ความสัมพันธด้านเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์กับซาอุดิอาระเบีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 27, 2011 15:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์กับซาอุดิอาระเบียมีความสดใสขึ้น ด้วยความตกลงใหม่ด้านความตกลงการหลีกเลี่ยงภาษีซ้ำซ้อน (Avoidance of Double Taxation Agreement : DTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2554 โดยให้สิทธิประโยชน์ภาษีแก่นักธุรกิจสิงคโปร์และซาอุดิอาระเบีย เพื่อที่จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการขยายตัวการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น

ความตกลงฯภาษีซ้ำซ้อนดังกล่าว ให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จะส่งผลให้การขยายตัวทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ในตะวันออกกลาง โดยมูลค่าการค้ารวมของ 2ประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 จากมูลค่า 12.8 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปี 2552 เป็นมูลค่า 16.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2553 สำหรับช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2554 การค้ารวมระหว่างกันมีมูลค่า 9.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1

ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ประเทศสุดท้ายที่ลงนามความตกลง Comprehensive DTA กับสิงคโปร์ ทั้งนี้ สิงคโปร์มี DTAs ที่มีผลบังคับใช้แล้วร่วมกับประเทศสมาชิกกลุ่ม GCC (Qatar, United Arab Emirates, Oman, Kuwait และ Bahrain) นอกเหนือจากการลงนามความตกลง DTA แล้ว กลุ่มประเทศ GCC ได้ลงนามภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) กับสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 แต่ความตกลงดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการรอการให้สัตยาบัน อนึ่งในปี 2553 การค้ารวมระหว่าง GCC กับสิงคโปร์มีมูลค่า 43.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 เมื่อเทียบกับปี 2552

ปัจจุบัน บริษัทสิงคโปร์เข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆในซาอุดิอาระเบีย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การคมนาคม โลจิสติกส์ และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงฯ และในขณะเดียวกันบริษัทของซาอุดิอาระเบียในสิงคโปร์จะได้รับสิทธิประโยชน์ฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งจะอยู่ในสาขาธุรกิจการบิน การผลิต การบริการด้านการเงิน และน้ำมันกับแก๊ซ

บริษัทในทั้ง 2 ประเทศ จะได้รับการลดหย่อนภาษี ได้แก่ 1) ผลกำไรจากการขนส่งทางอากาศและทางเรือในน่านน้ำนานาชาติ ยกเว้นภาษีทั้งหมด 2) การลดหย่อนภาษี Withholding Tax ในส่วนเงินปันผล(Dividends), ดอกเบี้ย(Interest) และค่าลิขสิทธิ์(Royalties) เป็นร้อยละ 5, 5 และ 8 ตามลำดับ (เดิมอัตราภาษีในทั้ง 2 ประเทศมีอัตราร้อยละ 15) และ 3) ลดอัตราภาษี Capital Gains Tax จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 15

ที่มา : กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ