เศรษฐกิจฮ่องกงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวปานกลาง เนื่องจากการส่งออกเริ่มทรงตัว แม้ว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มมากขึ้น โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาสที่เหลือของปี 2011 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5 ทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2011 ขยายตัวร้อยละ 5.5 นอกจากนี้ มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดของจีนแผ่นดินใหญ่ ปัญหาหนี้ในยุโรป และการฟื้นตัวที่ยังเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ฮ่องกงต้องปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจลง
ความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อมีมากขึ้น โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในฮ่องกงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.6 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงสุดในรอบ 35 เดือน เป็นผลจากราคาอาหารและที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น นอกจากนี้อัตราค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้นและมีแนวโน้มที่จะปรับทั้งระบบ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีของฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ดังนั้นในช่วงที่เหลืออยู่ของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อในฮ่องกงจะสูงถึงร้อยละ 6
แม้ว่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคม จะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 10.1 ในขณะที่เดือนเมษายน เติบโตเพียงร้อยละ 4.1 แต่เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส จะพบว่าการส่งออกในไตรมาสสองของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ลดลงร้อยละ 2.8
เนื่องจาก ผลกระทบเชิงลบจากกรณีแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั้งระบบของโลกยังมีผลอยู่ แม้ว่าโรงงานในญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการผลิตแล้วก็ตาม รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาตรการคุมเข้มด้านการเงินของจีน และวิกฤตการชำระหนี้ในยุโรป
เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและโอกาสในการจ้างงาน อัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งต่ำที่สุดในปีนี้
ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคฮ่องกง (Consumer Price Index: CPI) เดือนมิถุนายน เพิ่มสูงถึงร้อยละ 5.6 (สูงสุดในรอบ 35 เดือน) จากปัจจัยหลักด้านราคาอาหารและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนต่อๆ ไป เนื่องจากไม่มีสัญญาณหรือมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลให้เห็นว่าราคาอาหารและอสังหาริมทรัพย์จะลดลง
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเหรียญฮ่องกงในปัจจุบัน ลดค่าลงถึงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2009 ทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้านำเข้าทั่วไปเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13 ส่วนราคาสินค้าอาหารนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 9
ภาวะเช่นนี้ ทำให้ผู้บริโภคฮ่องกงใช้จ่ายอย่างระมัดระวังขึ้น เพราะแม้มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่ทันกับเงินเฟ้อ สินค้าอาหารยังเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในฮ่องกง โดยเฉพาะผักสด ผลไม้ เครื่องปรุง อาหารขนมขบเคี้ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากจีนเป็นหลัก แต่เนื่องจากค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ผู้ค้าฮ่องกงเริ่มมองหาแหล่งซัพพลายใหม่ๆ เพื่อทดแทน ไทยน่าจะอาศัยโอกาสนี้ในการขยายตลาดสินค้าไทยเช่นกัน
สคร. ณ เมืองฮ่องกง
ที่มา: http://www.depthai.go.th