ประชาชนทั่วไปจับจ่ายซื้อสินค้าในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจจะได้ของปลอมมาใช้บ้างโดยไม่ตั้งใจก็ได้ หรือบางคนก็ตั้งใจซื้อของปลอมไปใช้เองก็มี โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภคซึ่งมีราคาค่อนข้างถูกกว่าสินค้าของแท้ และบางอย่างก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับของแท้เหมือนกัน เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ต่างๆ ผู้บริโภคในจีนส่วนใหญ่จะรับทราบถึงจุดนี้ โดยไม่ใส่ใจว่าของแท้หรือของปลอม จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตสินค้าปลอม (ที่ใกล้เคียงของจริงมากๆ) ออกมาจำหน่ายในตลาด ผู้ผลิตได้ปรับวิธีการเพื่อให้สินค้าปลอมขายได้ง่ายขึ้น โดยการทำให้ผู้ซื้อมีความรู้สึกได้เข้าไปซื้อสินค้าในร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นๆ (Look, Feel and Service Concept) ทำให้ปัจจุบันเกิดการปลอมไม่เฉพาะสินค้าเท่านั้น แต่ยังปลอมสถานที่ รูปแบบการให้บริการ เพื่อปลอมเข้าไปหลอกความรู้สึกของผู้ซื้อเลยทีเดียว นครคุนหมิง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลกที่ได้ทำร้าน Apple ปลอมขึ้น จำหน่ายสินค้าทุกรายการเหมือนร้าน Apple จริง แม้แต่ชุดพนักงาน รายละเอียดการจัดวางสินค้า การให้บริการ เป็นต้น ก็ได้ลอกเลียนแบบมาทั้งหมด ต้องขอยอมรับว่าเมื่อเข้าไปในร้าน Apple ปลอมดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกที่แตกต่างจากร้านจริงแต่อย่างใด ผู้ซื้อหลายคนจึงตกเป็นเหยื่อของร้าน Apple ปลอมแห่งนี้
นอกจากร้าน Apple ปลอมแล้ว สินค้าแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของฝรั่งก็ถูกปลอมในลักษณะเดียวกัน เช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ IKEA ของประเทศสวีเดน การจัดวางสินค้าของร้าน 11 Furniture (Shi Yi Jia Ju อ่านว่า สือ อี เจีย จวี้) ให้ความรู้สึกเหมือนกับการเข้าไปซื้อสินค้าในร้านเฟอร์นิเจอร์ IKEA รวมทั้งเจ้าของร้าน 11 Furniture ยังได้ทาสีอาคารและตกแต่งรูปแบบภายในร้านเป็นสีเหลืองน้ำเงิน รวมถึงการจัดวางสินค้าเช่นเดียวกับร้าน เฟอร์นิเจอร์ IKEA อีกด้วย
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมานครคุนหมิงอาจจะเห็นร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์ของต่างชาติหลายยี่ห้อ อาทิเช่น Nike, Mickey Mouse (Walt Disney’s) ฯลฯ และดูเหมือนเป็นร้านที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจริง แต่กลับปรากฎว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้มีการสำรวจแล้วพบว่า ร้านค้าบางแห่งก็เป็นร้านปลอม ซึ่งผู้ซื้อไม่สามารถทราบความแตกต่างได้ว่าร้านนี้เป็นร้านจริงหรือร้านปลอม เพราะการตกแต่งร้าน การจัดวางสินค้าเหมือนร้านจำหน่ายของจริงทีเดียว
แม้ว่าสินค้าอุปโภคและบริโภคมักจะถูกปลอม (ปลอมทั้งตัวสินค้า ปลอมยี่ห้อ ปลอมวิธีการ/บริการปลอมรูปแบบ) ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่สินค้าปลอมดังกล่าวนั้นกลับสามารถขายในตลาดได้ดีเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ผลิตสินค้าปลอมไม่ใส่ใจที่จะทำให้ถูกต้อง เนื่องจากไม่ว่าจะผลิตสินค้าอย่างไรออกไปก็จะมีผู้ซื้อ สินค้าอุปโภคอาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค (ในจีน) ไม่ชัดเจนนัก แต่ได้สร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตและเจ้าของผลิตภัณฑ์มากมายทีเดียว ส่วนสินค้าสำหรับบริโภคซึ่งก็มีการปลอมแปลงอย่างแพร่หลายไม่แพ้กัน การปลอมสินค้าประเภทนี้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สินโดยตรง รัฐบาลจีนมีการตรวจสอบเข้มงวดต่อสินค้านั้น เพราะหลายกรณีทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย บ้างถึงกับขีวิตก็มี บทเรียนดังกล่าวข้างต้นน่าจะทำให้ผู้ผลิตสินค้าของไทยที่มีความประสงค์จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องมีมาตรการป้องกันสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าไทย (สิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้า/ลิขสิทธิ์ต่างๆ เป็นต้น) มิฉะนั้นอาจจะต้องตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกับสินค้าต่างชาติหลายยี่ห้อ ที่มีการจำหน่ายในตลาดเป็นของปลอม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งอีเมล์สอบถามข้อมูลการจดทะเบียนประเภทต่างๆ ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ที่ thaitckunming@depthai.go.th
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง
ที่มา: http://www.depthai.go.th