เมื่อต้นปีที่ผ่านมาราคาของกุ้งและแซลมอนมีราคาแพงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในตลาดสูงแต่ปริมาณผลผลิตมีน้อย อย่างไรก็ตามปลาแซลมอนที่มาจากการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นมีผลทำให้ราคาปลาแซลมอนลดลง ในทางตรงกันข้ามปริมาณกุ้งในตลาดที่คงที่ทำให้ราคากุ้งจะยังไม่ลดลงทั้งในระยะเวลาอันใกล้ถึงปานกลาง
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ราคาปลาแซลมอนอยู่ที่ประมาณ NOK 50 (6.42 ยูโร, 9.25 เหรียญสหรัฐ) ต่อกิโลกรัม แต่ในตอนนี้ราคาได้ตกลงอยู่ที่ประมาณ NOK 25 (3.21 ยูโร, 4.62 เหรียญสหรัฐ) ในทางตรงกันข้ามตลาดขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในเดือนที่ผ่านมาซื้อกุ้งในราคาประมาณ 12 เหรียญสหรัฐ (8.33 ยูโร) ต่อกิโลกรัม สำหรับ 21-25 Black tiger shrimp (Penaeus monodon) และ Pacific white shrimp (Penaeus vannamei) ซึ่งเป็นราคาที่สูงขึ้นกว่าในปี 2008 และ 2009 และปีที่ผ่านมา
ปัจจัยที่มีผลต่อราคานี้มีพื้นฐานมาจากหลักเศรษฐศาสตร์ กฏของอุปสงค์และอุปทาน
Mr. Gorjan Nikolik, Senior Associate บริษัท Rabobank International คิดว่าราคาของปลาแซลมอนจะอยู่ในราคาที่ต่ำจนถึงปี 2012 เพราะเป็นผลมาจากการที่ประเทศชิลีสามารถป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้ในระดับปกติหลังจากปัญหาการติดเชื้อ Salmon anemia (ISA) ในปี2011
Mr. Gorjan Nikolik กล่าวว่า “เมื่อย้อนกลับไปดูการคาดการณ์เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าชิลีจะมีผลผลิตปลาแซลมอนประมาณ 180,000 เมตริกตัน จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะผลิตได้ 200,000 เมตริกตัน แต่จากการคำนวณจากผลผลิตปัจจุบันคาดว่าในปี 2011 ว่าจะสามารถผลิตได้ประมาณ 205,000 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2010 อยู่ที่ร้อยละ 57”
ประเทศชิลีเคยมีผลผลิตในระดับนี้ในปี 2001 ประเทศชิลีจับปลาแซลมอนจากทะเลแอตแลนติกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ60 ประมาณ 245,000 เมตริกตัน อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2001 กับปี 2011 แล้วจะเห็นว่าตลาดปลาแซลมอนมีการเติบโตขึ้นอย่างมากในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้อุปทานในตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ10
Mr. Gorjan Nikolik เชื่อว่าประเทศนอร์เวย์จะมีความสามารถป้อนผลผลิตปลาแซลมอนเข้าสู่ตลาดได้ในระดับสูงในปี 2012 โดยจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 8-9 และในปี 2012 เมื่อรวมผลผลิตจากทั่วโลกแล้วจะเป็นปีที่มีความเติบโตที่ระดับสูงมากคือประมาณร้อยละ13 ซึ่งจากเดิมคาดการณ์ไว้อยู่ที่ประมาณร้อยละ10
Mr. Gorjan Nikolik กล่าวว่า “อีก 2 ปีข้างหน้าเราจะมีส่วนเกินของผลผลิตในตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และจะกดดันให้ราคาปลาแซลมอนต่ำลง”
มีข้อแนะนำจากนักวิเคราะห์สินค้าอาหารทะเลว่า ราคาสินค้าในปี 2012 ควรจะอยู่ที่ประมาณ NOK 30 (3.85 ยูโร, 5.55 สหรัฐอเมริกา) แต่ Mr. Gorjan Nikolik กล่าวว่าราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ NOK 25 ซึ่งอาจจะเป็นจุดที่ราคาต่ำที่สุดและในขณะเดียวกันจะมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาที่ประเทศชิลีจะสามารถรักษาระดับในการป้อนผลผลิตเข้าตลาดได้เช่นนี้นานเท่าใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะพันธุ์/ขยายพันธุ์ลูกปลาแซลมอน ในหลายพื้นที่อาจมีการใช้พันธุ์ปลาที่มีคุณภาพต่ำลงและความหนาแน่นของพื้นที่เพาะเลี้ยง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อผลผลิตของปลาแซลมอนทั้งสิ้น
ในส่วนของการผลิตกุ้ง ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติในช่วงปีก่อน เช่นน้ำท่วมในภาคใต้ของประเทศไทย โรคระบาดในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่เหตุการณ์เหล่านี้กลับไม่ส่งผลต่อตัวเลขการนำเข้าส่งออกมากนัก
Mr. Gorjan Nikolik กล่าวว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีผลประกอบการไม่ดีเท่ากับปี 2010 แต่ก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะมีการส่งออกลดลงประมาณร้อยละ 4-5
โดยรวมประเทศจีนมีการส่งออกกุ้งที่ลดลง ประเทศเวียดนามจะมีการส่งออกกุ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแต่ปริมาณการส่งออกของเวียดนามยังไม่เท่ากับประเทศอินโดนีเชียแต่ประเทศที่ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงคือประเทศอินเดีย
Mr. Gorjan Nikolik กล่าวว่า “ประเทศอินเดียมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในการผลิตกุ้งขาว (Vannamei) ปริมาณที่ผลิตได้ก็สูงขึ้นมาก ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกที่ลดลงเล็กน้อย ทำให้ประเทศที่ส่งออกกุ้งประเทศต่างๆ ได้ผลประโยชน์จากการที่ประเทศไทยส่งออกกุ้งน้อยลง ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณความต้องการบริโภคกุ้งของตลาดโลกไม่ได้ลดลงเลยยังอยู่ในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง” ราคากุ้งที่สูงขึ้นในเดือน กรกฏาคมและสิงหาคมในปีที่ผ่านมายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังคงไว้ที่ระดับนี้ต่อไป สะท้อนถึงผลผลิตที่ยังไม่สูงขึ้น
สิ่งสำคัญที่มีผลต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้ากุ้งคือผู้บริโภคยังคงยอมจ่ายในราคาตลาด ทั้งในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาถึงแม้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในปีที่ผ่านมา
เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากุ้งและแซลมอนแล้ว ราคาแซลมอนมีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ซึ่งการที่ราคาปลาแซลมอนมีราคาสูงไม่ได้มีผลดีต่อความต้องการปลาแซลมอน ส่วนในด้านของสินค้ากุ้ง ราคากุ้งยังคงอยู่ในระดับสูงจนกว่าผู้ผลิตสามารถเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ที่มา: http://www.depthai.go.th