รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า ประเทศบังกลาเทศ เดือนกรกฏาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 4, 2011 13:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ภาวะเศรษฐกิจบังกลาเทศ ยังชะลอตัว เนื่องจากเป็นช่วงต้นปีงบประมาณ ก.ค.๒๐๑๑-มิ.ย.๒๐๑๒ รัฐบาลกำลังออกประกาศระเบียบใหม่ๆ และปัญหาหลายด้านยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งปัญหาการขาดแคลนพลังงานก๊าซและกระแสไฟฟ้า สถานการณ์ไฟฟ้าดับเลวลง ไฟดับมากขึ้น-4-5 ครั้งต่อวัน เนื่องจากอากาศร้อนขึ้น แม้ว่าจะมีโรงงานไฟฟ้าใหม่เริ่มดำเนินการได้บางโรงงานแล้ว

๒. รายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจของธนาคารกลาง ณ ๒๗ ก.ค.๕๔ รายงานว่า ค่าเงินตากายังอ่อนค่าลงอีกเป็นลำดับ เงินสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง จากการโอนเงินจากแรงงานต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การส่งออกเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่า และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามรายละเอียด ดังนี้

๒.๑ เงินสำรองเงินตราต่างประเทศ ณ ๒๖ก.ค.๕๔ มีจำนวน ๑๐,๓๕๑.๖๙ ล้านดอลลาร์ ลดลงต่ำสุดในรอบ ๖เดือนที่ผ่านมา และต่ำกว่าก.ค.ปีก่อน (๑๐,๗๔๔ล้าน)

๒.๒ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตากาต่อเงินUSD ณ ๒๖ ก.ค.๕๔ ๑ USD= ๗๔.๖๗๒๗ ตากา อ่อนค่าลงจาก ๒๑ มิ.ย.๕๔ (๑ USD= ๗๔.๐๑๖๗ ตากา เป็นการอ่อนค่าลงเป็นลำดับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๓ (ธ.ค.๕๓(๗๐.๗๔๙๗) และพ.ย.๕๓(๗๐.๓๔๘ตากา) และเมื่อเทียบกับ ๒๖ ก.ค..ปีก่อน ๑ USD = ๖๙.๔๐ ตากา เงินตากาอ่อนค่าลงถึงร้อยละ ๗.๖๐ เพราะความต้องการดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปรุงอาหาร ข้าว ข้าวสาลี น้ำตาลและฝ้ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งการนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับโรงงานใหม่ๆ ทำให้มีปัญหาการชำระค่าสินค้าเป็นระยะๆ และปริมาณการนำเข้าอาหารเพิ่มมากขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลรามาดอล ซึ่งเป็นเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม

๒.๓ เงินโอนจากแรงงานในต่างประเทศ เดือนมิ.ย.๕๔ มีจำนวน ๑,๐๓๘.๑๓ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น จากพ.ค.๕๔(๙๙๓.๒๕ ล้าน) และเม.ย.๕๔ (๑,๐๐๑.๙๗ ล้าน) ร้อยละ๔.๘๘ และ ๓.๖ ตามลำดับแต่ลดลงจาก มี.ค.๕๔ (๑,๑๐๒.๙๘ ล้าน)ร้อยละ ๕.๘๗ แต่ยอดรวมช่วงก.ค.๕๓.-มิ.ย.๕๔ มีมูลค่ารวม ๑๑,๖๔๙.๕๙ ล้านดอลลาร์ ยังสูงขึ้นกว่าช่ วงเดียวกันในปีก่อน(๑๐,๙๘๗.๔๐ล้าน) ร้อยละ ๖.๐๓ เนื่องจากมีการส่งออกแรงงานไปซาอุดิอารเบียเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการนำแรงงานกลับจากเหตุการณ์ประท้วงในตะวันกลางหลายหมื่นคน แต่ก็ยังมีแรงงานบังกลาเทศทำงานในต่างประเทศอีกจำนวนมาก

๒.๔ มูลค่าส่งออกของบังกลาเทศเดือนมิ.ย.๕๔ รวม ๒,๓๘๖.๐๔ ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากพ.ค.(๒,๒๙๕.๑๐ ล้าน) และเม.ย. ( ๒,๐๓๖.๑๗ ล้าน)ร้อยละ๓.๘๖ และร้อยละ๑๗.๑๘ ตามลำดับ เป็นยอดส่งออกสูงสุดในรอบปี และเพิ่มขึ้นจาก มิ.ย.ปีก่อน (๑,๗๐๑.๓๓ ล้าน)ถึงร้อยละ ๔๐.๒๕ สำหรับมูลค่าส่งออก ก.ค.๕๓-มิ.ย.๕๔ รวม ๒๒,๙๒๔.๓๘ ล้านดอลลาร์ฯ สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน(๑๖,๒๐๔.๖๕ ล้าน) เช่นกันถึงร้อยละ ๔๑.๔๗

ในขณะที่มูลค่านำเข้า เดือนพ.ค.๕๔ มีมูลค่า ๓,๒๙๑.๘ ล้านดอลลาร์ใกล้เคียงกับ เม.ย.(๓,๒๒๙.๒๐ล้าน) ซึ่งสูงสุดในรอบ12 เดือน และเพิ่มขึ้นจากพ.ค.ปีก่อน(๒,๑๒๗.๐ ล้าน) ถึงร้อยละ๕๔.๗๖ โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากนำเข้าข้าว ข้าวสาลี เครื่องจักร วัตถุดิบสิ่งทอ และน้ำมันปิโตรเลียม

๒.๕ อัตราเงินเฟ้อ เดือนมิ.ย.๕๔ = ๑๐.๑๗ ลดลงจากพ.ค.๕๔(10.20) เม.ย.๕๔ (๑๐.๖๗) และจาก มี.ค.(๑๐.๔๙) แต่ยังสูงกว่าก.พ.(๙.๐๖) และ ม.ค.๕๔( ๙.๐๔)และมิ.ย.ปีก่อน ซึ่งเท่ากับ ๘.๗๐ เท่านั้น เนื่องจากราคาข้าวลดลงจากข้าวฤดูใหม่ออกสู่ตลาด แต่ยังจัดว่าสูงสุดในรอบ ๓๒ เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันและ อาหารทั้งตลาดโลกและในประเทศซึ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย๑๒ เดือน ณ มิ.ย.๕๔ = ๘.๘๐ สูงขึ้นจาก พ.ค.๕๔(๘.๖๗) และมิ.ย.๕๓ ซึ่งเท่ากับ ๗.๓๑เท่านั้น

๓. ภาวะการค้าในประเทศ การค้าในประเทศ ยังคงค่อนข้างซบเซาต่อเนื่อง แม้ว่าใกล้เทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม ซึ่งปกติจะมีการซื้อสินค้าอาหารจำเป็นเตรียมล่วงหน้า เนื่องจากหลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมัน ก๊าซ ทำให้ราคาสินค้าจำเป็นต่างๆสูงขึ้น ฝ่ายค้านได้ประกาศประท้วงรัฐบาลยาวนานกว่าทุกครั้ง คือ ๔๘ ชั่วโมงในวันที่ ๖-๗ ก.ค.และ ๑๐-๑๑ ก.ค. จากปกติที่มักจะประท้วงเพียง ๑๒ ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าจากท่าเรือและเขตเพาะปลูกทำไม่ได้ ปริมาณลดลง ทำให้ราคาสูงขึ้นไปด้วย

๓.๑ ภาวะการค้าข้าว ราคาข้าวก.ค.๕๔ ทรงตัวและสูงขึ้นจากมิ.ย. 54 หลังจากที่ลดลงจาก พ.ค.และ เม.ย.และต้นปี.54 โดยราคาข้าวคุณภาพดีเดือนก.ค.มิ.ย.พ.ค.มีราคา ๒๓-๒๖ บาท/กก.สูงขึ้นจากมิ.ย.(๒๑-๒๕)ใกล้เคียงกับพ.ค.ซึ่งเท่ากับ ๒๒-๒๖.บาท/กก. และข้าวคุณภาพต่ำเดือนก.ค.ทรงตัวเท่ากับมิ.ย.พ.ค.ราคา= ๑๕-๑๙ บาท/กก. เนื่องจากใกล้เทศกาลถือศีลอด มีการซื้อสำรองไว้ในปริมาณมากกว่าปกติ

๓.๒ สถานการณ์ราคาน้ำตาล ค่อนข้างปั่นป่วน ราคาน้ำตาลเดือนก.ค.= ๓๘ บาท/กก.สูงขึ้นจากมิ.ย.ซึ่งเท่ากับ ๓๒-๓๔ บาท/กก.อย่างมาก ในขณะที่ราคาพ.ค.เพียง ๓๐-๓๒ บาท/กก.ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดราคาขายปลีกไม่เกิน ๓๒.๕ บาท/กก. แต่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถหาซื้อได้ เนื่องจากพ่อค้าเกรงถูกจับและอ้างว่าหากขายก็ขาดทุนเนื่องจากต้นทุนซื้อมาสูงกว่าราคาที่รบ.กำหนด จึงไม่จำหน่าย โรงงานน้ำตาลและผู้ค้าส่งต่างกล่าวหากันเองว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุ

๔. ภาวะการส่งออกสินค้าจากไทยไปบังกลาเทศ ปริมาณการส่งออกรวมเดือนมิ.ย๕๔ มีมูลค่า ๑๖๘.๘ ล้านดอลลาร์ ลดลงจากพ.ค.๕๔(๑๘๙.๒๔ล้าน) ร้อยละ ๑๐.๘ สำหรับมูลค่าช่วงมค.-มิ.ย.๕๔.= ๘๑๙.๗๔ ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน.ปีก่อน(๔๐๖.๘๘ ล้าน)ร้อยละ๑๐๑.๔๗ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ๐.๗๑ ของการส่งออกทั้งหมดของไทย จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสินค้าข้าว น้ำตาล รถยนต์และอะไหล่ ผ้าผืน ด้าย เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องปรับอากาศ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องเทศ และเครื่องสำอาง เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงธากา บังกลาเทศ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ