ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2011 14:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

คนมักจะกล่าวว่า ค่าแรงงานในสหรัฐฯ มีอัตราสูง แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาด้วยกันแล้ว เช่น แคนาดา หรือบางประเทศในยุโรป เช่น Luxemburg, Ireland, Netherlands, Belgium, France, United Kingdom แล้ว อัตราค่าแรงงานขั้นต่ำของสหรัฐฯ ยังต่ำกว่าประเทศเหล่านั้น

พระราชบัญญัติ Fair Labor Standards Act (FLSA) เป็นกฎหมายที่สหรัฐฯ ใช้บังคับในเรื่องการจ้างแรงงานในสหรัฐฯ โดยมุ่งในเรื่อง อัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ จำนวนชั่วโมงการทำงาน การจ่ายค่าล่วงเวลาทำงาน (Overtime) และ แรงงานเด็ก

ปัจจุบัน ค่าแรงงานขั้นต่ำซึ่งกำหนดโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (US Department of Labor) มีอัตราชั่วโมงละ 7.25 เหรียญสหรัฐฯ อัตราดังกล่าวถือว่าเป็นอัตรามาตรฐานทั่วไปที่มีความเหมาะสมกับค่าครองชีพโดยรวม ทั้งนี้ สหรัฐฯ ประกอบด้วย 50 มลรัฐ ซึ่งในแต่ละมลรัฐมีสภาวะเศรษฐกิจและดัชนีค่าครองชีพที่แตกต่างกันไป บางมลรัฐมีรายได้สูง บางมลรัฐมีรายได้ต่ำ จึงเป็นผลให้รัฐบาลมลรัฐกำหนดอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำขึ้นมาใช้เอง แต่บางมลรัฐไม่มีกฏหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้น จึงเป็นผลให้ค่าแรงงานขั้นต่ำของมลรัฐในสหรัฐฯ อาจจะไม่เท่ากัน ดังนี้

1. มลรัฐที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้สูงกว่าอัตราของรัฐบาลกลาง มีจำนวน 19 แห่ง รวม กรุงวอชิงตันดีซี ได้แก่ Alaska, Arizona, California, Colorado, Connecticut, DC, Florida, Illinois, Massachusetts, Maine, Michigan, Montana, Nevada, New Mexico, Ohio, Oregon, Rhode Island, Vermont, Washington

2. มลรัฐที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำของรัฐให้เท่ากับอัตราของรัฐบาลกลาง มีจำนวน 23 มลรัฐ ได้แก่ Delaware, Hawaii, Iowa, Idaho, Indiana, Kansas, Kentucky, Maryland, Missouri, Nebraska, New Hampshire, New Jersey, New York, North Carolina, North Dakota, Oklahoma, Pennsylvania, South Dakota, Texas, Utah, Virginia, West Virginia และ Wisconsin

3. มลรัฐที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ต่ำกว่ารัฐบาลกลางได้แก่ Arkansas, Georgia, Minnesota, Wyoming (มีข้อยกเว้นในเฉพาะในบางกรณี)

4. มลรัฐที่ไม่มีกฏหมายว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ Alabama, Louisiana, Mississippi, South Carolina, Tennessee ดังนั้น มลรัฐดังกล่าวจะใช้อัตราค่าแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เป็นตัวกำหนด

5. มลรัฐ Washington มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดของประเทศ คือ 8.67 เหรียญสหรัฐฯ/ชั่วโมง หรือ 260.10 บาท/ชั่วโมง ในขณะที่รัฐ Georgia และ รัฐ Wyoming มีค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำที่สุดของประเทศ คือ 5.15 เหรียญสหรัฐฯ/ชั่วโมง หรือ 154.50 บาท/ชั่วโมง

อนึ่ง มลรัฐส่วนใหญ่กำหนดชั่วโมงการทำงานขั้นสูงไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่มี 2 มลรัฐ กำหนดสูงกว่า 40 ชั่วโมงคือ รัฐ Kansas จำนวน 46 ชั่วโมง และรัฐ Minnesota จำนวน 48 ชั่วโมง และมีบางรัฐไม่กำหนดชั่วโมงการทำงานขั้นสูงต่อสัปดาห์ เช่น Arizona, Delaware, Florida, Georgia, Idaho, Louisiana และ Mississippi เป็นต้น รายละเอียดปรากฏในตอนท้ายรายงาน ข้อคิดเห็นเสนอแนะ

1. เนื่องจากอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำถูกปรับสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะมลรัฐที่มีอัตราแรงงานขั้นต่ำที่สูงกว่าอัตราของประเทศ จะเสียเปรียบมลรัฐที่มีอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำกว่าอัตราของประเทศ จึงเป็นผลการการลงทุนอุตสาหกรรมซึ่งต้องใช้แรงงานมาก มักจะขยายตัวหรือไปยังมลรัฐที่มีอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำอยู่ระดับต่ำกว่าของประเทศ หรือไปยังมลรัฐที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมลรัฐที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของสหรัฐฯ เช่น Alabama, Mississippi, Louisiana เป็นต้น

2. การที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสหรัฐฯ มีความไม่เท่าเทียมกันทั่วประเทศ จะเป็นผลให้ แรงงานที่ได้รับค่าแรงงานต่ำดำรงชีวิตอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานการของครองชีพ ในขณะที่แรงงานที่ได้รับค่าแรงสูง สามารถดำรงชีวิตได้ดีกว่า

3. อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯ สูงขึ้น และเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการหันไปแสวงหาหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาทดแทนการผลิต ดังนั้น จึงเป็นผลดีต่อแหล่งผลิตสินค้าในต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ