การสร้างมาตรฐานคุณภาพธุรกิจบริการสปาไทย/นวดไทย กับโอกาสขยายการส่งออกสินค้าและบริการไทยในตลาดเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2011 14:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ทึ่ผ่านมา สคร.เบอร์ลิน ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ การตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสถานประกอบการ สปาไทย/นวดไทยในประเทศเยอรมนี จำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ (๑) Lotus Balance เมือง Braunschweig (www.lotusbalance.de) และ (๒) Thaicraft-Thaimassage & Spa เมือง Vechelde (www.thaicraft.de) ซึ่งเป็นกิจกรรมนำร่องตาม "โครงการพัฒนาชุมชนคนไทยและคุณภาพมาตรฐาน และเผยแพร่สปาไทยในต่างประเทศ" ที่มีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพหลัก และกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นหน่วยงานสนับสนุน ซึ่งผลการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวของ สคร.เบอร์ลิน พร้อมข้อสังเกตุในเชิงการตลาดและข้อคิดเห็น สรุปได้ดังนี้

๑. สถานประกอบการสปา/นวดไทย ทั้ง ๒ แห่ง มีความพร้อมและมีคุณสมบัติสอดคล้องตามเงื่อนไขมาตรฐานที่คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ในทุกๆด้าน เนื่องมาจากเจ้าของกิจการ/ผู้บริหารของสถานประกอบการทั้งที่เป็นชาวเยอรมันและชาวไทย ได้ให้ความสำคัญกับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวอย่างมาก เพื่อต้องการยกระดับธุรกิจบริการของตนให้เป็นที่ยอมรับทัดเทียมกับมาตรฐานในตลาดเยอรมนี ไปพร้อมๆกับการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสปา/นวดไทยให้เข้มแข็ง ในรูปแบบของสมาคมไทยสปาในเยอรมนี

๒. การตรวจประเมินของคณะทำงานจากกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการในลักษณะเข้าไปตรวจสอบสถานที่ สัมภาษณ์/ทดสอบทักษะความเชี่ยวชาญ/ความรู้ในอาชีพของพนักงานคนไทยในสถานประกอบการ และสร้างสถานการณ์สมมติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ เพื่อตรวจสอบแนวทางปฏิบัติของพนักงาน ซึ่งเมื่อคณะทำงานพบจุดบกพร่อง ก็ได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุง และขอให้สถานประกอบการยึดถือปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

๓. กลยุทธ์ด้านการตลาดของสถานประกอบการทั้งสองแห่ง ได้มีการประชาสัมพันธ์ร้าน/บริการของตนผ่านทางเว็บไซต์ การออกบูธในงานแสดงสินค้า/บริการด้านสปาในท้องถิ่น การออกบูธเปิดบริการในงานรื่นเริงตามประเพณีของชุมชนที่ตนอาศัยและในชุมชนใกล้เคียง การเสนอขายโปรโมชั่นพิเศษ/คอร์สสปารูปแบบต่างๆ ประกอบกับทำเลที่ตั้งของร้าน และจำนวนคู่แข่งในพื้นที่มีจำนวนน้อยและยังมีคุณภาพการให้บริการที่ด้อยกว่า ทำให้ทั้งสองร้านมีดีมานด์ในแต่ละวัน จากผู้ใช้บริการ(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน) มากกว่าความสามารถของทางร้านที่จะให้บริการได้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าต่อวัน ดังนั้น การเข้ามาใช้บริการของลูกค้าจะต้องมีการนัดหมายวัน เวลาไว้ล่วงหน้า และสำหรับกลยุทธ์ด้านราคานั้น ผู้ประกอบการได้กำหนดราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ แต่มิได้ตั้งราคาให้สูงมากไปกว่าราคามาตรฐานของสถานบริการสปาไสตล์ยุโรปโดยทั่วๆไปในตลาด ดังนั้น ธุรกิจบริการสปา/นวดไทย จึงมีแนวโน้มที่จะขยายตลาดได้อีกมาก และนับเป็นธุรกิจบริการไทยที่มีศักยภาพสูงในตลาดเยอรมนีทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มที่ดีในอนาคต

๔. ขีดจำกัดประการหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการสปา/นวดไทยในเยอรมนี ได้แก่ การที่ผลิตภัณฑ์สปาจากประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักหรือนิยมใช้แพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมัน เนื่องจากการกำหนดระเบียบด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดในการนำเข้าผลิตภัณฑ์คอสเมติก ที่หมายรวมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์สปา (เช่น สบู่ น้ำมันนวด เกลืออาบน้ำ โลชั่นทาตัว ฯลฯ) การนำเข้าสินค้าเหล่านี้มาจำหน่ายในเยอรมนีได้นั้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยส่วนประกอบทุกชนิดจะต้องถูกแจ้งไว้ในตารางส่วนประกอบ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและระมัดระวังสำหรับส่วนประกอบที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้/ระคายเคืองได้หลังการใช้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สปาจากประเทศไทยที่ผู้ประกอบการนำมาใช้จึงยังไม่หลากหลาย นำเข้าผ่านผู้นำเข้าน้อยราย และสถานประกอบการหลายรายเมื่อมีการเดินทางไปประเทศไทย ใช้วิธีการซื้อผลิตภัณฑ์ไทยจากผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย เข้ามาใช้เองภายในร้าน ในการนี้ สคร.เบอร์ลิน ได้จัดส่ง CD Thailand's Exporters Directory ให้แก่ทางสมาคมสปาไทยแห่งประเทศเยอรมนี และผู้บริหารสถานประกอบการที่เข้าไปร่วมกิจกรรมการตรวจสอบมาตรฐานในครั้งนี้ด้วยแล้ว พร้อมกันนี้ได้แนะนำและเชิญชวนผู้ประกอบการธุรกิจสปาและนวดไทย/ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สปาดังกล่าว ให้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก Buyer ผ่านทาง www.thaitrade.com ด้วย

๕. สคร.เบอร์ลิน เห็นว่าการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านสปาไทยและนวดไทยในเยอรมนี สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในรูปแบบสมาคม ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานคุณภาพของสปาไทย/นวดไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดเยอรมนี จะเป็นกลยุทธ์สำคัญมากในการส่งเสริม/ขยายตลาดธุรกิจบริการไทยและผลิตภัณฑ์ไทยที่มิได้จำกัดเพียงเฉพาะผลิตภัณฑ์สปา แต่ยังส่งผลต่อไปยังผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง อาทิ ของตกแต่ง อุปกรณ์และเครื่องใช้ภายในสถานประกอบการสปา/นวดไทย ของขวัญ อาหาร/เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สมุนไพรไทย และยังรวมไปถึงการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในประเทศไทยได้ต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้ สำนักงานฯเห็นว่าการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกับสถานประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกของไทย และห้างสรรพสินค้า โรงแรม Spa/Wellness ในเยอรมนี จะเป็นเครื่องมือในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ธุรกิจบริการสปา/นวดไทย และผลิตภัณฑ์สปาของไทยได้เป็นอย่างดี

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ