การระบุส่วนประกอบน้ำมันปาล์มบนฉลากสินค้าในออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2011 11:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารและของชำของออสเตรเลียใช้น้ำมันปาล์มร้อยละ 0.3 ของน้ำมันปาล์มจากทั่วโลก โดย ออสเตรเลียบริโภคน้ำมันปาล์มประมาณ 13,000 ตันต่อปี และโดยเฉลี่ยประชากรออสเตรเลียที่บริโภคน้ำมันปาล์มโดยไม่รู้ตัวประมาณ 10 กิโลกรัมต่อปี เนื่องจากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารของออสเตรเลียสามารถใส่ในส่วนประกอบอาหารว่าเป็นน้ำมันพืชแทน ถึงแม้ว่าปาล์มจะจัดเป็นผลไม้

ในปี 2553 วุฒิสมาชิก Nick Xanophon และพรรค Greens ได้เสนอกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องระบุส่วนประกอบเป็นน้ำมันปาล์ม โดยได้รับการสนับสนุนจาก WWF และ Greanpeace และอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มจากการผลิตแบบยั่งยืน (Sustainable Palm oil) ติดฉลากว่า CS (Certified Sustainable) Palm Oil

The Australian Food and Grocery Council (AFGC) ซึ่งเป็นสมาชิกของ The Round Table on Sustainable Palm Oil (RSPO) ได้ออกมาคัดค้านระเบียบดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า

          - เหตุผลหลักของการระบุส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์คือ เหตุผลทางด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของ      ผู้อุปโภคบริโภค ขณะที่ประเด็นของน้ำมันปาล์ม ถือเป็นประเด็นทางสังคม (การทำลายป่า และการอนุรักษ์    สิ่งแวดล้อม) ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตต้องเปิดเผยประเด็นเกี่ยวกับ สังคม ศีลธรรม และสิ่งแวดล้อม
  • ผู้บริโภคส่วนน้อยเท่านั้นที่ตรวจดูฉลากผลิตภัณฑ์ ดังนั้นระเบียบดังกล่าวอาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในวงกว้างอย่างที่คาดหมาย
  • การที่ผู้ผลิตติดฉลากน้ำมันปาล์มว่าเป็นน้ำมันพืชนั้นเพื่อแสดงแหล่งที่มาของการผลิตว่าไม่ได้มาจากสัตว์ เท่านั้น นอกจากนั้นเนื่องจากส่วนผสมของน้ำมันพืช (น้ำมันจากปาล์ม ถั่วเหลือง องุ่น หรือดอกทานตะวัน) มีการเปลี่ยนแปลงไปขึ้นกับต้นทุนในการผลิตแต่ละครั้ง ดังนั้น การเจาะจงปริมาณส่วนประกอบจะก่อให้เกิดปัญหาได้

AFGC ได้เสนอวิธีที่เห็นว่าเหมาะสมกว่าการออกระเบียบการติดฉลากน้ำปาล์ม ได้แก่ การทำงานร่วมกันของ ท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคธุรกิจ เพื่อปรับปรุงสถานการณ์น้ำมันปาล์มในส่วนที่จะก่อประโยชน์สูงสุด AFGC ได้รณรงค์ให้สมาชิกใช้น้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองโดย RSPO ซึ่งเห็นว่าวิธีนี้เหมาะสมกว่าการระบุส่วนประกอบน้ำมันปาล์ม สมาชิกหลักของ AFGC เช่น ยูนิลิเวอร์ และเนสต์เล่ ได้ตกลงจะปรับการผลิตเป็นการผลิตน้ำมันปาล์มแบบยั่งยืนให้สำเร็จภายในปี 2558 โดย AFGC อ้างถึงความสำเร็จของการใช้วิธีดำเนินการโดยสมัครใจซึ่งใช้ได้ผลในการรณรงค์ให้ผู้ผลิตลดปริมาณเกลือและไขมันในอาหารแปรรูป

อย่างไรก็ตาม มีผู้ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวิธีการดังกล่าวของ AFGC โดยนาย Tony Gildling ผู้ร่วมก่อตั้ง Palm Oil Action Group ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเห็นว่าการติดฉลากผลิตภัณฑ์ว่าเป็น น้ำมันปาล์มอาจส่งผลลบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จึงเป็นการปลอดภัยกว่าที่จะติดฉลากว่าเป็นน้ำมันพืช ฉะนั้นวิธีการรณรงค์ที่ AFGC เสนอจะไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากการคัดค้านต่อข้อกำหนดการติดฉลากน้ำมันปาล์มข้างต้นแล้ว AFGC ยังไม่ตกลงยอมรับต่อข้อเสนอของวุฒิสมาชิก Xenophon ในเรื่องข้อกำหนดให้ผู้ผลิตแสดงข้อมูลบนเวบไซต์ว่าสินค้าของตนมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบหรือไม่ โดย AFGC กล่าวว่าจะใช้วิธีส่งเสริมให้สมาชิกแสดงข้อมูลดังกล่าวเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อกรกฎาคม 2554 กฎหมายการระบุส่วนประกอบน้ำมันปาล์มของวุฒิสมาชิก Xenophon และพรรค Greens ได้รับการคัดค้านโดยคณะกรรมาธิการวุฒิสภา โดยมีความเห็นว่า การอ้างว่าการใช้น้ำมันปาล์มนำไปสู่การทำลายป่า การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพและคุกคามต่ออุรังอุตังไม่มีข้อสนับสนุนที่หนักแน่นเพียงพอ ซึ่งรัฐบาล มาเลเซียเป็นผู้ให้ข้อมูลคัดค้านแก่คณะกรรมาธิการวุฒิสภา นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวุฒิสภาเกรงว่ากฎหมาย ดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสัมพันธภาพทางการค้ากับรัฐบาลมาเลเซีย และอินโดนีเซียซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอาหารแปรรูปที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบที่สำคัญและยังมีประเด็นอ่อนไหวในเรื่องอื่นๆ อยู่ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวุฒิสภาเห็นว่ากฎหมายดังกล่าว ควรเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการระบุส่วนประกอบของอาหาร (Food Labeling Law) ซึ่งกำลังมีการทบทวน

ทั้งนี้ State Government จะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวภายในปีนี้ โดยคาดว่ากลุ่ม Greens จะพยายาม lobby State Government ให้สนับสนุนการระบุส่วนประกอบของน้ำมันปาล์ม ถึงแม้จะไม่ออกเป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางก็ตาม

ความคิดเห็น

การเสนอข้อกฎหมายข้างต้น แม้จะยังไม่ผ่านการพิจารณาเป็นกฎหมาย แต่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลออสเตรเลียปัจจุบันซึ่งมีพรรค Greens เป็นพรรคร่วมรัฐบาลมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับประเด็นทางสิ่งแวด-ล้อม ซึ่งนอกจาก Carbon Tax และกฎหมายการระบุส่วนประกอบของน้ำมันปาล์มนี้แล้ว ก็มีการผลักดันให้มีการเสนอ ข้อกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวกัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะมีการส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของไทย โดยผู้ส่งออกของไทยอาจต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญ ทั้งนี้ ในปัจจุบันแหล่งนำเข้าสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของออสเตรเลีย ได้แก่ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ไทยไม่ได้มีประเด็นเรื่องการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของอุรังอุตัง ซึ่งอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม การระบุส่วนประกอบน้ำมันปาล์มในฉลากสินค้าก็อาจทำให้ผู้บริโภคสับสนว่าเป็นสินค่าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่นกัน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ