ข้อมูลข้าวอินทรีย์ในอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2007 16:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิต
1.1 การเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ในอิตาลียังไม่แพร่หลายมากนัก พื้นที่เพาะปลูกข้าวอินทรีย์มีประมาณ 5,320 เอเค่อร์ คิดเป็นร้อยละ 2.4 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด (224,015 เอเคอร์) ผลิตข้าวอินทรีย์ได้ประมาณ 23,500 ตัน/ปี (ในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวทั่วไปมีประมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี) ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้ต่อเอเคอร์ต่ำกว่าข้าวทั่วไปอีกด้วย กล่าวคือ ผลผลิตข้าวอินทรีย์เฉลี่ย 4.5 ตัน/เอเค่อร์ ส่วนข้าวทั่วไปได้ผลผลิต 6.2 ตัน/เอเค่อร์
1.2 พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อการค้าเกือบทั้งหมดอยู่ในแคว้นลอมบาเดีย (Lombardia) และเพียมอนเต้ (Piemonte) ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดของอิตาลี โดยมีการเพาะปลูกอย่างหนาแน่นที่สุดบริเวณลุ่มแม่น้ำโป (Po) ในแคว้นเพียมอนเต้ ที่เมือง Vercelli, Novara และ Pavia มีผลผลิตรวมกันคิดเป็นร้อยละ 90 ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ
1.3 การเพาะปลูกมีเกณฑ์ที่ต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น การห้ามใช้ปุ๋ยเคมี และความยุ่งยากในการเตรียมพื้นที่ปลูก รวมถึงการดูแลรักษาจนถึงการเก็บเกี่ยว และมีขั้นตอนในการขอมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ซับซ้อนกว่าข้าวอินทรีย์นำเข้าข้าวอินทรีย์ที่ปลูกในอิตาลีจึงมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับข้าวอินทรีย์นำเข้า
2. การค้าข้าวอินทรีย์
2.1 มูลค่าการค้าข้าวอินทรีย์ในประเทศ มีมูลค่าประมาณ 3.7 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 1 ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด และจากการสำรวจของบริษัท Nielsen พบว่ามีข้าวอินทรีย์ที่บรรจุหีบห่อของผู้ผลิตทั้งหมดที่วางจำหน่ายในท้องตลาดไม่ถึง 40 รูปแบบ
2.2 ราคา ข้าวอินทรีย์จะมีราคาสูงกว่าข้าวปกติประมาณร้อยละ 25 และข้าวอินทรีย์ที่ผลิตในอิตาลีราคาสูงกว่าข้าวอินทรีย์นำเข้า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงนำเข้ามาจำหน่าย เพราะนอกจากมีต้นทุนต่ำกว่า ยังมีขั้นตอนในการขอมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ซับซ้อนน้อยกว่าในอิตาลี
2.3 ช่องทางการจัดจำหน่าย ส่วนใหญ่จัดจำหน่ายผ่าน modern trade ประเภท supermarket ขนาดกลาง/ใหญ่ ที่สามารถรับซื้อและกระจายสินค้าในปริมาณมากกว่าช่องทางการค้าอื่นๆ เนื่องจากมีสาขาจำนวนมาก
3. การบริโภค
3.1 อัตราการบริโภคข้าว ปัจจุบันชาวอิตาลีบริโภคข้าว 5 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งมีแนวโน้มการบริโภคลดลงมาโดยตลอด กล่าวคือ ในช่วง ปี 1920 มีการบริโภคโดยเฉลี่ย 11 กิโลกรัม/คน/ปี ปี 1940 มีการบริโภคโดยเฉลี่ย 8 กิโลกรัม/คน/ปี และปี 1980 มีการบริโภคโดยเฉลี่ย 4.5 กิโลกรัม/คน/ปี เนื่องจากคนอิตาลีนิยมทาน pasta เป็นหลัก ถึงแม้ผู้ประกอบการหลายรายจะพยายามผลักดันการบริโภคข้าว โดยทำเป็นสินค้าสำเร็จรูปพร้อมทานก็ตาม แต่การบริโภคก็เพิ่มขึ้นไม่มากนัก หรือการส่งเสริมการนำข้าวอินทรีย์มาใช้เป็นอาหารตามโรงเรียน ก็ยังมีปริมาณน้อยกว่าอาหารจำพวก pasta ธัญพืช ผลไม้ และโยเกิ์ต
3.2 ความนิยม ผู้บริโภคโดยทั่วไปไม่สนใจเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่าใดนัก โดยเฉพาะ หากสินค้านั้นไม่มีตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานที่รู้จักและน่าเชื่อถือ เนื่องจากผลิตผลทางการเกษตรทั่วไป มีการควบคุมการใช้สารเคมี ปุ๋ย หรือการตรวจสอบที่เข้มงวด ผู้บริโภคจึงมั่นใจในความปลอดภัยอยู่แล้ว การบริโภคข้าวอินทรีย์จึงมุ่งไปยังผู้บริโภคกลุ่มที่มีฐานะดี และมีความระมัดระวังในเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
4. การนำเข้า
4.1 แนวโน้มการนำเข้า การนำเข้าข้าวอินทรีย์ของอิตาลี คาดว่ามีประมาณร้อยละ 10-15 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด และมีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างดี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้จำหน่ายในอิตาลี แต่เป็นตลาดอื่นในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น โดยผู้นำเข้าข้าวอินทรีย์รายสำคัญในอิตาลีนำเข้าข้าวกล้อง มาสีและบรรจุถุง และกระจายสินค้าในยุโรป ทั้งนี้ ผู้บริโภคในยุโรปนิยมทานข้าวอินทรีย์มากขึ้น แม้จะมีราคาแพงกว่าข้าวปกติก็ตาม โดยในปี 2551 คาดว่าการนำเข้าข้าวอินทรีย์จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30
4.2 ภาษีนำเข้า ข้าวอินทรีย์เสียภาษีนำเข้าอัตราเดียวกันกับข้าวทั่วไป ดังนี้
- ข้าวกล้อง (brown rice) เสียภาษี 65 ยูโร/ตัน
- ข้าวสีแล้ว เสียภาษี 145 ยูโร/ตัน
4.3 กฎระเบียบนำเข้าการนำเข้าข้าวอินทรีย์ มีขั้นตอนและการถูกตรวจสอบมากกว่าการนำเข้าข้าวทั่วไป ทั้งในส่วนของผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าอิตาลี ต้องปฎิบัติตามระเบียบดังนี้
4.3.1 ผู้ส่งออกไทย
1) สินค้าที่ส่งออกต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ และต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจาก IFOM : International Federation of Organic Agriculture Movements (www.ifoam.org) เช่น Bioagricert (www.bioagricert.org) เป็นต้น ซึ่งอายุการรับรองที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกให้ มีระยะเวลา 1 ปี และต้องส่งเอกสารนี้ให้ผู้นำเข้านำมาแสดงต่อศุลกากรเพื่อขอออกสินค้า
2) จัดทำ Master certificate ซึ่งเป็นเอกสารแสดงความสามารถสูงสุดในการผลิตของผู้ผลิต ส่งให้ผู้นำเข้าเก็บไว้ ซึ่งกระทรวงเกษตรอิตาลี (Ministrero delle Politiche Agricole Alimentari e Forestali) สามารถเรียกตรวจสอบ เพื่อดูปริมาณการนำเข้าสินค้า ต้องไม่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่ผลิตได้ ที่แจ้งไว้ใน Master certificate
4.3.2 ผู้นำเข้า
- ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากกระทรวงเกษตรอิตาลี โดยต้องยื่นเอกสาร 2 รายการตามด้านบน ที่ขอจากผู้ส่งออก และแสดงใบอนุญาตนำเข้าแก่ศุลกากรเวลาออกสินค้า
ความเห็น
ตลาดข้าวอินทรีย์ในอิตาลียังมีขนาดเล็กมาก และการสร้างตลาดอาจทำได้ไม่ง่ายนัก ทั้งนี้ ควรเริ่มจากการให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักในตลาดเสียก่อน รวมทั้งแนะนำวิธีการใช้ข้าวไทยในการทำอาหารอิตาลี
อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่สนใจในตลาดอื่นในยุโรป การทำตลาดข้าวอินทรีย์ในประเทศเหล่านั้น น่าจะมีโอกาสที่ดีกว่า
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ