ข้อมูลเมืองเซี่ยเหมิน (Xiamen)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2011 14:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภูมิประเทศ

เซี่ยเหมินเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของมณฑลฝูเจี้ยน (Fujian) รองจากนครฝูโจว ติดกับเมืองจางโจวและเมืองเฉวียนโจวของมณฑลฝูเจี้ยน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Amoy” โดยมี พื้นที่ทางบก 1, 565.09 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทางทะเล มากกว่า 300 ตารางกิโลเมตร เมืองเซี่ยเหมิน ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยแบ่งเป็นพื้นที่บนเกาะและพื้นที่ในแผ่นดินใหญ่ พื้นที่เกาะเซี่ยเหมินเป็นศูนย์กลางการค้าและการเมือง พื้นที่ในแผ่นดินใหญ่จัดเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ด้านตะวันออกของเกาะเซี่ยเหมินซึ่งอยู่ติดกับช่องแคบไต้หวัน และเกาะไต้หวัน

ภูมิอากาศ

เมืองเซี่ยเหมินตั้งอยู่ในเขตมรสุม สภาพอากาศไม่หนาวไม่ร้อนจัด มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,200 มิลลิเมตร โดยจะมีฝนตกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

สิ่งแวดล้อม

อีกทั้งยังเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงเมืองหนึ่งในประเทศจีน จากรายงานของทางการจีน ประจำปี 2553 พบว่า เซี่ยเหมิน อยู่ในอันดับที่เจ็ดของเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ อยู่ในอันดับที่หกในเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เมืองเซี่ยเหมินยังได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองแห่งสวนสาธารณะ” เนื่องจากมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และสงบ เป็นเมืองที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในประเทศจีน และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากองค์การสหประชาชาติในด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2545 รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย สัญลักษณ์ประจำเมืองเซี่ยเหมิน คือ “นกกระยางสีขาว”

ประชากร

เมืองเซี่ยเหมินมีประชากรประจำประมาณ 2.64 ล้านคน โดยสำมโนครัวประชากรประมาณ 1.8 ล้านคน

การบริหารการปกครอง

แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 เขต ดังนี้

1. เขตซือหมิง(Siming District) เป็นเขตที่พักอาศัย ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมขนาดกลาง รวมไปถึงด้านโลจิติกส์ การท่องเที่ยว การค้า การจัดแสดงสินค้า ด้านการเงินและประกันภัย ด้านอสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมและบันเทิง

2. เขตหูหลี่(Huli District)เป็นเขตอุตสาหกรรมไร้มลพิษ มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้านซอฟแวร์ และ การพัฒนาด้านทางเทคโนโลยีอากาศยาน เขตการลงทุนพื้นที่นอกเกาะเซี่ยเหมิน แบ่งเป็น 4 เขต พื้นที่เขตอุตสาหกรรมรอบทะเลฝั่งตะวันตก (Haicang District and part of Jimei District west to Xinglin Bay) และพื้นที่เขตอุตสาหกรรมรอบทะเลฝั่งตะวันออก (part of Jimei District east to Xinglin bay, Tong’an District and Xiang’an District

3. เขตไห่ชาง(Haicang District)ง เป็นเขตอุตสาหกรรมด้านอิเลคทรอนิกส์ เครื่องจักรกล

4. เขตจี๋เหม่ย(Jimei District) ด้านฝั่งตะวันตกเป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และเครื่องจักรกล รวมทั้งการคมนาคมด้านรถไฟ และฝั่งตะวันออกเน้นด้านการศึกษา โดยมีศูนย์กลางด้านการศึกษา ตั้งอยู่ในเขต Jimei-Xinglin Bay Campus

5. เขตถงอัน(Tong’an District) เป็นเขตอุตสาหกรรมด้านอาหาร และหินประเภทต่างๆ ที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง เช่น หินแกรนิต หินอ่อน

6. เขตเสียงอัน(Xiang’an District) เป็นเขตอุตสาหกรรมด้านอาหารและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมพื้นที่การเกษตร ปลอดสารพิษรักษาสิ่งแวดล้อม

สิ่งก่อสร้างพื้นฐาน

การเดินทางทางน้ำ

เซี่ยเหมินเป็นท่าเรือธรรมชาติที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในประวัติการณ์ มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 234 กิโลเมตร ท่าเรือเซี่ยเหมินถือเป็นท่าเรือสำคัญในเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย 116 เส้นทางการเดินเรือและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือที่สำคัญเกือบทั้งหมดทั่วโลก ทำให้แต่ละเดือนมีเรือเข้ามาเทียบท่าเฉลี่ย 469 ลำ ซึ่งเรือเหล่านี้นี่เองที่คอยเชื่อมโยงการติดต่อระหว่างท่าเรือต่างๆอันได้แก่ ท่าเรือที่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ-กลาง-ใต้ ยุโรป เมดิเตอเรเนียนและตะวันออกกลาง ท่าเรือเซี่ยเหมินยังเป็นท่าเรือสำคัญสำรับการขนส่งระหว่างแผ่นดินใหญ่และไต้หวันโดยเป็นหนึ่งในสองท่าเรือที่สามารถขนส่งโดยตรงกับท่าไต้หวัน ท่าเรือเซี่ยเหมินเป็นท่าเรือติดอันดับ 7 ของจีนและอันดับที่ 19 ของโลก(ปี 2553 รองมาจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือเซินเจิ้น ท่าเรือชิงเต่า ท่าเรือหนิงโป ท่าเรือกวางโจวและท่าเรือเทียนจิน) ในปี 2553 ท่าเรือเซี่ยเหมินมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าประมาณ 139 ล้านตัน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 มีปริมาณกานขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 5.82 ล้านตู้ เพิ่มขึ้น 24.9 และมีผู้โดยสารประมาณ 9.80 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3

การเดินทางทางอากาศ

สนามบินกาวฉีของเมืองเซี่ยเหมินเป็นหนึ่งในสิบสนามบินของประเทศจีนที่มีการให้บริการมากที่สุด โดยสนามบินกาวฉีเชื่อมต่อกับ 74 สนามบินทั่วโลก ปัจจุบันมีสายการบินที่ให้บริการ 19 สายการบินได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า โตเกียว โอซาก้า โซล สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง มะนิลา และกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสายการบินขนส่งสินค้าไปยัง ชิคาโก้ ลอสแองเจลิส นาโกย่า เป็นต้น จากสถิติพบว่า ปี 2553 มีผู้โดยสารประมาณ 13.2 ล้านคน และได้ขนส่งสินค้า 245,600 ตัน

สนามบินเสียงอันเป็นสนามบินแห่งที่สองของเมืองเซี่ยเหมินที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการก่อนปี 2562 คาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารประมาณปีละ 30 ล้านคน และสามารถขยายเพิ่มการรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 60 ล้านคน ถึงเวลานั้น สนามบินเสียงอันจะเป็นสนามบินที่เชื่อมต่อเมืองเซี่ยเหมิน เมืองจางโจว เมืองเฉวียนโจว เมืองหลงเหยียน เมืองจินเหมิน (ไต้หวัน) มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลเจียงซี เป็นต้น

การเดินทางทางรถไฟ

สถานีรถไฟของเมืองเซี่ยเหมิน ถือเป็นสถานีใหญ่ในภาคตะวันออกของประเทศจีน โดยมีรถไฟ 12 เส้นทาง ออกจากเซี่ยเหมินไปพื้นที่ต่างๆในประเทศจีนทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่เขตท่าเรือตงตู้และท่าเรือไห่ชาง โดยเส้นทางรถไฟนี้เชื่อมต่อกับเส้นทางการเดินรถไฟระดับประเทศ อิ๋งถาน-เซี่ยเหมิน นอกจากการให้บริการขนส่งมวลชนแล้วยังมีการให้บริการการขนส่งสินค้าไปยังเซี่ยงไฮ้ เจียงซี อู่ฮั่น เจิ้งโจว ซานหมิงและเขตอื่นๆในประเทศจีนและการให้บริการรถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันนี้ เมืองเซี่ยเหมินมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางฝูเซี่ย(ฝูโจว-เซี่ยเหมิน) ซึ่งเปิดใช้บริการแล้ว เส้นทางหลงเซี่ย(หลงเหยียน-เซี่ยเหมิน จะสร้างเสร็จและใช้บริการอย่างเป็นทางการก่อนปลายปี 2554) และเส้นทางเซี่ยเซิน(เซี่ยเหมิน-เซินเจิ้น จะก่อสร้างเสร็จก่อนปลายปี 2554)

การเดินทางบนทางหลวง

ทางหลวงเมืองเซี่ยเหมินเป็นหนึ่งใน 47 จุดสำคัญที่เชื่อมต่อเซี่ยเหมินไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ในประเทศจีน โดยมีเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักได้แก่ เซี่ยเหมิน-เสิ่นเจิ้น-ฮ่องกง เมืองเซี่ยเหมินมีการคมนาคมที่ครบครันโดยมีสะพานเชื่อมเกาะเซี่ยเหมินและแผ่นดินใหญ่ 4 แห่งได้แก่ สะพานไห่ชาง สะพานเซี่ยเหมิน สะพานจี๋เหม่ย สะพานซิ่งหลิน สะพานข้ามทะเลเซี่ยจางเป็นสะพานที่เชื่อมต่อเมืองเซี่ยเหมินและเมืองจางโจวโดยมีความยาว 9.33 กิโลเมตร คาดการณ์ว่าจะสร้างเสร็จและเปิดใช้บริการในปลายปี 2555

อุโมงค์ใต้ทะเลเสียงอันเป็นอุโมงค์ใต้ทะเลแห่งแรกของเมืองเซี่ยเหมิน สามารถเชื่อมโยงถนนบนเกาะเซี่ยเหมินและแผ่นดินใหญ่ได้ และเมืองเซี่ยเหมินกำลังวางแผนสร้างอุโมงค์ใต้ทะเลแห่งที่สอง(อุโมงค์เชื่อมเขตหูหลี่และเขตไห่ชาง) และแห่งที่สาม(อุโมงค์เซี่ยจาง สามารถเชื่อมเมืองเซี่ยเหมินและเมืองจางโจว) อุโมงค์แห่งที่สองจะเริ่มการก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2554 และสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2558 อุโมงค์แห่งที่สามจะเริ่มดำเนินการในปี 2555 โดยคาดการณ์ว่า การข้ามอุโมงค์แห่งที่สามจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที

ทรัพยากร

ทรัพยากรน้ำ แต่ละวันเมืองเซี่ยเหมินสามารถผลิตน้ำได้ 1,000,000 ตัน โดยปริมาณการใช้จริงมีแค่ 6 แสน 1 หมื่น 5 พันตัน ร้อยละ 99.9 ของน้ำในเมืองผ่านการวัดคุณภาพมาตรฐานสากล

ทรัพยากรก๊าซ เมืองเซี่ยเหมินสามารถผลิตก๊าซอุตสาหกรรม และก๊าซคุณภาพสูงได้ทั้ง ก๊าซออกซิเจน ไนโตรเจน อาร์กอนและคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตก๊าซบริสุทธิ์ ก๊าซผสม ที่ใช้ในวงการแพทย์ วิทยาศาสตร์หรือใช้ในชีวิตประจำวันเช่น ก๊าซหุงต้มหรือน้ำแข็งแห้งได้ เป็นต้น

ทรัพยากรไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในเมืองเซี่ยเหมิน มาจากแหล่งผลิตในมณฑลและแหล่งผลิตในเมือง โรงไฟฟ้าเมืองเซี่ยเหมินมีทั้งสิ้นสามแห่งได้แก่ โรงงานผลิตไฟฟ้าซงหยู่ ซึ่งมีเครื่องผลิตไฟฟ้า 300,000 กิโลวัตต์ 2 เครื่องโรงผลิตไฟฟ้าซิ่งหลิงซึ่งมีเครื่องผลิตฟ้า 25,000 กิโลวัตต์ 2 เครื่องและโรงผลิตไฟฟ้าหย่งชาง ซึ่งมีเครื่องผลิตฟ้า 11,520 กิโลวัตต์ 4 เครื่อง

การท่องเที่ยว

เมืองเซี่ยเหมินได้รับการขนานนามว่าเป็น Garden on the Sea เนื่องจากเซี่ยเหมินเป็นเกาะที่ประกอบไปด้วย สวน ภูเขา ป่าไม้และธรรมชาติอันงดงาม มีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยวตลอดปี โดยนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ในปี 2553 เมืองเซี่ยเหมินได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งหมด 30.26 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 19.9 โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.63 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 รายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่า 38,389 ล้านหยวน เพิ่ม ขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 16.9 โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศคิดเป็น 1,081 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 นับถึงปลายปี 2553 เมืองเซี่ยเหมินมีจำนวนโรงแรมที่มีดาวรวม 71 แห่ง โรงแรมที่ระดับสามดาวขึ้นไปมีจำนวน 58 แห่ง

นอกจากนี้เซี่ยเหมินยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากมาย สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองเซี่ยเหมิน ได้แก่ เกาะกู๋ล่างหยู่ หรือ เกาะดนตรี ( Gu lang yu Island ) วัดหนานผู่ถัว ( The South Putuo Temple ) เมืองจำลองถงอัน ( Tong’An Film City ) พิพิธภัณฑ์ชาวจีนโพ้นทะเลที่จี๋เหม่ย สวนว่านสือซาน ( Wanshisan Botanic Garden ) เป็นต้น

อุตสาหกรรม

เซี่ยเหมินเป็นหนึ่งในสี่เขตแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศจีน(ปัจจุบันนี้จีนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 เขต)ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 (ค.ศ. 1981) ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองเซี่ยเหมินมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจได้เอง และยังมีการบริการทางภาครัฐ กฎหมาย การวางผังเมืองการเปิดตลาด สภาพสังคมและวัฒนธรรมดีที่สุดในประเทศ

อุตสาหกรรมสำคัญของเมืองเซี่ยเหมิน ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ ไอที เครื่องจักรและอุตสาหกรรมเคมี โดยพบว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมขั้นสองและขั้นสามเป็นปัจจัยหลักในการขับดันเศรษฐกิจของเมืองเซี่ยเหมิน

ปัจจุบัน เมืองเซี่ยเหมินให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านอิเล็คทรอนิกส์และไอที โดยหวังให้ความก้าวหน้าจากสิ่งเหล่านี้ไปช่วยพัฒนาระบบอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งขึ้น อุตสาหกรรม 4 กลุ่ม ที่ให้ความสำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่และการติดต่อสื่อสาร อุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องเสียงและวีดีโอ และส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่างๆ

รัฐบาลเซี่ยเหมินมีเป้าหมายสำคัญเพื่อที่จะพัฒนาเซี่ยเหมิน ให้เป็นศูนย์กลางทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ทั้งประเภทอุปกรณ์เครื่องใช้ประจำบ้าน และคอมพิวเตอร์เพื่อส่งออก โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญของเมือง ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อุตสาหกรรมเคมี โทรคมนาคม วัสดุก่อสร้าง อาหารทะเล และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยพบว่ามีการขยายตัวของอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมบริการเป็นปัจจัยหลักในการขับดันเศรษฐกิจของเมืองเซี่ยเหมิน

รายได้และรายจ่ายภาครัฐ

ในปี 2553 รายได้ทางการคลังทั้งหมดในเขตเมืองอยู่ที่ 52,602 ล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากปีที่ผ่านมา รายได้ทางการคลังในเขตชนบทเท่ากับ 28,917 ล้านล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 จากปีที่ผ่านมา และรายจ่ายประจำปีเท่ากับ 30,682 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 แบ่งเป็นรายจ่ายด้านการป้องกันสิ่งแวดล้อม 1,016 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.6 รายจ่ายด้านกิจการเขตเมืองและชนบท 2,485 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยบะ 15.8 รายจ่ายด้านการศึกษา 4,264 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 รายจ่ายการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ 952 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 รายจ่าย ด้านการให้บริการทางธุรกิจ 1,029 หยวน เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 65.7 รายจ่ายด้านประกันสังคมและการจ้างงาน 2,309 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1

การลงทุน

การลงทุนสินทรัพย์ถาวร ปี 2553 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่า 100,998 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 14.5 โดยการลงทุนในเขตเมือง 99,330 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 15.1 การลงทุนในโครงการสำคัญ 187 โครงการคิดเป็นมูลค่า 98,870 ล้านหยวน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็นมูลค่า 31,310 ล้านหยวน การลงทุนในด้านอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่า 20,460 ล้านหยวน การลงทุนในวงการการค้าส่งค้าปลีกคิดเป็นมูลค่า 1,691 ล้านหยวน การลงทุนด้านสังคม 3,551 ล้านหยวน การลงทุนด้านการศึกษา 1,751 ล้านหยวน การลงทุนในด้านบ้านพักอาศัยคิดเป็นมูลค่า 39,613 ล้านหยวน

การลงทุนด้วยทุนภายในประเทศ ปี 2553 มีโครงการลงทุนภายในประเทศตลอดปีจำนวน 7,679 สัญญาโดยคิดเป็นมูลค่า 95,172 ล้านหยวน โครงการลงทุนใหม่ที่จดทะเบียนแล้วคิดเป็นมูลค่า 51,480 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 112.7 โครงการประมูลซื้อขายที่ดิน 37,421 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 101 และโครงการที่ลงทุนทางด้านอุตหสาหกรรมคิดเป็นมูลค่า 6,271ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.4

การลงทุนด้วยทุนต่างประเทศ โครงการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในปี 2553 มีทั้งสิ้น 398 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 1,643 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 20.4 ในปีที่ผ่านมามีการใช้เงินลงทุนจริง 1,697 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6

ผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP

ปี 2553 เมืองเซี่ยเหมินมี GDP เท่ากับ 205,374 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2552 ร้อยละ 15.1 โดยในจำนวนนี้ มีมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ เท่ากับ 2,300 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.2 มูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิเท่ากับ 102,686 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 20.4 มูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิเท่ากับ 100,388 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 9.7 เทียบสัดส่วน GDP ของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เท่ากับร้อยละ 1.1: 50:48.9 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP ในเขตปกครอง

เขตซือหมิง เท่ากับ 60,852 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2552 ร้อยละ 12.5 เขตหูหลี่ เท่ากับ 51,374 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เขตไห่ชางเท่ากับ 30,743 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เขตจี๋เหม่ย เท่ากับ 28,086 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 เขตถงอันเท่ากับ 14,691 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 และเขตเสียงอัน เท่ากับ 19,627 ล้านหยวน เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 34.7 ในนั้น มูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมทั้งหมดคิดเป็น 377,222 ล้านหยวน มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมคิดเป็น 86,947 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วร้อยละ 23.1 มีสัดส่วนของจีดีพีทั้งหมดร้อยละ 42.3 ในปี 2553 การผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 133,241 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 การผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องจักรคิดเป็นมูลค่า 94,413 ล้านหยวน การผลิตของอุตสาหกรรมเคมีคิดเป็นมูลค่า 49,276 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6

การค้าภายในและระหว่างประเทศ

การค้าภายในประเทศ ปี 2553 มูลค่าการค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 69,655 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยการค้าส่งมีมูลค่า 5,413 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 การค้าปลีกมีมูลค่า 55,487 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2

การค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าส่งออกของปี 2553 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 57, 036 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 โดยการนำเข้ามีมูลค่า 21,712 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 และการส่งออกมีมูลค่า 35,324 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7

สินค้าส่งออกหลักได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รองเท้า กระเป๋า ร่ม ผลิตภัณฑ์เคมี หินและผลิตภัณฑ์จากหิน พลาสติกและยาง

สินค้านำเข้าหลักได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ พลาสติก ยาง แร่ พาหนะ เหล็ก ไม้ กระดาษ

การค้ากับไต้หวัน ปี 2553 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,378 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.9 แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 5,317 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 และมูลค่าการส่งออก 1,061 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 33.3

การค้าระหว่างประเทศไทยกับเมืองเซี่ยเหมิน

ในปี 2553 การค้าระหว่างประเทศไทยกับเมืองเซี่ยเหมินมีมูลค่า 1, 392.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.65 แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 912.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.73 และมูลค่าการส่งออก 408.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.62

สินค้าที่เซี่ยเหมินนำเข้าจากประเทศไทยได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์สื่อสาร ยางธรรมชาติ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก โพลีเอทเธอลีน น้ำยาเคมี ( Terephthalic acid) น้ำยางพารา หนังวัว ผลไม้สดและผลไม้แห้ง

สินค้าที่เซี่ยเหมินส่งออกไปไทยได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า สิ่งทอ ร่ม หิน อลูมิเนียม ก๊อกน้ำ เครื่องประดับ ผลไม้สด ผลไม้แห้ง

ประเทศคู่ค้าสำคัญ

ประเทศคู่ค้าสำคัญในการส่งออกได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ฮ่องกง ประเทศในอาเซียน อเมริกาใต้และไต้หวัน และประเทศคู่ค้าสำคัญในการนำเข้าได้แก่ ไต้หวัน ประเทศในอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรปและอเมริกาใต้

บริษัทต่างประเทศที่มาลงทุนในเมืองเซี่ยเหมิน

อเมริกา ได้แก่ General Electric (GE), Kodak, Dell , Boeing , Coca-Coca , Wal-Mart Honeywell ,Citibank

ยุโรป ได้แก่ ABB, Philips, Linde, Seire Pacific, Jardine, Bautain, Metro, ECCO

ญี่ปุ่น ได้แก่ NEC, FDK , Panasonic , TDK ,Maribeni , Toshiba , Itochu , Nissho Iwai, Mitsubishi , Toyota Tsusho,ToTo , Japan Airlines ,All Nippon Airways

ฮ่องกง ได้แก่ Hutchison

บริษัทไทยที่ลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมิน

นับถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 บริษัทไทยที่ลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินมีจำนวน 31 บริษัท มูลค่าสัญญาการลงทุนคิดเป็น 73.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการลงทุนที่ที่แท้จริง 56.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ลงทุนในด้านบรรจุภัณฑ์ อาหาร เครื่องจักร อาหารสัตว์น้ำ เหล้าผลไม้เป็นต้น บริษัทไทยที่ลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินส่วนใหญ่มีการพัฒนาอย่างราบรื่นและได้ผลกำไร บริษัทสำคัญที่ลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินมีดังนี้

1. Guangxia Package Co., Ltd. ก่อตั้งเมื่อปี 2528 ลงทุนทั้งหมด 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดำเนินการการผลิตและการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์เป็นต้น

2. Xiamen Hua Thai Package Co., Ltd. ก่อตั้งเมื่อปี 2529 ลงทุนทั้งหมด 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดำเนินการการผลิตและการจำหน่ายสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์

3. Xiamen Day Bright Food Co., Ltd ก่อตั้งเมื่อปี 2538 ลงทุนทั้งหมด 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดำเนินการการผลิตสินค้าอาหาร มูลค่าการผลิต 84 ล้านหยวน สินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างประเทศ

4. Xin De Da Foods Co., Ltd. ก่อตั้งเมื่อปี 2549 ลงทุนทั้งหมด 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดำเนินการแปรรูปสินค้าอาหารเป็นหลัก

5. Xiamen Guangxiajiamei Package Co., Ltd. ดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์ของสารเหลว บรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ พลาสติกส์ เป็นต้น

6. Xiamen Junhao Union Logistics Co., Ltd. ดำเนินการการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออก สินค้าที่ใช้ในงานแสดง สินค้า และของใช้ส่วนตัวในทางเรื่อและทางอากาศ

7. Xiamen Deshanjinggong Machine Co., Ltd. ดำเนินการการผลิตและการแปรรูปเครื่องจักรและอุปกรณ์สิ่งทอ

8. Xiamen Marik Electrical Co., Ltd. ดำเนินการการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลหะเป็นต้น

9. Xiamen Deju Aloy products Co., Ldt. ดำเนินการการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรเป็นต้น

10. Xiamen Jianqin Engineering Co., Lt. ดำเนินการการผลิต การติดตั้งเครื่องจักร เครื่องไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นต้น

11. Xiamen Rongye Machine Co., Ltd. ดำเนินการการผลิตและแปรรูปเครื่องจักรบรรจุโดยใช้กระดาษ พลาสติก เป็นต้น

แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 ของเมืองเซี่ยเหมิน(พ.ศ.2554-2558)

แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 ของเมืองเซี่ยเหมินจะเน้นหนักการยกระดับอุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ และผลักดันอุตสาหกรรมทั้ง 3 ได้พัฒนาอย่างสมบูณร์แบบ อุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลเซี่ยเหมินเร่งพัฒนาคืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร โลจิสติกส์ขนส่งทางเรือ การท่องเที่ยวและประชุม การเงินและธุรกิจการค้า ซอฟต์แวร์และไอทีทั้งหมด 6 รายการ

1. อิเล็กทรอนิกส์ เร่งพัฒนา Flat Panel Display, Modern Lighting & Photovoltaic(PV), Computer & IT เป็นต้น

2. เครื่องจักร เน้นการพัฒนา Automotive, Construction Machinery & Equipment, Aviation Industry, Manufacture of power Distribution & Control Equipment, Shipping Industry เป็นต้น

3. โลจิสติกส์ขนส่งทางเรือ เน้นพัฒนาโลจิสติกส์ท่าเรือ (Port Logistics), Third-Part Logistics (TPL), Inter-City Distribution Logistics เพื่อสร้างเป็นเมืองที่มีท่าเรือใหม่ ศูนย์กระจายสินค้าใหญ่ และเครือข่ายโลจิสติกส์ใหญ่

4. การท่องเที่ยว งานประชุมและงานแสดงสินค้า เน้นพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเล การท่องเที่ยววัฒนธรรม การ ท่องเที่ยวสู่ไต้หวัน การท่องเที่ยวอย่างมีระดับเป็นต้น เพื่อยกระดับการบริการการท่องเที่ยว งานประชุมและงานแสดงสินค้า และสร้างเมืองเซี่ยเหมินเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระหว่างประเทศ

5. การเงินและธุรกิจการค้า

การเงิน ขยายธุรกิจการเงินระหว่างเซี่ยเหมินและไต้หวันโดยผลักดันการทดลองของความร่วมมือด้านการเงิน และสร้างเมืองเซี่ยเหมินเป็นฐานแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับไต้หวัน นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายการเงินในเมืองและในชนบทอย่างครบครันและกลมกลืนโดยดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินในแต่ละด้าน

ธุรกิจการค้า ดึงดูดบริษัทต่างเมืองมาสร้างบริษัทใหญ่ที่เซี่ยเหมินโดยปรับปรุงการบริการให้ครบครันยิ่งขึ้น สนับสนุนบริษัทเมืองเซี่ยเหมินขยายสาขานอกเมืองเซี่ยเหมินและเผยแพร่ให้รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาการบริการสื่อกลางอย่างเช่นการแนะนำทางด้านกฎหมาย บัญชี การประเมิน การรับรองเป็นต้น

6. ซอฟต์แวร์และไอที เน้นพัฒนาและคิดค้น Application Software, Integrated circuit Design, Embedded Software, Digital Content, Information Technology Service เป็นต้น

งานแสดงสินค้าเซี่ยเหมิน

งานแสดงสินค้าหิน China Xiamen International Stone Fair(ครั้งที่ 11)

งานแสดงสินค้าหินเป็นงานแสดงสินค้าหินที่ใหญ่ที่สุดในเขตเอเชีย และงานแสดงสินค้าฯ ครั้งที่ 11 จัดขึ้นในวันที่ 6-9 มีนาคม 2554 ณ ศูนย์การประชุมและการแสดงสินค้า พื้นที่จัดแสดงทั้งหมด 100,000 ตารางกิโลเมตร สินค้าหลักในการแสดงได้แก่ หินแกรนิต หินอ่อน เครื่องตบแต่งที่ทำด้วยวัตถุดิบหิน เครื่องจักรเป็นต้น

งานแสดงสินค้าเครื่องจักและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ China Xiamen Machinery & Electronics Exhibition (ครั้งที่ 13)

งานแสดงสินค้าเครื่องจักรและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จัดประจำในวันที่ 8-11 เมษายน ณ ศูนย์การประชุมและงานแสดงสินค้า งานแสดงสินค้าฯ เป็นงานแสดงเครื่องจักรและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดระหว่างแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน

งานแสดงสินค้าอาหาร China (Xiamen) International Food Procurement Fair (ครั้งที่ 9)

งานแสดงสินค้าอาหารเป็นงานแสดงสินค้าสำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน และเป็นหนึ่งในสี่งานแสดงสินค้าใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองเซี่ยเหมิน เริ่มจัดแสดงตั้งแต่ปี 2546 และได้ดึงดูดผู้ประกอบการที่มาจากทั่วประเทศจีนแล้ว ยังมีผู้ประกอบการต่างประเทศที่มาจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเข้าร่วมงาน สินค้าหลักในงานแสดงสินค้าอาหารได้แก่ เครื่องดื่ม ลูกอม ขนม อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยนม อาหารว่าง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ อาหารแช่เย็น อาหารทะเล อาหารบำรุงสุขภาพ ผักสด ผักแช่เย็น ผักกระป๋อง ผลไม้สด ผลไม้แห้ง ผลไม้แช่เย็น ใบชา สุรา สารปรุงแต่งอาหาร เครื่องจักรที่ใช้ในการแปรรูปอาหารและเครื่องจักรบรรจุหีบห่อ เป็นต้น

งานแสดงสินค้าอาหารครั้งที่ 9 จัดขึ้นในวันที่ 22-23 มิถุนายน 2554 ณ ศูนย์การประชุมและงานแสดงสินค้าเมืองเซี่ยเหมิน

งานการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ China International Fair for Investment & Trade (ครั้งที่ 15)

งานการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศหรืองาน 9*8 จัดประจำในวันที่ 9-11 กันยายน ณ ศูนย์การประชุมและงานแสดงสินค้าเซี่ยเหมิน เป็นงานสำคัญโดยเน้นทางด้านการลงทุน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ