รายงานภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2011 13:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ภาวะเศรษฐกิจกรีซยังคงถดถอยต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังกรีซได้เปิดเผยว่าในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ กรีซขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง ๑๒,๗๔๗ พันล้านยูโร (สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๑๐,๓๗๔ พันล้านยูโร และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดดุล ๙,๙๙๗ พันล้านยูโร)

ในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ กรีซจัดเก็บงบประมาณรายได้สุทธิรวมทั้งสิ้น ๒๑.๘๑๘ พันล้านยูโร ต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ ๓.๐๑๖ พันล้านยูโร และลดลง ๘.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจได้ถดถอยมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณลดลง ๖๔๔ ล้านยูโร และรายได้จากโครงการลงทุนสาธารณะเพิ่มขึ้น ๓๓๗ ล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น ๘๗.๗% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังกรีซคาดว่ารายได้ที่ขาดหายไปจะสามารถได้รับกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการด้านภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการแผนงบประมาณระยะกลางของรัฐบาล โดยมีค่าใช้จ่ายงบประมาณปกติเพิ่มขึ้น ๘.๘% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย การอุดหนุนเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ สิทธิประโยชน์ที่จ่ายให้แก่คนว่างงาน และหนี้สินของโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากนี้การใช้จ่ายขั้นต้นเพิ่มขึ้น ๔.๕% (จำนวน ๑.๑๑๑ พันล้านยูโร) ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐลดลง ๔๒.๓%

สำนักงานสถิติแห่งชาติกรีซ (ELSTAT) ได้รายงานข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจกรีซดังนี้

๑.๑ GDP ในปี ๒๕๕๔ ลดลง -๓.๕% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓

๑.๒ ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๓.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและกลับลดลงเล็กน้อย -๐.๒% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

๑.๓ การบริโภค ในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๙% เมื่อเทียบกับเดือนก่อหน้า แต่กลับลดลง -๕.๙% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

๑.๔ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ลดลง -๑๖.๕% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง -๑๐% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

๑.๕ คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๒.๒% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า

๒. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Institute for Economic and Industrial Research-IOBE) ได้รายงานข้อเสนอเพื่อให้กรีซสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโดยการใช้แผนโครงการสร้างความเจริญเติบโตระยะ ๑๐ ปี และการค่อยๆลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ต่ำกว่า ๒% ของ GDP ในปี ๒๕๕๘ โดยผ่านวิธีการจำกัดค่าใช้จ่าย การต่อสู้การหลบเลี่ยงภาษี ส่งเสริมการปฏิรูปและแปรรูปองค์กรให้มากขึ้น การออกมาตรการเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ การขจัดอุปสรรคในกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน เพิ่มตำแหน่งงานแบบถาวรสำหรับงานเลขานุการหรือผู้ช่วยรัฐมนตรีในการบริหารราชการและเร่งระบบความยุติธรรม นอกจากนี้แม้ว่ารัฐสภาได้ผ่านความเห็นชอบแผนกลางปีของรัฐบาลแล้วก็ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากการดำเนินมาตรการต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและองค์กรเกี่ยวข้องภายในประเทศ เช่น การแปรรูปวิสาหกิจและการทำประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐมูลค่า ๕๐ พันล้านยูโร ร่วมทั้งการจัดหากลไกเพื่อตัดลดหนี้สาธารณะให้ต่ำกว่า ๑๓๐% ของ GDP ภายในปี ๒๕๕๘ ทั้งนี้ IOBE ได้ประมาณการเศรษฐกิจกรีซในปี ๒๕๕๔ ว่า GDPจะหดตัวลง -๔% การว่างงานเพิ่มขึ้น +๑๖.๕% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๓%

๓. สมาพันธ์การค้าแห่งชาติกรีซ (The National Confederation of Greek Trade-ESEE) ได้เปิดเผยว่าเทศกาลลดราคาในช่วงฤดูร้อนซึ่งจะมีระยะเวลาไปจนถึง ๓๑ สิงหาคมของทุกปี โดยการลดราคาสินค้าสูงสุดถึง ๗๐% จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าในราคาที่ถูก ซึ่งบรรดาเจ้าของร้านค้าทั้งหลายในกรีซคาดหวังว่าการลดราคาดังกล่าว จะช่วยเพิ่มรายได้ที่ลดลงอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นผลจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ที่ทำให้ผู้ซื้อจำกัดการซื้อในสิ่งที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

๔. ผู้ประกอบการกว่า ๗๐% ของจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกองทุนช่วยเหลือธุรกิจSME (The Guarantee Fund for Small and Micro Enterprise-TEMPME) จำนวน ๕๗,๐๐๐ ราย กำลังประสบปัญหาในการจ่ายชำระหนี้ โดยประธานกองทุนเพื่อผู้ประกอบการและการพัฒนา (Etean) เปิดเผยว่าสภาพการณ์ดังกล่าว นอกจากจะทำให้ตัวบริษัทเองประสบปัญหา ยังจะทำให้กองทุนกว่า ๕๐๕ พันล้านยูโร อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นหนี้สูง ประธานหอการค้ากรุงเอเธนส์ (นาย Ravanis) ขอให้รัฐบาลยื่นมือเข้าช่วยเหลือโดยเร็ว เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงมากจนทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยเสนอให้ธนาคารทำการรีไฟแนนซ์หนี้ส่วนที่ยังไม่ได้รับการชำระใหม่เป็นเงินกู้ระยะยาว ๑๐ ปี ภายใต้กองทุน ETEAN และขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปหรือให้พักชำระหนี้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

๕. รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของกรีซเผยว่า การท่องเที่ยวกรีซในปี ๒๕๕๔ เริ่มมีอนาคตสดใสโดยนับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เช่น นักท่องเที่ยวรัสเซียเพิ่มขึ้น ๖๐% ยูเครน ๕๐% อิสราเอล ๓๐% และตุรกี ทำให้คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะถึง ๖๕๐,๐๐๐ คน ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากคาบสมุทรบอลข่าน นิยมเดินทางด้วยรถยนต์มาตั้งแคมป์ทางตอนเหนือของกรีซ นอกจากนี้รัฐบาลกรีซยังมีแผนปรับปรุงกระบวนการยื่นวีซ่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสนับสนุนการลงทุนสร้างโรงแรม ๕ ดาว โดยขณะนี้มีนักลงทุนอิสราเอลและรัสเซียให้ความสนใจ

๖. สมาคมการท่องเที่ยวของกรีซ (Sete) รายงานว่าในช่วงครึ่งปีแรกของ ๒๕๕๔ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนกรีซเพิ่มขึ้น ๙.๕๒% (ตัวเลขจากหน่วยตรวจคนเข้าเมืองม.ค.-มิ.ย.๕๔ มีผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งหมด ๔,๒๑๔,๒๒๐ คน) เฉพาะเดือนมิ.ย. มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ ๑,๗๘๒,๖๗๓ คน (เพิ่มขึ้น ๑๕.๘% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) สถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมากในช่วงนี้คือ เกาะ Phodes และเกาะ Kos ซึ่งมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ๓๓.๒๕% และ ๓๑.๐๗% ตามลำดับ ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมก็มีอัตราการเดินทางเข้ามากขึ้น เช่น Thessaloniki เพิ่มขึ้น ๑๑.๕๗%Herakilon บนเกาะครีต +๑๕.๐๖% และ Hania บนเกาะครีต +๗.๘๒%

๗. กระทรวงพัฒนาภูมิภาค ความสามารถในการแข่งขันและขนส่งทางเรือได้รับรองการควบรวมระหว่างบริษัท Hellenic Petroleum Petroleum SA (Elpe) และ Hellenic Petroleum Company-Petrola ทั้งนี้บริษัท Elpe ดูแล ๓ ใน ๔ ของโรงกลั่นน้ำมันของชาติคือใน Aspropyrgas, Flefsina และ Thessaloniki ซึ่งรวมกันแล้วมีสัดส่วนมากกว่า ๖๐% ของตลาด

๘. รัฐบาลกรีซมีโครงการ สนับสนุนการปรับปรุงธุรกิจเดินเรือ (shipping) เพื่อใช้เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และได้จัดหารือระหว่าง ๔ สมาคมเจ้าของเรือแห่งกรีซ โดยนาย Theodore Veniamis รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาภูมิภาค ความสามารถในการแข่งขันและการเดินเรือได้กล่าวว่าจะประกาศแผนปฏิบัติการและลู่ทางในการดำเนิการเพื่อหาทางกระตุ้นและยกระดับอุตสาหกรรมการเดินเรือของกรีซในเร็วๆนี้

๙. อุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศกรีซยังคงซบเซา โดยในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ มีปริมาณการผลิตลดลง-๑๙.๑% (หลังจากในช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง -๑๗.๕%) โดยภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอขาดทุนอย่างมากในปีที่ผ่านมาจากวิกฤตเศรษฐกิจและราคาฝ้ายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตที่ลดลงถึง ๒๐.๔% จากปี ๒๕๕๒ ในเดือนพ.ค.๒๕๕๔ จำนวนการผลิตลดลง -๒๒% แม้ว่าราคาฝ้ายจะได้ปรับตัวลดลงแล้ว และจากรายงานของสำนักสถิติแห่งชาติ (Hellenic Statistical Authority) และผลวิเคราะห์บัญชีงบดุลของ ๕๖ บริษัทสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดของกรีซ พบว่าในปี ๒๕๕๓ มีผลขาดทุนถึง ๔๗.๗ ล้านยูโร นอกจากนี้บริษัทสิ่งทอ ๓๑ บริษัท ที่มีผลประกอบการสูงที่สุด (คิดเป็น ๕๖.๔% ของบริษัททั้งหมด) มีผลกำไร ๒๑.๙ ล้านยูโร ขณะที่ ๒๔ แห่ง (๔๓.๖% ของบริษัททั้งหมด) ประสบภาวะขาดทุนจำนวน ๖๖.๓ ล้าน ยูโร

๑๐. รมว.กระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศยูโรโซนได้เห็นชอบการจ่ายเงินกู้งวดที่ ๕ จำนวน ๑๒ พันล้านยูโร (จากวงเงินกู้ทั้งหมด ๑๑๐ พันล้านยูโร) ให้แก่กรีซเมื่อ ๑๕ ก.ค. ๕๔ โดยได้แสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามนโยบายและข้อกำหนดต่างๆ ที่รัฐบาลกรีซได้ทำไว้กับคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปและ IMF โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณและการแปรรูปวิสาหกิจ โดยได้ขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมถึงการออกพันธบัตรของธนาคารหรือผู้ให้ประกันและเจ้าหนี้รายอื่นๆ (private sector involvement) เพื่อให้เพียงพอถึงความจำเป็นด้านการเงินของรัฐบาลกรีซจนถึงปี ๒๕๕๗ ทั้งนี้ ตัวชี้วัดหลักๆ ของโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือของกลุ่มประเทศยูโรโซนในครั้งนี้ยังคงเน้นให้กรีซดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณ รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป

อย่างไรก็ดี การแปลงสภาพหนี้จากพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาลเป็นพันธบัตรของธนาคารหรือเจ้าหนี้รายอื่นๆดังกล่าว จะทำให้ผู้ถือพันธบัตรเงินกู้เดิมของรัฐบาลขาดทุนประมาณ ๒๑% (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าพันธบัตรเงินกู้รวม ๓๗ พันล้านยูโร) โดยรมว.กระทรวงการคลังกรีซได้เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญอันดับแรก คือ การปฏิรูประบบภาษีโดยเร็วเพื่อต่อสู้กับการหลบเลี่ยงภาษีและเร่งการเพิ่มรายได้ที่ขาดหายไป อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (The Institute fo International Finance) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าภาระหนี้ของพันธบัตรเงินกู้ดังกล่าวของกรีซจะสามารถกลับเข้าสู่ตลาดทุนได้ใน ๒ ปีข้างหน้าหากการแปลงสภาพหนี้พันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาลและการปฏิรูปงบประมาณได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่

๑๑. รมว.กระทรวงพัฒนา (นาย Mihalis Chryssohoidis) ประกาศเพิ่มเงินสนับสนุนจำนวน ๒๐๐ ล้านยูโร เพื่อกอบกู้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกรีซยังคงเผชิญอยู่ โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มปฏบัติการในเดือนก.ย. โดยให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่ดำเนินการมาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี ในสาขาการผลิต, การก่อสร้างที่พักอาศัย, Green Economy, การบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และการขนส่ง

โครงการดังกล่าวยังรวมถึงธุรกิจที่งบดุลขาดทุน แต่มีการจ้างลูกจ้างที่จ่ายภาษีและประกันสังคม และภายใน ๓ ปีที่ผ่านมา เคยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐมากกว่า ๒๐๐,๐๐ ยูโร ทั้งนี้รัฐบาลคาดว่าจะมีธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวประมาณ ๒๐,๐๐๐ราย

๑๒. ผลการจัยของ ALBA Graduate Business School เรื่องแนวโน้มตลาดแรงงานในกรีซปรากฎว่าในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๕๔ มีผู้ประกอบการคิดเป็น ๖๓.๒% ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างมาก และร้อยละ ๖.๔ อยู่ระหว่างการตัดสินใจย้ายบริษัทออกไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ

ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มว่าเป็นที่สนใจของแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจบริการ เภสัชกรรม การก่อสร้างและโรงงาน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการจ้างงานลดลงได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากมีจำนวนคนงานที่ขอเกษียณอายุโดยสมัครใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ดัชนีแนวโน้มตลาดแรงงานในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๕๔ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (ต่ำกว่าระดับ ๑๐๐ จุด ติดต่อกันเป็นครั้งที่ ๖ ของรอบระยะ ๖ เดือน) แต่ค่อนข้างคงที่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า

ผลการสำรวจดังที่กล่าวมาจากผู้ประกอบการจำนวน ๒๐๘ บริษัทที่ให้ความร่วมมือ แบ่งเป็นผู้ประกอบการกรีซ ๕๑.๑% และอีก ๔๘.๙% เป็นบริษัทต่างชาติ (๑๘.๓% เป็นกลุ่มโรงงาน ๑๙.๗% เป็นผู้ประกอบการธุรกิจบริการ และ ๒๐.๖% เป็นผู้ประกอบการค้า)

๑๓.ผลการประชุมร่วมระหว่างกลุ่มนักธุรกิจจำนวน ๓๐ รายของกรีซและเยอรมันที่จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน โดยกลุ่มธุรกิจของเยอรมันสนใจที่จะลงทุนในกรีซในด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนทางตรงในสาขาพลังงาน, ท่องเที่ยว, การจัดการขยะ, การสื่อสารและสาธารณูปโภค การกระตุ้นสภาพคล่องและการจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SME)

๑๔.รายงานของ UNCTAD's World Investment Report ประจำปี ๒๕๕๔ เปิดเผยว่ากรีซจำเป็นจะต้องกำหนดกรอบและกฎระเบียบของการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ในปี ๒๕๕๓ กรีซมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ( in flow direct investment ) มูลค่ารวม ๒,๑๘๘ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ๑๐% จากปี ๒๕๕๒ ที่มีมูลค่า ๒,๔๓๖ พันล้านยูโร ในขณะที่กรีซมีการออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ (FDI outflow) มูลค่า ๑,๒๖๙ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ๓๘%จากปี ๒๕๕๒ ที่มีมูลค่า ๒,๐๕๕ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในด้านผลการปฏิบัติงาน กรีซอยู่ในอันดับที่ ๑๑๙ (อันดับที่ ๑๒๒ ในปี ๒๕๕๒ และอันดับที่ ๑๒๐ ในปี ๒๕๕๑) จากทั้งหมด ๑๔๑ ประเทศ และในด้านความสามารถในการดึงดูดนักลงทุน กรีซอยู่ในอันดับที่ ๔๓ (ปี ๒๕๕๑ อยู่อันดับที่ ๔๘) ทั้งนี้เป็นผลจากการที่กรีซต้องประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมาก และการให้กู้ยืมที่จำกัดของธนาคาร โดยมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือการส่งออก ในขณะที่คาดหวังว่าโครงการแปรรูปกิจการต่างๆ จะสามารถดึงดูดเงินทุนก้อนใหญ่เข้ามาในประเทศได้ในกลุ่มของพลังงาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยเน้นการดึงดูดการลงทุนทางตรง (FDI) ในด้านโรงงานและการผลิต

อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการก่อนเพื่อดึงดูดการเข้ามาลงทุนในกรีซ ได้แก่ ระบบภาษีที่คงที่ และกรอบข้อบังคับต่างๆ การมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือของภาคสังคม

๑๕. สมาคมธนาคารแห่งชาติเฮเลนนิค (The Hellenic Bank Association) ได้เปิดเผยว่าธนาคารของกรีซที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศยังคงมีความแข็งแกร่งแม้ว่าจะถูกกระทบโดยวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศโดยจะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ และแถบบอลข่าน แม้ว่าจะมีบางธนาคารที่ประกาศลดจำนวนสาขาในต่างประเทศ หรือการลดการร่วมทุนในธนาคารต่างประเทศเพื่อนำไปใช้ในการกระตุ้นสภาพคล่องก็ตาม จากรายงานพบว่า มีธนาคารของกรีซตั้งอยู่ใน ๑๖ ประเทศ จำนวน ๔๘ สาขา (เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มีธนาคารในต่างประเทศ ๑๕ ประเทศ จำนวน ๔๕ สาขา) เช่น โรมาเนีย บัลแกเรีย เซอร์เบีย และอัลบาเนีย

ทั้งนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารของกรีซส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนากิจกรรมในแถบบอลข่านเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการดำเนินธุรกิจทั้งในภูมิภาค และเพื่อสนับสนุนการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของกรีซซึ่งอยู่ในภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจ

๑๖. รัฐบาลกรีซได้ออกคำสั่งฉุกเฉินเพิ่มการเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (withholding tax) เริ่มใช้ตั้งแต่ ก.ค. ๕๔ นี้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มภาระภาษีให้แก่เจ้าของธุรกิจที่จะหักลดจากค่าจ้างของลูกจ้าง และใช้บังคับรวมถึงหน่วยงานภาครัฐก่อนหน้านี้ ซึ่งพนักงานต้องถูกลดเงินเดือน และงดเงินโบนัสด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชน พนักงานจะถูกหักภาษีเพิ่มขึ้นไปจนถึง ๕๐ ยูโร โดยจะขึ้นอยู่กับรายได้ที่ได้รับ และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนงานที่ไม่ต้องเสียภาษีรายได้ (ค่าจ้างต่อเดือนต่ำกว่า ๗๐๐ ยูโร) ก็จะต้องเสียภาษีประมาณ ๑๔ ยูโรต่อเดือน ส่วนคนงานที่มีรายได้มากกว่า ๑,๐๐๐ ยูโรต่อเดือนขึ้นไปก็จะถูกหักภาษีเพิ่มขึ้นถึง ๔๐-๕๐ ยูโร

ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นมาตรการชั่วคราว และจะถูกยกเลิกภายในปี ๒๕๕๘ หรือก่อนหน้านั้นหากรัฐเก็บรายได้เพียงพอ โดยรัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากมาตรการนี้ได้ถึง ๑.๓ พันล้านยูโรภายในสิ้นปี ๒๕๕๔ เพื่อนำไปสนับสนุนให้แก่องค์กรด้านการจ้างงาน และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่คนว่างงาน

นอกจากนี้ คนงานที่เป็นเจ้าของกิจการเองก็ต้องมีหน้าที่จ่ายภาษีให้กับจำนวนคนว่างงานด้วย โดยจะต้องจ่ายเพิ่ม ๑๐ ยูโรเพื่อเข้ากองทุนประกันสังคม

ทั้งนี้กรีซมีคนงานในตลาดแรงงานจำนวนทั้งสิ้น ๔.๓ ล้านคน แยกเป็น ๑ ล้านคนอยู่ในภาคราชการ, ๒ ล้านคนอยู่ในภาคเอกชน และ ๑.๓ ล้านคน เป็นคนงานที่เป็นเจ้าของกิจการเอง (self-employed)

ตารางแสดงอัตราภาษีรายได้หัก ณ ที่จ่าย

๑.ภาคเอกชน
เงินเดือน                         ภาษีปัจจุบัน                      ภาษีใหม่ (ตั้งแต่ 1 ก.ค. ๕๔)
๕๗๑.๔๓                            ๐                                 ๐
๖๔๒.๘๖                            ๐                                 ๗.๐๔
๘๕๗.๑๔                            ๐                                 ๒๘.๑๔
๙๒๘.๕๗                            ๑๒.๖๖                             ๔๐.๘๑
๑,๐๐๐                             ๒๕.๓๓                             ๕๓.๔๗
๑,๑๔๗.๘๖                          ๕๐.๖๖                             ๗๘.๘๐
๑,๗๘๕.๗๑                          ๒๐๖.๘๕                            ๒๓๔.๙๙
๒,๑๔๒.๘๖                          ๓๑๕.๒๐                            ๓๔๓.๓๔
๒,๘๕๗.๑๔                          ๕๖๒.๘๖                            ๕๙๑
๓,๕๗๑.๔๓                          ๘๓๐.๒๑                            ๘๕๘.๓๖


๒. ภาครัฐบาล
เงินเดือน                         ภาษีปัจจุบัน                      ภาษีใหม่ (ตั้งแต่ 1 ก.ค. ๕๔)
๖๖๖.๖๗                            ๐                                 ๐
๗๕๐                               ๐                                 ๘.๒๑
๘๓๓                               ๐                                 ๑๖.๔๒
๑,๐๐๐                             ๐                                 ๓๒.๘๓
๑,๒๕๐                             ๔๔.๓๓                             ๗๗.๑๖
๑,๖๖๖.๖๗                          ๑๓๗.๙๐                            ๑๗๐.๗๓
๒,๐๘๓.๓๘                          ๒๔๑.๓๓                            ๒๗๔.๑๖
๒,๕๐๐                             ๓๖๗.๗๓                            ๔๐๐.๕๗
๓,๓๓๓                             ๖๕๖.๖๗                            ๖๘๙.๕๐
๔,๑๖๖.๖๗                          ๙๖๘                               ๑,๐๐๑.๔๒

๑๗. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของกรีซ

       รายการ              มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)           อัตราขยายตัว (ฑ%)
                      ปี๒๕๕๓      ปี ๒๕๕๓       ปี๒๕๕๔       ปี๕๓/๕๒       ปี๕๔/๕๓

(ม.ค. - เม.ย.) (ม.ค.- เม.ย.) (ม.ค.-เม.ย.) (ม.ค.-เม.ย.)

ดุลการค้า           -๒๙,๘๕๒       -๑๖,๓๑๐       -๙,๓๕๖       +๗.๕๖%       -๔๒.๖๔%
(Trade balance)
การส่งออก           ๒๑,๔๒๒         ๖,๕๓๓        ๘,๗๑๓       +๗.๙๘%       +๓๓.๓๖%
(Export)
การนำเข้า           ๖๓,๒๖๒        ๒๒,๘๔๓       ๑๘,๐๖๙       +๗.๖๘%       -๒๐.๙๐%
(Import)

หมายเหตุ ข้อมูลล่าสุดจาก World Trade Atlas

๑๗.๑ ในช่วง ๔ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ กรีซมีมูลค่าการค้ารวม ๒๖,๗๘๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง -๘.๘๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม ๒๙,๓๗๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกมูลค่า ๘,๗๑๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า ๑๘,๐๖๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้กรีซขาดดุล -๙,๓๕๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๑๗.๒ การส่งออก กรีซส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปเกือบ ๕๐% โดยมีประเทศที่กรีซส่งออกสำคัญ ๑๐ อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี (๑๑.๒๗%) เยอรมัน (สัดส่วน ๘.๕๘%) ตุรกี (๗.๑๐%) ไซปรัส (๖.๖๒%) บัลแกเรีย (๕.๖๘%) สหราชอาณาจักร (๕.๑๑%) สหรัฐอเมริกา (๔.๕๔%) ฝรั่งเศส(๓.๕๖%) โรมาเนีย(๓.๐๗%) และสิงคโปร์ (๒.๕๙%)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่และน้ำมัน อะลูมิเนียม เหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้า พลาสติกอาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องจักร และทองแดง

๑๗.๓ การนำเข้า กรีซยังคงนำเข้าสินค้าจากประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยมีประเทศที่กรีซนำเข้าสินค้า ๑๐ อันดับสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๑๑.๖๕%) อิตาลี (๑๐.๐๖%) รัสเซีย (๗.๗๒%) จีน(๖.๕๘%) เนเธอร์แลนด์(๕.๘๐%) ฝรั่งเศส (๕.๗๘%) เบลเยี่ยม(๔.๐๒%) สเปน (๓.๕๒%) สหราชอาณาจักร (๓.๐๙%) และเกาหลีใต้(๒.๙๑%)

เป็นที่น่าสังเกตว่ากรีซนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ ๔ (ไทยอันดับที่ ๓๖ สัดส่วน ๐.๓๗) และมีประเทศคู่แข่งของไทยที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย (อันดับที่ ๒๐ สัดส่วน ๑.๒๑) ไต้หวัน (อันดับที่ ๓๘ สัดส่วน ๐.๓๖) อินโดนีเซีย (อันดับที่ ๔๗ สัดส่วน ๐.๒๔) และมาเลเซีย (อันดับที่ ๔๘ สัดส่วน ๐.๒๓)

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่และน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักร เรือ ยานพาหนะ พลาสติก และเหล็ก

๑๘. การค้าไทย-กรีซ

๑๘.๑ ในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (ม.ค.- มิ.ย.) ไทยส่งออกสินค้าไปกรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๙๒.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -๒๔.๒๑% ซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๒๑.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ เม็ดพลาสติกมูลค่า ๑๐.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๔๔๑.๑๑%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมูลค่า ๑๐.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๔๑.๘๗%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบมูลค่า ๙.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๓๔.๙๕%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ๕.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๔๑.๒๕%) รถยนต์อุปกรณ์และและส่วนประกอบมูลค่า ๕.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๘๗.๕๗%)

สินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และและส่วนประกอบ (-๘๗.๕๗%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-๕๔.๘๕%) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (-๕๑.๗๕%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-๔๑.๘๗%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-๒๐.๑๐%) และของเล่น (-๑๔.๙๓%)

สินค้าที่การส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (+๑,๙๒๗,๖๐๐%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+๑,๑๑๕.๒๑%) เม็ดพลาสติก (+๔๔๑.๑๑%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+๑๑๕.๗๒%) และยางพารา (+๑๐๘.๖๐%)

๑๘.๒ ในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (ม.ค. - มิ.ย.) ไทยนำเข้าสินค้าจากกรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๒๑.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า ๑๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น +๒๕.๖๙%

สินค้านำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ มูลค่า ๑๓.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๖๐.๐๒%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบมูลค่า ๒.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๔๒.๓๒%) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า ๑.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๖๖.๐๓%) แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่มูลค่า ๐.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๓๗๘.๕๘%) และเคมีภัณฑ์มูลค่า ๐.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๑๒.๑๓%)

สินค้านำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-๗๐.๔๙%) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (-๕๐.๖๘%) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ (-๔๙.๓๑%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-๔๒.๓๒%) และเยื่อกระดาษ และเศษกระดาษ (-๓๕.๑๓%)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ