อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของตุรกี : โอกาสของสินค้าจากประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2011 15:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวม

อุตสากรรมการผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตุรกี จากสถิติปี 2552 อุตสาหกรรมดังกล่าวทำรายได้หลักถึงประมาณร้อยละ 8 ของ GDPโดยมีมูลค่าการผลิตประมาณร้อยละ 17 ของการผลิตในอุตสาหกรรมทั้งหมดของประเทศ มีการจ้างงานประมาณร้อยละ 12 ของแรงงานในภาคผลิตทั้งหมด และทำรายได้จากการส่งออกมากถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 17 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดทุกประเภทของตุรกี จากสถิติองค์การการค้าโลก ตุรกีเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าสูงสุดอันดับ 4 ของโลก และส่งออกสินค้าสิ่งทออื่น ๆ เป็นอันดับ 8 ของโลก ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไปสหภาพยุโรปเป็นอันดับ 2 โดยมีมูลค่าส่งออก 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ(ร้อยละ 38 ของการส่งออก สิ่งทอทั้งหมดของตุรกี) และ มูลค่า 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 70 ของเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดของตุรกี)

ในปัจจุบันโครงสร้างการผลิตในสาขานี้ของตุรกีจะเน้นการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปถึงร้อยละ 76 ในขณะที่ การส่งออกสินค้าสิ่งทออื่น ๆ รวมกันมีเพียงร้อยละ 24 ซึ่งหากเทียบกับเมื่อตุรกีเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในระยะแรก ในปี ค.ศ.1980 ตุรกีมีอัตราส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปต่อสิ่งทอประเภทอื่น ๆ เพียงร้อยละ 13 ต่อ 87 เท่านั้น จะเห็นได้ว่า ในช่วงระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตุรกีได้พัฒนาอุตสาหกรรมโดยหันไปทางการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้มากกว่าเดิม

ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมหลักของตุรกี ทำให้ตุรกีนอกจากจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกแล้ว ยังเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายสำคัญอีกด้วย โดยในปี 2552 มีมูลค่าถึง 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่นำเข้า ได้แก่ เส้นใย เส้นด้าย และผ้าผืน เป็นต้น แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐ อิตาลี อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และไทย(ส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 2.8) นอกจากนี้ตุรกี ยังเป็นผู้นำเข้าเครื่องจักร ชิ้นส่วนอุปกรณ์ และอะไหล่ รวมถึงสารเคมีต่าง ๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกด้วย โดยมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวรวมเฉลี่ยในแต่ละปีมากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ธุรกิจการค้าสิ่งทอโลกมีความตื่นตัวกันอย่างมากเพื่อเตรียมรับการเปิดการค้าเสรีสิ่งทอขององค์การการค้าโลก โดยยกเลิกข้อจำกัดโควต้า ทำให้ผู้ผลิตตุรกีเริ่มเตรียมตัวเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยการลดต้นทุนการผลิต และหันไปนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากต่างประเทศมากขึ้นแทนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ จากสถิติจะพบว่า การนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบในปี 2553 มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเภทสินค้า เช่น เส้นใยประดิษฐ์ ฝ้าย และผ้าผืน เป็นต้น

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ ตุรกีใช้ระบบโควต้าในการควบคุมการนำเข้า ซึ่งเป็นการกำหนดตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป เนื่องจากตุรกีเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากร (Customs Union) กับสหภาพยุโรป แต่ต่อมาได้ยกเลิกโควต้าไปพร้อมกับการสิ้นสุดของข้อตกลงสิ่งทอ ภายใต้องค์การการค้าโลกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ตุรกียังสามารถปกป้องจนเองได้ตามบทบัญญัติขององค์การการค้าโลก โดยใช้มาตรการ Safeguard ในกรณีที่เห็นว่าการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งสูงมากผิดปกติ จนเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งสามารถจำกัดปริมาณการนำเข้าและใช้มาตรการออกใบอนุญาตนำเข้า (Import Licensing) ได้

ประเทศแรกที่ถูกใช้มาตรการ Safeguard จากตุรกี หลังตุรกียกเลิกการกำหนดโควต้า ได้แก่ จีน โดยตุรกีได้ประกาศในกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2548 กำหนดโควต้านำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจำนวน 42 รายการจากจีน โดยสินค้าดังกล่าว (เสื้อผ้าและเครื่องนุ่มห่มเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งผ้าผืน) จะต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตนำเข้า (Import Licensing) แต่ไม่ครอบคลุมถึงเส้นใยประดิษฐ์และเส้นด้ายซึ่งจีนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดตุรกี นอกจากนี้แล้ว ยังไม่ปรากฎว่า ตุรกีใช้มาตรการ Safeguard หรือ Import Licensing กับประเทศอื่นใดอีกในปัจจุบัน

ภาวะการนำเข้า ส่งออก สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ระหว่างไทย และตุรกี

การส่งออกสินค้าสิ่งทอ

ปี 2553 ไทย ส่งออกสินค้าสิ่งทอไปยังตุรกี เป็นมูลค่า 215 ล้านเหรียญสหรัฐ (มากเป็นอันดับที่ 8 และส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอ 2.8%) รองจาก สหรัฐอเมริกา (20%), ญี่ปุ่น(7%), จีน(5%), เวียดนาม(4%), อินโดนีเซีย(3.1%), อังกฤษ(3%) และเยอรมนี(2.85%) โดยไทยได้ส่งออกสินค้าสิ่งทอไปยังตุรกีเพิ่มขึ้นจากปี 2552 มูลค่า 145 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 อาทิเช่น เส้นด้ายประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และสิ่งทออื่น ๆ เป็นต้น

การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม

ปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปยังตุรกี มีปริมาณไม่มากนักเพียง 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (อันดับที่ 50 มีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 1%) ส่วนใหญ่ไทยส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปยัง สหรัฐอเมริกา(40%), ญี่ปุ่น(8%), อังกฤษ(6%), สเปน(5.5%), เยอรมนี(5%), ฝรั่งเศส(4%), เบลเยี่ยม(3%), ยูเออี(1.7%) เป็นต้น

ตารางที่ 1 สินค้าไทยส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังตุรกี

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ

รายการ                2551          2552          2553          2553 (%)
1.เส้นด้ายประดิษฐ์          75          70.6          93.6          32.5
2.เส้นใยประดิษฐ์         66.8          42.9          72.6            69
3.ผ้าผืน                25.4          24.6          41.5          68.6
4.สิ่งทออื่น ๆ             4.5             2           2.1             6
5.เครื่องนุ่งห่ม           10.1           4.5           4.3            -4

การนำเข้าสินค้าสิ่งทอและครื่องนุ่งห่มจากตุรกี

ในปี 2553 ไทยนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าไม่มากนัก อาทิ สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป, ผ้าผืน และสิ่งทออื่น ๆ เป็นมูลค่า 8.8, 7.5 และ 0.7 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

ตารางที่ 2 สินค้าไทยนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากตุรกี

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ

รายการ                2551          2552          2553          2553 (%)
1.เสื้อผ้าสำเร็จรูป         5.3             7           8.8          25.4
2.ผ้าผืน                 8.7           5.8           7.5          28.6
3.สิ่งทออื่น ๆ             0.5           0.4           0.7          69.4

ข้อเสนอแนะกิจกรรมส่งเสริมตลาด

กิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้เพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดของสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของตุรกี ได้แก่

1.สำนักงานฯ นำผู้นำเข้าตุรกีเยี่ยมชมและเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทยในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย (Bangkok International Fashion Fair - BIFF) ในประเทศไทย

2.สำนักงานฯ จัดคณะผู้นำเข้าตุรกีเฉพาะรายสำคัญเดินทางมาประเทศไทย นอกช่วงเวลางานแสดงสินค้าฯ (Incoming Mission) ในทางกลับกัน กรมส่งเสริมการส่งออก ก็สามารถจัดคณะผู้ส่งออก และผู้ผลิตของไทย (Outgoing Mission) เดินทางไปเจรจาการค้า หรือเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าใตประเทศตุรกี อาทิ งาน Home Textile — EVTEKS และ งาน Texpo Eurasia จัดเดือนพฤษภาคม ของทุกปี และงาน Istanbul Home Textile Fair เดือนกันยายน ได้อีกทางหนึ่ง

บทสรุป

จากการขยายตัวด้านอุตสากรรมสิ่งทอของตุรกี ประกอบกับการแข่งขันด้านการค้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หลังเปิดเสรีทางการค้าขององค์การการค้าโลก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา ทำให้ตุรกีมีความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในการผลิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแหล่งนำเข้าจากแถบเอเชีย ซึ่งมีราคาตำกว่าวัตถุดิบจากประเทศแถบยุโรปหรือตุรกีผลิตเอง จึงคาดได้ว่า นับจากนี้ โอกาสของสินค้าดังกล่าว เพื่อผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากไทยจะมีมากยิ่งขึ้นในตลาดตุรกี ผู้ส่งออกจึงควรศึกษาและให้ความสนใจตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดเส้นด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันได้ดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผ้าผืนนั้น จากการสอบถามผู้นำเข้าตุรกี ทราบว่า ในภาพรวม ผ้าผืนของไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน แต่ยังพอมีโอกาสเฉพาะในส่วนของผ้ายีนส์ ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตได้คุณภาพดีกว่าและราคาไม่สูงเกินไปนัก

สำหรับสินค้าสำเร็จรูป เป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก และยังมีมูลค่าส่งออกไปตุรกีค่อนข้างต่ำกว่าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลาง นอกจากนี้ส่วนแบ่งตลาดก็ยังมีความแปรผัน โดยถูกแย่งชิงจากประเทศคู่แข่งซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าได้ง่าย อย่างไร ก็ตาม การที่ตุรกีดำเนินมาตรการ Safeguard หลังการเปิดเสรีสิ่งทอ โดยกำหนดโควต้านำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน ก็ถือเป็นผลพลอยได้ในทางบวก โดยเป็นการสกัดกั้นคู่แข่งสำคัญในโลกการค้าสิ่งทอ ซึ่งอีกนัยหนึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อสินค้าสำเร็จรูปจากประเทศอื่น ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดตุรกีด้วย และในอนาคตคาดว่าตุรกีอาจใช้มาตรการ Safeguard เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของตนจากการหลั่งไหลเข้าของสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูปสูง และมีส่วนแบ่งในตลาดมากในตุรกี เช่น อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสินค้าไทยยิ่งขึ้น และสมควรที่ผู้ส่งออกไทยจะคอยให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งพิจารณาการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดตุรกีให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ