รายงานผลการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Japan Fashion Week International Fashion Fair, July 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2011 13:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานผลการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

Japan Fashion Week International Fashion Fair, July 2011 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2554

1.ภาพรวมการจัดงาน/ข้อมูลทั่วไปของงาน

งาน Japan Fashion Week International Fashion Fair (JFW IFF) จัดขึ้นโดยบริษัท Senken Shimbun สื่อหนังสือพิมพ์ด้านแฟชั่นรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหลายหน่วยงาน อาทิเช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น, มหานครโตเกียว, Japan External Trade Organisation (JETRO), Japan Fashion Association, Japan Textiles Importers Association, Japan Textiles Exporters Association เป็นต้น โดยจัดเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ณ ศูนย์แสดงสินค้า Tokyo Big Sight ในช่วงเดือนมกราคมและกรกฎาคมของปี IFF July 2011 นี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 24

ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า (Exhibitor) มีจำนวนทั้งสิ้น 621 บริษัท 815 คูหา ในจำนวนนี้มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ 14 ประเทศรวมทั้งไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย จีน เกาหลี มองโกเลีย ฮ่องกง บังคลาเทศ ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา สเปน สวีเดน อิตาลี อังกฤษ และเดนมาร์ก ในจำนวนนี้อินเดียเป็นประเทศที่กำลังบุกตลาดสินค้าแฟชั่นในญี่ปุ่นอย่างมาก โดยลงทุนเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 70 คูหา และมีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ซึ่งเรียกความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ จุดเด่นของสินค้าของอินเดียได้แก่ ผ้าเนื้อบางที่เหมาะกับฤดูร้อนและมีลายผ้าที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีรองเท้าและกระเป๋าปักลูกปัดที่เหมาะกับแฟชันฤดูร้อน

ผู้เข้าชมงาน (Visitor) ในช่วงระยะเวลา 3 วัน มีผู้เข้าชมงาน 24,175 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็น Select shop/Special Store 8,154 ราย, ห้างสรรพสินค้า 1,314 ราย, developer 232 ราย, large volume seller 438 ราย, non-store seller 778 ราย, ผู้เข้าชมงานชาวต่างประเทศ 330 ราย

2.สถานที่จัดงานและที่ตั้งคูหาประเทศไทย

สถานที่จัดงาน Tokyo Big Sight, West Hall-1,2,4 ชั้น 1 และชั้น 4 ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าระดับสากลของญี่ปุ่น และใช้เป็นสถานที่จัดงาน IFF เรื่อยมา ทั้งนี้ ขนาดพื้นที่ที่ใช้ในการจัดงานในครั้งนี้มีพื้นที่รวม 24,600 ตารางเมตรซึ่งเล็กกว่าครั้งก่อนๆ เล็กน้อย พื้นที่จัดงานแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้ คือ

1) Asia, Sourcing ชั้น 1 และ 4

          2)  กระเป๋า             ชั้น 1
          3)  เสื้อผ้าลำลอง         ชั้น 1
          4)  เครื่องประดับ         ชั้น 1
          5)  รองเท้า             ชั้น 1
          6)  เสื้อผ้าสตรี           ชั้น 1

7) Creator's Village ชั้น 4

คูหาไทยมีจำนวน 5 คูหา (คูหากรม 1 คูหา และคูหาผู้ส่งออก 4 คูหา) จัดอยู่ในโซน Asia, Sourcing ชั้น 1 ด้านขวาของประตูเข้างานติดกับคูหาของอินเดีย การก่อสร้างคูหาไทย สคร.โตเกียวได้ดำเนินการจัดจ้างบริษัท Fujiya ก่อสร้างคูหาไทยโดยใช้โทนสีงาน BIFF&BIL 2011 เป็นแนวทาง

3. ผู้เข้าร่วมงานจากประเทศไทย

ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการมี 4 บริษัท ได้แก่

          1. Oriental Bag Co., Ltd.                        กระเป๋าถือหนัง

2. K.C. Manufacturing (Thailand) Co., Ltd. เครื่องประดับ

          3. Amity Advance Co., Ltd.                       รองเท้า
          4. Taywin & Podopedist Co., Ltd.                 รองเท้าแฟชั่น

ความพร้อมของผู้ประกอบการไทยและสินค้าที่นำไปจัดแสดง

ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการส่งออกสินค้าไปตลาดญี่ปุ่นหรือตลาดต่างประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว โดยทุกบริษัทยกเว้น K.C. Manufacturing (ซึ่งเข้าร่วมงานแสดงฯ เป็นครั้งแรก) เคยมาเข้าร่วมแสดงสินค้าใน IFF มาแล้ว 3-4 ครั้ง จึงโอกาสเรียนรู้และปรับปรุงสินค้าของตนให้เข้ากับตลาดญี่ปุ่นได้จากประสบการณ์และคำแนะนำของผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่น

4.ผลการเข้าร่วมงาน

คูหาประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ซื้อญี่ปุ่นพอสมควรโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบาย China Plus One ของญี่ปุ่นที่ต้องการหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนซึ่งมีค่าแรงสูงขึ้น ทั้งนี้ ถึงแม้ค่าแรงของไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็มีฝีมือดีจึงได้รับการตอบรับที่ดี โดยยอดสั่งซื้อภายใน 1 ปี (เฉพาะของ 2 บริษัท) 350,000 เหรียญหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านบาท อัตรา 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 29 บาท) ทั้งนี้ อีก 2 บริษัทยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับลูกค้า

ความเห็นของผู้นำเข้าญี่ปุ่นต่อสินค้าไทยที่นำมาแสดง

1) สินค้ากระเป๋าถือหนังของบริษัท Oriental Bag มีการปรับเปลี่ยนสินค้าให้เข้ากับตลาดตามคำแนะนำของลูกค้าญี่ปุ่นทำให้ได้รับความสนใจมากเนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมสินค้าเครื่องหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยผู้นำเข้าญี่ปุ่นให้ความเห็นว่าสินค้าของบริษัทตรงตามสไตล์การแต่งตัวของญี่ปุ่น ไม่ฉูดฉาด ไม่ตกยุคสมัย

2) รองเท้าปาร์ตี้ของ Amity Advance มีบริษัทออกแบบดีไซน์ทำรองเท้าซึ่งได้รับงานจากบริษัทใหญ่อีกทีหนึ่งเข้ามาติดต่อให้ผลิตแบบ OEM ให้ นอกจากนี้ Amity Advance ยังมีรองเท้าเจ้าสาวทำจากผ้าไหมที่มีตัวแทนจำหน่ายอยู่ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว และยังทำธุรกิจร่วมกับ Yumi Katsura นักออกแบบชุดเจ้าสาวชื่อดังของญี่ปุ่น

3) รองเท้าแตะหนังสำหรับบุรุษของ TAYWIN มีผู้ประกอบการที่สนใจเป็นอย่างมาก ข้อดีของ TAYWIN คือบริษัทยังมีลูกค้าชาวญี่ปุ่นอยู่ไม่มากนัก ทำให้สินค้าของบริษัทยังมีตลาดไม่กว้างมากนักในญี่ปุ่น โอกาสที่สินค้าจะซ้ำกันจึงน้อย

4) สินค้าเครื่องประดับเข็มกลัดทำจากคริสตัลชวาลอฟสกี้ของบริษัท K.C. เป็นสินค้าที่มีดีไซน์สวย คุณภาพดี ราคาไม่แพงมากนัก แต่หากบริษัทปรับปรุงดีไซน์ให้เข้ากับตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น (ชาวญี่ปุ่นนิยมเครื่องประดับขนาดเล็ก ดีไซน์น่ารัก) ก็จะดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังจัดให้มีการสัมมนาประชาสัมพันธ์ศักยภาพของไทยในฐานะศูนย์บริการ one stop ที่เชื่อมโยง Value chain ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของอาเซียน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นที่เปิดให้สะสมถิ่นกำเนิดภายในอาเซียนได้จึงทำให้สามารถใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศมารวมกันเพื่อผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มป้อนสู่ตลาดญี่ปุ่นได้ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าญี่ปุ่นและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

พร้อมกันนี้ สำนักงานฯ ได้จัดกิจกรรมพิเศษครั้งแรกในงาน IFF ครั้งนี้คือ การพบหารือและเจรจาความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สิ่งทอไทย (NFTTI) กับ Japan Apparel Fashion Industry Council (JAFIC) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น Onward, Kashiyama, Sanyo Shokai Ltd., World Co., Ltd., Renown Inc. สมาชิก JAFIC ได้ย้ำถึงความสนใจที่จะใช้ไทยเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าชั้นนำให้แก่ญี่ปุ่นภายใต้แนวคิด "China Plus One" (การลดการพึ่งพานำเข้าจากจีนเพียงประเทศเดียว โดยหันมานำเข้าจากประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพด้วย) โดยทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความร่วมมือและวางแผนจับคู่ธุรกิจได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับกำหนดจะจัดคณะผู้แทนเดินทางมาไทยเพื่อเจรจาสั่งซื้อสินค้าไทยในเดือนตุลาคมนี้ จึงเป็นโอกาสหนึ่งในการขยายธุรกิจหากผู้ผลิตไทยมีความพร้อม โอกาสขยายตลาดก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น

5.ข้อสังเกตุและข้อคิดเห็น

ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจแต่การเข้าสู่ตลาดผู้ส่งออกต้องอาศัยความอดทน เนื่องจากมาตรฐานที่สูงและความละเอียดรอบคอบของผู้นำเข้าญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ข้อดีของตลาดญี่ปุ่นคือเมื่อสามารถตกลงทำธุรกิจกันแล้วชาวญี่ปุ่นเป็นลูกค้าชั้นดี มักซื้อสินค้าต่อเนื่องและยาวนานจึงคุ้มค่ากับการลงทุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอย่างสม่ำเสมอของผู้ส่งออกและการสร้างจุดแข็งที่น่าดึงดูดให้กับสินค้าไทยจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากแนวคิด "China Plus One" ได้อย่างเต็มที่โดยเข้าครอบครองส่วนแบ่งตลาดของจีนในตลาดญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลง JTEPA และ AJCEP สำหรับสินค้าของผู้ส่งออกก่อนเข้าร่วมงานจะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะคำถามเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นคำถามที่พบได้บ่อยจากผู้นำเข้าญี่ปุ่นและเป็นจุดแข็งที่ช่วยส่งเสริมสินค้าจากประเทศไทยที่นอกเหนือจากคุณภาพและรูปลักษณ์ของสินค้า

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ