การเปิดร้านอาหารไทยในอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2007 16:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ปัจจุบันชาวอิตาลีมีความสนใจรับประทานอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ร้านอาหารไทยในอิตาลียังมีจำนวนน้อยมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้สนใจเปิดร้านอาหารไทยในอิตาลี อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านอาหารในอิตาลีอาจประสบความยุ่งยากและใช้เวลานาน หากไม่ทราบขั้นตอนและมีการเตรียมพร้อมที่ดี  สคต.มิลาน จึงขอให้ข้อมูลกฎระเบียบ และการเตรียมตัวในเบื้องต้นสำหรับนักธุรกิจไทยที่สนใจ ดังนี้
1. การสำรวจสถานที่ตั้ง
ผู้ประกอบการควรเดินทางมาสำรวจหาสถานที่ที่จะเปิดร้านอาหารก่อน เพื่อดูทำเลที่เหมาะสม รวมทั้งประมาณการค่าใช้จ่าย และที่สำคัญคือ ตรวจสอบว่าบริเวณดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่ทางการอิตาลีจะอนุญาตให้เปิดร้านอาหารได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่จะสามารถเปิดร้านอาหารได้ ทั้งนี้ เอเย่นต์สถานที่ให้เช่าจะช่วยแนะนำได้ว่าจะใช้สถานที่นั้นเพื่อธุรกิจร้านอาหารได้หรือไม่
หากเป็นการเซ้งต่อธุรกิจร้านอาหารเดิม ซึ่งมีใบอนุญาตอยู่แล้วจะช่วยให้การเปิดร้านอาหารทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
2. การขออนุญาตใช้พื้นที่เปิดร้านอาหาร
2.1 หากเป็นพื้นที่เปิดร้านอาหารแห่งใหม่ ไม่เคยได้รับอนุญาตมาก่อน ผู้ประกอบการต้องยื่นเรื่องต่อที่ที่ทำการเขตเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ดำเนินกิจการร้านอาหาร ซึ่งเขตจะจัดส่งเจ้าหน้าที่อนามัยมาตรวจสอบความเหมาะสมด้านสุขอนามัย เช่น ขนาดห้องครัว การติดตั้งปล่องระบายอากาศ หรือการบำบัดน้ำเสีย เป็นไปตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ รวมทั้งไม่อยู่ในอาคารที่ติดกับที่พักอาศัยมากเกินไป จนอาจก่อความรำคาญด้านเสียงและความพลุกพล่านต่อผู้อยู่อาศัย เหล่านี้เป็นปัจจัยพิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตให้เปิดร้านอาหารหรือไม่
2.2 หากเป็นพื้นที่ที่เคยได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจร้านอาหารได้ ผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาตใหม่ เพียงแต่ซื้อใบอนุญาตจากผู้ประกอบการเดิม ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมทำกันมาก
3. การจดทะเบียนจัดตั้งกิจการร้านอาหาร
3.1 ผู้ประกอบการขอจดทะเบียนจัดตั้งกิจการร้านอาหารได้ที่หอการค้าอิตาลี ณ เมืองที่สถานประกอบการตั้งอยู่ โดยวางเงินประกันจำนวน 10,000 ยูโร (ได้รับคืนเมื่อได้รับอนุญาต)
3.2 ในการดำเนินการขอจดทะเบียน หากผู้ประกอบมี permit of stay แล้ว จะดำเนินการด้วยตนเอง หรือจะแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการแทนก็ได้ หากใช้ตัวแทนเป็นคนต่างชาติในอิตาลี ต้องเป็นผู้มี permit of stay เช่นกัน ทั้งนี้ควรใช้ตัวแทนที่เรียกว่า Procuratore ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมาย (มีสัญชาติอิตาเลียน) เป็นผู้ดำเนินการแทน เพื่อความคล่องตัวในการเตรียมเอกสารและติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
3.3 หากเอกสารที่ใช้ประกอบการขอจดทะเบียนเป็นเป็นภาษาไทย จะต้องแปลเป็นภาษาอิตาเลียนทั้งหมด และได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย หรือสถานกงสุลไทยในอิตาลี
3.4 การจดทะเบียนใช้เวลาดำเนินการประมาณ 45 วัน หากเอกสารที่ยื่นประกอบการขอจดทะเบียนถูกต้อง/ครบถ้วน และเป็นธุรกิจที่ไม่ขัดกฎหมาย หอการค้าจะออกใบอนุญาตในการจัดตั้งธุรกิจที่เรียกว่า Nulla Osta ให้
3.5 การลงทุนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารในอิตาลี ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% ทั้งนี้หอการค้าอิตาลีมีบริการให้คำปรึกษาสำหรับนักลงทุนต่างชาติโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
3.6 สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร จะต้องมีคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับอาหาร คือ ได้รับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตร สาขาเภสัช เคมี เกษตร อาหาร การโรงแรม การอาหาร โดยต้องเป็นสถาบันที่หน่วยงานอิตาลียอมรับ มิฉะนั้น จะต้องเข้าเรียนหลักสูตรการบริหารจัดการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหอการค้าเป็นผู้จัดขึ้น ทั้งนี้ จำนวนชั่วโมงเรียนและประเภทของหลักสูตรที่ต้องเรียนขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจและพื้นฐานการศึกษา/ประสบการณ์ด้านอาหารของเจ้าของร้าน โดยเมื่อสมัครเรียน ทางหอการค้าจะแนะนำว่าจะต้องศึกษาหลักสูตรใด ทั้งนี้ หารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://corsiesami.mi.camcom.it
4. การขอวีซาเข้าประเทศและการขออนุญาตพำนักในประเทศอิตาลีสำหรับผู้ประกอบการ
4.1 ผู้ประกอบการที่เข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารจะต้องขอเข้าประเทศด้วยวีซาชนิด Autonomous (Independent) Work ซึ่งในการขอวีซาชนิดนี้ นักธุรกิจต้องนำเอกสารการจดทะเบียนธุรกิจที่หอการค้าออกให้ไปขอใบอนุญาตพำนักเป็นการชั่วคราว จากกรมตำรวจอิตาลี (Questura) แล้วจึงนำเอกสารดังกล่าวไปประกอบการขอวีซ่าชนิด Autonomous (Independent) Work จากสถานทูตอิตาลีในประเทศไทย และเมื่อเดินทางมาถึงอิตาลี ภายใน 8 วันจะต้องไปติดต่อขอทำ Permit of Stay กับกรมตำรวจอิตาลีอีกครั้ง จึงได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศอิตาลีเพื่อประกอบธุรกิจได้
4.2 ทั้งนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถขอพำนักในประเทศอิตาลีเพื่อประกอบธุรกิจด้วยการเดินทางเข้าประเทศมาก่อนด้วยวีซ่าเพื่อการศึกษา ท่องเที่ยว หรือติดต่อธุรกิจทั่วไป ได้
หากผู้ประกอบการที่สนใจประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยในอิตาลีต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสำนักธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการส่งออก หรือติดต่อโดยตรงที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน ที่อยู่ Via A. Albricci 8, 20122 Milano Tel. +39 02 89011467 Fax. +39 02 89011478 E-mail:thailand@comm2000.it
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ