รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลีประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2011 11:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง ๖ เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) ของปี ๒๕๕๔ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๑,๐๓๑.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๘๗๘.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๓๓% โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ๑๑๒.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๒.๗๖%) ยางพารา ๑๐๓.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๗๖.๖๔%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๑๐๑.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๕.๘๐%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ๖๙.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๔๓.๒๒%) และผลิตภัณฑ์ยาง ๔๖.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๓๑.๔๒%)

๒. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง ๖ เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๗.๓๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ กับเดือนก่อนหน้าแล้ว การส่งออกลดลง -๒๐.๙๗% วิเคราะห์ได้ดังนี้

๒.๑ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเติบโตได้อย่างช้าๆ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อ (เดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น ๒.๗% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนและ +๐.๑% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ความยากลำบากในตลาดแรงงาน และความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงเนื่องจากรายได้ประชาชนที่ลดลง ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วเศรษฐกิจอิตาลีจะถูกผลักดันโดยความต้องการจากต่างประเทศหรือการส่งออกมากกว่า นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาพันธ์อุตสาหกรรมอิตาลี (CONFINDUSTRIA) ปรากฎว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลีเฉลี่ยในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นน้อยมาก คือ +๐.๑% และหากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ลดลงถึง ๑๖.๘%

๒.๒ การเกิดความตึงเครียดของตลาดเงินที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มสูงขึ้นของหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสถานะการเงินของบางประเทศและส่งผลกระทบต่ออิตาลีด้วย เนื่องจากอิตาลีมีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับ ๒ รองจากกรีซ (ปี ๒๕๕๓ อิตาลีมีหนี้สาธารณะเท่ากับ ๑๑๙% และกรีซเท่ากับ ๑๔๒.๘% ของ GDP) ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจในอนาคตและชะลอการใช้จ่าย

๒.๓ ผู้นำเข้าเลือกที่จะสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการและความจำเป็นในการบริโภคในระยะสั้นๆ แทนการสั่งซื้อโดยปกติที่จะสั่งซื้อในปริมาณมากและในระยะยาว ประกอบกับได้มีการนำเข้าสำหรับการขายในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า (เมษายน-พฤษภาคม) แล้ว โดยจะเห็นได้ว่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง ๒๒.๒๐% และการนำเข้ามีแนวโน้มลดลงในช่วงต่อไป (กรกฎาคม - สิงหาคม) ซึ่งเป็นช่วงหยุดพักร้อนของคนอิตาลี

๒.๔ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและภาวะเงินเฟ้อ โดยธนาคารแห่งอิตาลีได้รายงานว่าต้นทุนวัตถุดิบยังคงเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในอัตราที่ลดลงโดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจใหม่ และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปจาก ๑.๒๕% เป็น ๑.๕๐% เพื่อรักษามิให้เกิดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

๒.๕ จากรายงานของสมาพันธ์ผู้จำหน่ายปลีกแห่งอิตาลีในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ ภาวะการจำหน่ายปลีกในตลาดอิตาลีลดลง -๐.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยลดลงในสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ ผลิตภัณฑ์กระดาษและเครื่องดนตรี ส่วนสินค้าที่มีการขายปลีกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องหนัง และอุปกรณ์ห้องน้ำ

๒.๖ ISTAT ได้รายงานเบื้องต้นว่าการค้าระหว่างประเทศของอิตาลีในช่วง ๖ เดือน (มกราคมมิถุนายน) ของปี ๒๕๕๔ ปรากฎว่าอิตาลีนำเข้ามูลค่า ๙๗,๙๕๐ ล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น +๒๔.๙% และส่งออกมูลค่า ๘๐,๑๕๒ ล้านยูโร หรือ +๑๘.๗% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้อิตาลีขาดดุลการค้า -๑๗,๗๙๘ พันล้านยูโร

สินค้าที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ (๑๒.๔% ของการนำเข้าทั้งหมด) ได้แก่ สินค้าขั้นกลาง (ชิ้นส่วนและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป) ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึง +๔๓.๙% ส่วนสินค้าเพื่อบริโภค (๑๐.๑% ของการนำเข้าทั้งหมด) มีอัตราการขยายตัวน้อยกว่า คือ +๑๒.๙% สินค้าพลังงาน (๑๖.๗% ของการนำเข้าทั้งหมด)ที่มีอัตราการขยายตัว +๒๑.๘% และสินค้าทุน ( ๕.๙% ของการนำเข้าทั้งหมด ที่มีอัตราการขยายตัว +๑๖.๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๒.๗ ข้อมูลการนำเข้าอิตาลีล่าสุด (เดือนมกราคม - เมษายน ๒๕๕๔) ของ EUROSTAT ปรากฎว่าอิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น +๒๔.๗๘% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่เยอรมนี (มูลค่า ๒๙,๒๖๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑๕.๐๙%) ฝรั่งเศส (มูลค่า ๑๕,๓๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๙๐%) จีน (มูลค่า ๑๔,๓๘๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๔๒%) เนเธอร์แลนด์ (มูลค่า ๙,๖๗๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๙๙%) และสเปน (มูลค่า ๘,๓๘๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๓๒%)

ประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (+๒๑๑.๘๗% ซึ่ง ๘๗% เป็นสินค้าน้ำมันและน้ำมันเชื้อเพลิง) เกาหลีใต้ (+๖๖.๔๕% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเรือ เหล็ก และยานยนต์) และจีน (+๔๐.๖๔% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร และเครื่องจักรไฟฟ้า)

ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น (มูลค่า ๒,๓๒๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๒๐%) อินเดีย (มูลค่า ๒,๓๒๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๒๐%) เกาหลีใต้ (มูลค่า ๑,๘๘๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๙๗%) และไต้หวัน (มูลค่า ๑,๐๘๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๖%) และอินโดนีเซีย (มูลค่า ๑,๐๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๓%) โดยไทยเป็นอันดับที่ ๔๔ มูลค่า ๗๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๓๗%

๓. ทั้งนี้ วิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดังนี้

๓.๑ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๖ เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๔๑.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๖๕.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น -๓๗.๕๖% แต่หากพิจารณาเฉพาะเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นถึง +๑๑๕.๗๕% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจาก

(๑) อิตาลีมีการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อใช้ในการซ่อมแซมและเปลี่ยนใหม่ในรถยนต์เก่าและเพื่อเก็บสำรองในสต็อก

(๒) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอิตาลี (ANFIA) ได้เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจหลังจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ออกมาเมื่อปี ๒๕๕๓ หมดอายุลง นอกจากนี้มาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลยังส่งผลกระทบทางลบต่อความต้องการซื้อรถใหม่รวมทั้งภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและการจดทะเบียนรถใหม่ (๑๒.๗%) ภาษีรถยนต์ประจำปี (๙.๗%) และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง (ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่ ค่าธรรมเนียมผ่านทาง ค่าประกัน ค่าจอดรถ รวมกันแล้วเท่ากับ ๗๗.๕%) ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง ๑๖.๖% ของภาษีที่เจ้าของรถยนต์ต้องจ่าย

(๓) การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆในการผลิตรถยนต์ได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านความปลอดภัย, ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การประหยัดพลังงาน และอายุการใช้งานที่นานขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถใหม่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้คนอิตาลีไม่ซื้อรถใหม่ แต่ใช้รถมือสองแทน (ในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ มีการจดทะเบียนรถมือสองเพิ่ม +๔.๗% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

(๔) ข้อมูลจากสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์อิตาลี (ANFIA) ปรากฎว่าในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ มียอดจดทะเบียนรถจำนวน ๑,๐๑๒,๘๔๙ คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -๑๓.๑% ซึ่งเลวร้ายที่สุดนับแต่ปี ๒๕๓๙ โดยการลดลงของรถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งถือเป็นตลาดหลัก (สัดส่วนตลาด ๖๖%) -๒๒.๒๗% และรถใช้ก๊าซลดลง -๗๕% ในขณะที่ตลาดรถใช้แล้วขยายตัวดีขึ้นคือ +๔.๗% (จำนวนรถที่มีการโอน ๒,๔๐๓,๔๗๙ คัน) และรถแบบประหยัด (สัดส่วนตลาด ๕%)

(๕) สำหรับตลาดรถยนต์โดยสารในอิตาลีในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา รถยนต์ดีเซลมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น +๑๑.๕๐% (สัดส่วน ๕๕.๔๒% ของตลาด) รถยนต์น้ำมันเบนซินมียอดจำหน่ายคงที่ (๔๐% ของตลาด) โดย ๒๙.๕% เป็นรถยนต์ที่ผลิตในอิตาลี และมียอดจำหน่ายลดลง -๑๘%

(๖) ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก EUROSTAT ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายนของปี ๒๕๕๔ เฉพาะตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (พิกัด ๘๗๐๓) ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๒ (สัดส่วน ๐.๐๗%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรกได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๓๖.๕๕%) ฝรั่งเศส (๑๑.๓๙%) สเปน (๑๐.๔๙%) โปแลนด์ (๙.๔๖%) และสหราชอาณาจักร (๖.๗๙%) ประเทศคู่แข็งสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วน ๔.๒๕%) จีน (๐.๓๕%) อินเดีย (๑.๑๒%) และเกาหลีใต้ (๑.๙๐%) โดยสินค้าจากจีนและอินเดียจะเป็นรถยนต์ขนาดต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ซีซี

ทั้งนี้สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยหลักๆได้แก่ รถบรรทุก (สัดส่วน ๓๖.๖๐% ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (๒๔.๓๘%) รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (๑๕.๕๕%) และรถมอเตอร์ไซด์ (๑๐.๕๐%)

(๗) รัฐบาลอิตาลีได้ออกมาตรการเก็บภาษีอากรรถยนต์ใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งจะจัดเก็บภาษีอากรในอัตราที่สูงสำหรับรถยนต์ที่มีกำลังเกิน ๒๒๕ kw ทั้งนี้แนวโน้มในตลาดรถยนต์อิตาลี ได้แก่รถยนต์สำหรับเช่าและทำ corporate ที่กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น +๑๒% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สามารถต่อเชื่อมกับการใช้อุปกรณ์อื่นๆ ได้เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่น DVD และรถที่มีระบบใช้ได้ทั้งน้ำมันและพลังงานอื่นๆ เช่นกัน

๓.๒ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

การส่งออกในช่วง ๖ เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๒๔.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งออกมูลค่า ๒๗.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๗.๙๙% เนื่องจาก

(๑) ในช่วงฤดูร้อนคนอิตาลีนิยมออกไปพักผ่อนตามชายทะเล และหันไปบริโภคอาหารทะเลสดตามสถานที่ตากอากาศ โดยเฉพาะช่วงมื้อเย็น

(๒) จากรายงานสำรวจของสถาบันบริการด้านตลาดอาหารและการเกษตร (ISMEA) ชาวอิตาลีนิยมบริโภคอาหารทะเลสดมากกว่าอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่า แต่ให้ความเชื่อมั่นด้านสุขภาพความปลอดภัยและมีรสชาติที่ดีกว่า คนอิตาลียังมีความรู้สึกว่าอาหารทะเลแปรรูปเป็นสิ่งสังเคราะห์ไม่ธรรมชาติ และตัวเลือกยังน้อยกว่าอาหารทะเลแช่แข็ง

(๓) อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ การส่งออกเพิ่มขึ้น +๘.๙% จำนวนการบริโภคอาหารทะเลในช่วงฤดูร้อนมีมากกว่าฤดูหนาว โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างก็สต็อกอาหารทะเลไว้ เช่น ตามเมืองใหญ่ สำหรับครอบครัวซื้อก่อนออกเดินทางไปพักผ่อนฤดูร้อน และซุปเปอร์มาร์เก็ตตามเมืองชายทะเลสำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว อาหารทะเลแปรรูปซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทยไทยจำพวกทูน่ากระป๋องหรือเนื้อปลาทูน่าชิ้น คนอิตาลีจัดเป็นอาหารเบาๆ และรวดเร็ว สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันง่ายๆ ประเภทสลัด พาสต้า แซนด์วิช จึงนิยมซื้อไว้ติดบ้านและเป็นเสบียงยามเดินทาง

(๔) โดยที่คนอิตาลีนิยมเลือกบริโภคอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากมีวัฒนธรรมด้านอาหารและชอบทำอาหาร รวมทั้งออกไปทานอาหารนอกบ้าน ผู้ประกอบการไทยจึงควรพัฒนาและคิดค้นรูปแบบของอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาด เช่น การใส่ผักต่างๆ ผสมกับอาหารทะเล หรือการผสมอาหารทะเลหลากหลายชนิดรวมกัน โดยยังต้องรักษาคุณภาพของอาหารให้ได้มาตรฐาน และเป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคอิตาลี

(๕) จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแปรรูป (พิกัด ๑๖๐๔) ล่าสุดของ EUROSTAT ในช่วง ๔ เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปี ๒๕๕๔ ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ ๔ โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ สเปน (สัดส่วนการนำเข้า ๓๐.๙๖%) เยอรมัน (๗.๗๐%) เอควาดอร์ (๖.๙๕%) ไทย (๖.๗๗%) และโคลัมเบีย (๖.๔๖%)

ในส่วนของการนำเข้าจากไทย สินค้าหลักที่อิตาลีนำเข้า ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (สัดส่วน ๙๑.๕๓% ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด) โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ จีน (สัดส่วน ๔.๙๘%) และฟิลิปปินส์ (สัดส่วน ๐.๒๖%)

๓.๓ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

การส่งออกในช่วง ๖ เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๓.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๕.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๘.๙๕% เนื่องจาก

(๑) ในช่วงเดือนเมษายน- ธันวาคมของปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องจักรอุตสาหกรรมและเครื่องจักรเพื่อการเกษตร แต่ในปี ๒๕๕๔ ไม่มีนโยบายดังกล่าว

(๒) ร้อยละ ๒๕ ของการนำเข้าเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งตลาดยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง (-๔๐% เทียบจากช่วงก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ดี เครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังคงมีแนวโน้มการตลาดที่ดี แต่ยังมีราคาสูง และจำกัดอยู่ในลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

(๓) ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบรักษาความปลอดภัย (คิดเป็น ๘% ของการนำเข้า) เช่น ระบบสัญญาณเตือนภัย ประตูโรงรถ ตู้นิรภัย ประตู กระจกแบบพิเศษ มียอดการนำเข้าลดลงอย่างมาก

(๔) ผู้ประกอบการอิตาลีชะลอการขยายขนาดฐานการผลิตในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในปัจจุบันทั้งในอิตาลี และทั่วโลก การลงทุนซื้อเครื่องจักร (มูลค่าประมาณ ๑๕.๕ พันล้านยูโร) จึงเป็นเพียงการรักษาสภาพให้คงที่

(๕) อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องจักรของอิตาลีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่เศรษฐกิจอิตาลีขึ้นอยู่กับความต้องการของต่างประเทศมากกว่าในประเทศที่ยังคงประสบภาวะเงินฝืด การขอสินเชื่อจากธนาคารที่ยาก ประกอบกับดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกลางยุโรปที่ปรับสูงขึ้เป็น ๑.๕% (เดิม ๑.๒๕%) ทำให้การชำระหนี้ล่าช้าออกไป

(๖) ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคที่สูง เช่น ค่าไฟฟ้าและพลังงานที่เครื่องจักรใช้ มีผลกระทบทำให้กำไรของผู้ประกอบการลดลงและส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนใช้เครื่องจักรลดน้อยลงตามไปด้วย

(๗) จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าเครื่องจักร (พิกัด ๘๔) ในช่วง ๔ เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปี ๒๕๕๔ ของ EUROSTAT ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๓ โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วนการนำเข้า ๒๔.๒๔%) จีน (๑๒.๙๔%) เนเธอร์แลนด์ (๙.๐๖%) ฝรั่งเศส (๗.๙๙%) และสหรัฐอเมริกา (๔.๗๙%)

ในส่วนของการนำเข้าจากไทย สินค้าหลักที่นำเข้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (สัดส่วน ๖๘.๕๑% ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด)

ส่วนสินค้าหลักที่นำเข้าจากจีน ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน (กว่า ๓๐% ของการนำเข้าจากจีนทั้งหมด) และเครื่องปรับอากาศ (๑๐%) สินค้าหลักที่นำเข้าจากอินเดีย ได้แก่ เกียร์รถยนต์และชิ้นส่วน สินค้าหลักที่นำเข้าจากไต้หวัน ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เกียร์รถยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าหลักที่นำเข้าจากเกาหลีไต้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน

(๘) แนวโน้มเครื่องจักรที่ยังคงมีศักยภาพในตลาด ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (สัดส่วนตลาด ๑๑%) และเครื่องจักรที่ใช้ในการขนถ่าย (๑๗%) โดยกว่าร้อยละ ๓๐ เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในด้านพลังงาน (หัวสูบแก๊ซและปั้ม, เครื่องทำความร้อนและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ)

๔. ข้อคิดเห็น

๑. คาดว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอิตาลีในช่วงต่อไปจะยังคงอ่อนแอและเป็นไปอย่างช้าๆ อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลยังคงใช้มาตรการรัดเข็มขัดต่อไป เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ ๔๘,๐๐๐ ล้านยูโร โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลงเหลือ ๓.๙%, ๒.๗% และ ๑.๕% ของ GDP ในปี ๒๕๕๔, ปี ๒๕๕๕ และปี ๒๕๕๖ ตามลำดับ และให้ได้งบประมาณสมดุลย์ในปี ๒๕๕๗ มาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณของรัฐบาลในปี ๒๕๕๔ ที่สำคัญ ได้แก่ การตัดลดเงินสนับสนุนกระทรวงและหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ การหยุดขึ้นเงินเดือนข้าราชการและการตัดลดการจ่ายบำนาญ การเพิ่มภาษีในการทำธุรกรรมทางการค้าของธนาคารและการใช้รถยนต์ การเลือกเก็บอากรสำหรับธุรกรรมในตลาดหุ้น การปรับระบบภาษีใหม่เพื่อความสะดวกในด้านระบบงบประมาณ

๒. นอกจากนี้ ปัญหาจากการที่กรีซไม่สามารถชำระหนี้เงินกูได้ตามกำหนดเวลา ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคยุโรปซึ่งรวมถึงอิตาลีด้วย เนื่องจากอิตาลีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของกรีซและเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะที่สูงเกือบถึง ๑๒๐ % ของ GDP (ณ เดือน เมษายน ๒๕๕๔ มีหนี้สาธารณะ ๑,๘๙๐ พันล้านยูโร) เช่นเดียวกับกรีซ (หนี้สาธารณะ ๑๕๐% ของ GDP) ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้งประชาชนอิตาลี เกิดความกังวลว่าปัญหากรีซอาจลุกลามถึงอิตาลี ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอิตาลีในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคตที่อาจมีผลต่อเนื่องทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายลดลง ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติอิตาลีได้คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิตาลีในปี ๒๕๕๔ และปี ๒๕๕๕ จะเท่ากับ +๑.๐% และ ๑.๑% ของ GDP โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าภาคการนำเข้า

๓. อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิตาลีได้ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและการคลังวงเงิน ๕.๗ พันล้านยูโร สำหรับปี ๒๕๕๔ เพื่อช่วยเหลือค่าประกันสังคมให้แก่นายจ้าง และการขยายเวลาไม่เก็บภาษีเงินโบนัสซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีขึ้น

๔. คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยมายังอิตาลีในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๕๔ อาจชะลอตัวลง เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลียังคงเติบโตได้อย่างช้าๆ และอ่อนแอ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการเข้มงวดด้านงบประมาณของรัฐบาล รวมทั้งผลกระทบทางลบที่เกิดจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกรีซ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของอิตาลี โดยสินค้าที่คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ ยางพารา ปลาหมึกสดแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องแปรรูป และพลาสติก

งานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ