ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การส่งออกของสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ เนื่องมาจากความต้องการทางด้านสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ลดลง รวมทั้งการแข็งตัวของค่าเงินเหรียญสิงคโปร์ โดยที่การส่งออกสินค้า Non-oil มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนในปีที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.8
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดการส่งออกลดลง เนื่องมาจากปริมาณการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ลดลงไปถึงร้อยละ 17 หลังจากที่เคยลดลงถึงร้อยละ 15 เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะสินค้าประเภท Integrated Circuit Components และ Disk Drives ที่มีอัตราการส่งออกลดลงเกินกว่า ร้อยละ 50 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหาการเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังญี่ปุ่นลดลงถึงร้อยละ 18.2
นอกจากนี้ ในเดือนที่ผ่านมา การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาก็ลดลงไปถึงร้อยละ 6.3 และมีการวิตกกันว่าอาจจะมีการลดลงต่อไปอีก ในขณะเดียวกัน ยอดการส่งออกไปยังประเทศแถบ ยุโรปยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้จะในปริมาณเพียงร้อยละ 1.3 ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.3
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของสิงคโปร์ได้แก่ จีน และตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งจีนเป็นตลาดสินค้าประเภท Non-oil ใหญ่เป็นอันดับสองของสิงคโปร์ โดยมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.1 หรือประมาณ 1.76 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน อัตราการส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 หรือประมาณ 504 ล้านเหรียญสิงคโปร์
อนึ่ง การแข็งตัวของค่าเงินเหรียญสิงคโปร์ก็มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะทำให้ราคาสินค้างขึ้นตามไปด้วย โดยขณะนี้ อัตราค่าเงินสิงคโปร์ต่อเหรียญสหรัฐเท่ากับ 1.22 เหรียญ และมีการคาดการณ์ว่า อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.19 ภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่า ปัญหาเหล่านี้คงจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของสิงคโปร์ในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ การส่งออกของสิงคโปร์คงจะเริ่มขยายตัวต่อไปได้อีก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ The Straits Times (19 กรกฎาคม 2554)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th