อัญมณีและเครื่องประดับของตุรกีมีประวัติความเป็นมายาวนานควบคู่ประวัติศาสตร์ที่เจริญรุ่งเรืองของนครอิสตันบูล นับตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายของจักรวรรดิโรมัน โดยอัญมณี เครื่องประดับเงินและทอง เป็นสินค้าสำคัญที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในสมัยนั้น
ต่อมาในยุคจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมตะวันออกกลางเกือบทั้งหมดและยุโรปตะวันออกบางส่วน แต่ศูนย์กลางการปกครองและการค้ายังคงอยู่ที่นครอิสตันบูล เช่นเดิม อัญมณีและเครื่องประดับ คือสิ่งของบรรณาการจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่ต้องส่งมาถวายสุลต่าน ในยุคนี้เริ่มมีการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรูหรา และได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าออกที่สำคัญ 1 ใน 10 ลำดับแรกของตุรกี และเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมากในประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาล โดยยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ หรือเก็บในอัตราต่ำมาก ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ตุรกีจะเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของตุรกี สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทสินค้า คือ
2.1 ทอง เป็นเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมมากในตุรกี เพราะสามารถใช้เป็นทั้งเครื่องประดับและสิ่งรักษามูลค่าความมั่งคั่งของครอบครัวแทนเงินสดหรือเงินฝากธนาคาร เนื่องจากในแต่ละปี ตุรกีประสบอัตราเงินเฟ้อสูงมาก (ในอดีตเคยสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ปัจจุบันลดเหลือประมาณร้อยละ 8)
2.2 เครื่องประดับเงิน ได้รับความนิยมรองลงมาจากทองสำหรับผู้บริโภคในประเทศ แต่เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกในอนาคต เนื่องจากมีการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ประยุกต์มาจากศิลปะแห่งชาติ
2.3 อัญมณี การส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับที่มีพลอย หรือพลอยประดับเพชร และอัญมณีอื่นๆ มีมูลค่าสูงที่สุดในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ แม้ว่าตุรกีจะอยู่ในระยะเริ่มต้นสำหรับการออกแบบและผลิตเครื่องประดับราคาแพงจำพวกนี้ก็ตาม (ในอดีตเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออก) นอกจากนี้ ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดอัญมณีราคาแพงในประเทศ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
3. ภาวะการนำเข้าและส่งออก
4.1 ทอง ตุรกีเป็นประเทศผู้นำเข้าทองเพื่อผลิตเป็นเครื่องประดับและส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และจีน โดยมีปริมณการผลิตประมาณ 250-300 ตัน/ปี และมีศูนย์กลางการผลิจตอยู่ที่นครอิสตันบูล
ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตเครื่องประดับทองมีประมาณ 5,000 ราย และผู้ค้าปลีกมีประมาณ 35,000 ราย
จำนวนแรงงานที่เป็นผู้ในภาคการผลิตเครื่องประดับทอง มีประมาณ 250,000 คน โดยบางโรงงานจ้างแรงงานเกือบ 1,000 คน
4.2 เงิน ตุรกีมีกำลังการผลิตเครื่องประดับเงินปีละประมาณ 300 ตัน แต่ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น เนื่องจากขาดแคลนแรงงานและตลาดรองรับในประเทศยังไม่โตเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น
ศูนย์กลางการผลิตและการค้าเครื่องประดับเงินอยู่ที่นครอิสตันบูล โรงงานเกือบทั้งหมดเป็นโรงงงานขนาดเล็ก/กลาง ประมาณ 250 ราย มีพนักงานประมาณแห่งละ 10-50 คน โรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน มีประมาณ 10 โรงงาน
ร้านค้าขายเครื่องประดับเงิน สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองใหญ่ ๆ ของตุรกี อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่อีกสาขาหนึ่ง โดยมีแรงงานอยู่ในภาคการผลิตสินค้านี้ ประมาณ 10,000 คน
4.3 อัญมณี โรงงานผลิตอัญมณีประดับเพชร พลอย ยังมีไม่มากนัก ประมาณ 100 แห่ง และเป็นโรงงงานขนาดเล็ก เนื่องจากตุรกีขาดแคลนทั้งวัตถุดิบ ช่างเจียระไนและช่างประกอบตัวเรือน ที่มีฝีมือ โรงงานที่มีอยู่ใช้วิธีนำเข้าแรงงานระดับหัวหน้า ซึ่งบางส่วนมาจากประเทศไทย และประกอบตัวเรือนแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ตุรกีสามารถออกแบบอัญมณีที่มีรูปแบบโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ โดยเป็นการประยุกต์รูปแบบศิลปะจากยุคสมัยออตโตมันและได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าระดับบน
เครื่องประดับจำพวกอัญมณีที่จำหน่ายทั่วไปในตุรกี ร้อยละ 50 เป็นการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และร้อยละ 50 เป็นการนำเข้าวัตถุดิบมาประกอบตัวเรือนในประเทศ
โรงงานและร้านค้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนครอิสตันบูล รองลงมา ได้แก่ เมืองอิซเมียร์ และกรุงอังการา
5.1 ลักษณะรูปแบบสินค้า
ผู้บริโภคตุรกียังนิยมเครื่องประดับทองเป็นส่วนใหญ่ เพราะสามารถตกแต่งร่างกาย และยังสามารถเป็นเครื่องรักษาความมั่งคั่งของครอบครัวแทนเงินสด ซึ่งประสบปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าของเงินตุรกีถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น โดเฉพาะตุรกีมีการบริโภคเครื่องประดับทองมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก อินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา
รูปแบบเครื่องประดับทอง ได้แก่ สายสร้อย สร้อยข้อมือ แหวนและต่างหู หากเป็นการซื้อทองเพื่อเก็บรักษามูลค่า รูปแบบของทองจะเป็นเหรียญมีรูปอดีตผู้นำประเทศคนสำคัญ (มุสตาฟา เคมาล อาตาเตริ์ก) และทองคำแท่ง โดยเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือเครื่องประดับทอง 22 กะรัต ที่ไม่มีการตกแต่งด้วยอัญมณี ในขณะที่เครื่องประดับทอง 14 กะรัต ทั้งที่ตกแต่งและไม่ตกแต่งด้วยอัญมณีกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาว
รูปแบบของเครื่องประดับเงิน จะมีการออกแบบที่หลากหลาย สวยงามมากกว่าเครื่องประดับทอง เพื่อตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มต้นทำงาน รวมทั้งเครื่องประดับจากสแตนเลสสตีลสำหรับผู้ชายด้วย
รูปแบบเครื่องประดับจำพวกอัญมณี เพชร พลอย เริ่มมีพัฒนาการออกแบบที่หรูหราสวยงามเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่สินค้าที่จำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบคล้าย กับของต่างประเทศ โดยเฉพาะลักษณะของการออกแบบจากประเทศในแถบเอเชีย ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่สามารถพบเห็นได้ในงานแสดงสินค้าและนิตยสารต่าง ๆ
5.2 การกำหนดราคาขาย
เครื่องประดับทอง จะใช้ราคาของ Istanbul Gold Exchange เป็นราคาอ้างอิง แล้วบวกเพิ่มค่ากำเหน็จ และค่าการตลาดอื่น ๆ
เครื่องประดับอื่น ๆ การกำหนดราคาและการเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปตามกลไกตลาด
5.3 ช่องทางการจำหน่ายและส่งเสริมการขาย
5.3.1 ร้านค้าปลีก (สำหรับลูกค้ารายย่อยในประเทศและนักท่องเที่ยว)
จำนวนร้านค้าปลีกในอุตสาหกรรมนี้ของตุรกี มีประมาณ 35,000 ร้าน กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว และในเมืองร้านค้าจะรวมตัวกันอยู่บริเวณเดียวกันเหมือนศูนย์การค้าอัญมณี โดยทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 10-15 ศูนย์การค้า
นครอิสตันบูล เป็นศูนย์การค้าสินค้าอัญมณีฯ ที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี โดยร้านค้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ภายในและรอบนอกบริเวณ Grand Bazaar ซึ่งเป็นตลาดในร่มที่เก่าแก่ที่สุด มีร้านค้ามากกว่า 4,000 ร้านค้า โดยมีร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 450 ร้านค้า เป็นแหล่งค้าส่ง/ปลีก อัญมณีจำพวกเพชร พลอย และเครื่องประดับเงิน และเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดเล็กจำนวนมาก
5.3.2 งานแสดงสินค้า (ช่องทางสำหรับการค้าส่งและการส่งออก)
การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศตุรกีและประเทศอื่น ๆ เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการแสวงหาช่องทางการตลาดและวัตถุดิบของผู้ค้าอัญมณีฯ ปัจจุบันนักธุรกิจตุรกีเข้าร่วมงานแสดงสินค้าตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เป็นงานที่ได้รับความนิยมของนักธุรกิจตุรกีมากในช่วงที่ผ่านมา โดยในแต่ละครั้งจะมีนักธุรกิจตุรกีเข้าร่วมงานฯ ในฐานะ Exhibitor ประมาณ 4-5 บริษัท และเข้าเยี่ยมชมงาน (Visitor) ประมาณ 100-150 คน
6.1 ตุรกีไม่มีข้อกำหนด กฎ ระเบียบ ที่ห้ามหรือจำกัดการนำเข้าสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ตุรกีเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง จึงยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าและส่งออกให้เหลือน้อยที่สุด ยกเว้น การซื้อขายทองคำระหว่างประเทศเท่านั้น ที่ต้องได้รับการอนุญาตจากธนาคารกลางของตุรกี
6.2 อัตราภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(HS 71) ของตุรกี มีอัตราต่ำมาก โดยเฉพาะการนำเข้าจำพวกเพชรพลอย ส่วนใหญ่ไม่มีการเรียกเก็บภาษี (Free) หรือเก็บในอัตราร้อยละ 0 สำหรับประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับตุรกี ประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับการนำเข้าอัญมณีฯ จากประเทศอื่น ๆ ที่ต้องเสียภาษี (ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ) นั้น ภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บมีอัตราต่ำเช่นเดียวกัน โดยอยู่ระหว่างไม่เสียภาษี (Free) หรือเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0-4 เท่านั้น
6.3 ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจอัญมณีฯ มีอัตราเท่ากับสินค้าทั่วไปอื่น ๆ คือ ร้อยละ 18
รัฐบาลตุรกีสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในตุรกีให้เป็นที่แพร่หลาย โดยวางเป้าหมายให้ตุรกีเป็นศูนย์กลางการผลิต และการส่งออกอัญมณีฯ ในตลาดโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจำพวกพลอยสีต่าง ๆ เหลือต่ำมากตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 6 และไม่มีข้อจำกัดที่เป็น Non-Tariff Barriers
ภาคเอกชนมีการจัดตั้งสมาคมผู้ผลิต/ส่งออก และสมาคมการค้าที่สำคัญ คือ Turkish Association of Jewelers และ Istanbul Chamber of Jewelry ซึ่งได้ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐบาลในการร่วมกันพิจารณาแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในด้านการผลิตและการส่งออก
อุตสาหกรรมอัญมณีฯ จัดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดีของประเทศ และจะเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต ซึ่งตุรกีจะเป็นตลาดส่งออกสินค้าของไทยจำพวกพลอยสีต่าง ๆ และเพชรเจียระไน โดยเฉพาะเครื่องประดับคุณภาพสูงที่ผลิตด้วยฝีมือประณีตบรรจง จะเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและสามารถแข่งขันในตลาดตุรกี ส่วนตุรกีจะเป็นคู่แข่งขันของไทยสำหรับสินค้าจำพวกอัญมณีสำเร็จรูป
9.1 เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในยุโรปและเอเชีย ได้เก่ งาน Basel Fair, งาน Vicenza Oro, งาน Hong Kong Jewelry Show รวมทั้งงาน Bangkok Gems เนื่องจากเป็นงานที่ผู้นำเข้าตุรกีเดินทางไปเยี่ยมชมและเลือกซื้อวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก
9.2 เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีฯ ในตุรกี (Istanbul Jewelry Show) ซึ่งจัดปีละ 2 ครั้ง (ประมาณเดือนมีนาคม และกันยายน)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี
ที่มา: http://www.depthai.go.th