 September 2011), Thailand International Logistic Fair 2011 (7-11 October 2011)

12. ดำเนินการจัดคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เจรจาการค้าในประเทศไทย สินค้าอุตสาหกรรมหนัก (กำหนดจัดระหว่าง วันที่ 15-18 สิงหาคม 2554) และสินค้าอาหาร (กำหนดจัดระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2554)

13. ผู้อำนวยการฯ เตรียมการสำหรับบรรยายหัวข้อ “หลากหลายมุมมองของสิงคโปร์” และประสานงานเชิญวิทยากรจากสิงคโปร์ร่วมบรรยายในประเทศไทย (กำหนดการระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2554)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ