รายงานการเยี่ยมพบ/ประชุมร่วมกับผู้นำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 10, 2011 13:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท/ผู้นำเข้า

๑.๑ ชื่อบริษัท/ผู้นำเข้า สมาคมไทยสปาแห่งประเทศเยอรมนี

(Thai Spa Vereinigung Deutschland E.V.)

          ๑.๒ ผู้ติดต่อ            คุณมัณฑนา เพ็นส์เลอร์ ประธานสมาคม

คุณมิชาเอล เพ็นส์เลอร์ ผู้บริหารสมาคม

          ๑.๓ ที่อยู่              Schulgraben 1, 34593 Knuellwald

๑.๔ หมายเลขโทรศัพท์ +49(0)174 4944 174

๑.๕ หมายเลขโทรสาร -

          ๑.๖ อีเมล์             info@thai-spa-verband.de
          ๑.๗ เวบไซด์           www.thai-spa-verband.de

๒.  สรุปผลการประชุม

สคร.แฟรงก์เฟิร์ตได้เข้าพบสมาคมไทยสปาแห่งเยอรมนี (Thai Spa Vereinigung Deutschland E.V.) ในโอกาสที่สมาคมฯ ได้มาร่วมออกร้านในงานเทศกาลไทย ณ เมืองบาดฮัมบวร์ก เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสของธุรกิจนวดไทย/สปาไทย ในเยอรมนี แนวทางการส่งเสริม ความช่วยเหลือจากภาครัฐไทย และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ได้ข้อสรุป ดังนี้

๒.๑ ภูมิหลัง

๒.๑.๑ สมาคมฯ เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคล/เจ้าของสถานประกอบการนวดไทย/สปาไทย เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพอาชีพนวด/สปาไทยให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีใหักับธุรกิจนวด/สปาไทย สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

๒.๑.๒ ส่วนหนึ่งของการจัดตั้งสมาคมฯ เป็นผลพวงมาจากการพบปะหารือของกลุ่มผู้ประกอบการนวด/สปาไทยกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขในโครงการอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของชาวไทยเมื่อเดือนมีนาคม ๒๐๐๙ ณ วัดธรรมวิหาร เมืองฮันโนเวอร์ เยอรมนี และได้มีมติว่า ควรมีการจัดตั้งสมาคมเพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานและได้แต่งตั้งให้คุณมัณฑนา เพ็นสเลอร์ และคุณสุคนธา ไบร์เยอร์ เป็นผู้ประสานงาน และต่อมาคุณมัณฑนาฯ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสมาคมฯ

๒.๑.๓ สมาคมฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยได้รับการสนับสนุนจากคุณมิชาเอล เพ็นส์เลอร์ในการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมายเยอรมนี ภายใต้แนวคิด "สามัคคี บนเส้นทางที่ถูกต้อง" และได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนับสนุนสมาชิกโดยไม่หวังผลกำไร

๒.๒ จุดประสงค์

๒.๒.๑ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการนวด/สปาไทย และสามารถสนองตอบแนวนโยบายของรัฐบาล โดยการประสานงานกับสหพันธ์ สมาคม หรือหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่มีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกัน และช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกให้ได้ทราบในสิทธิของตนที่พึงได้ต่อหน่วยงานราชการ สถาบันทางกฎหมายและสมาคมต่างๆ

๒.๒.๒ สนับสนุนให้มีการพบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนสมาชิก มีการจัดกิจกรรมสาธารณะ อันจะเป็นผลให้เกิดการรักและถนอมสุขภาพ สร้าง/สนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและมีแนวคิดที่ดีต่อการผ่อนคลายแบบไทยๆ

๒.๒.๓ ปรับปรุงระบบการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการประกอบธุรกิจให้เป็นหนึ่งเดียว และมีการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานแก่สมาชิก

๒.๒.๔ ให้ความช่วยเหลือสมาชิกด้านการศึกษา พัฒนาและยกระดับความรู้ศักยภาพทางวิชาชีพให้ดียิ่งขึ้น โดยการวางแผน ติดต่อประสานงานระหว่างผู้เรียนและสถาบันการสอนที่ได้รับการยอมรับจากสมาคม

๒.๒.๕ ต่อต้านสถานประกอบการที่ทำให้เสียภาพพจน์ของนวด/สปาไทย และช่วยสร้างให้เกิดแนวคิดที่ดีต่อวิชาชีพนวด/สปาไทย

๒.๓ สมาชิก

เมื่อเริ่มจัดตั้งสมาคมปี ๒๐๐๙ มีจำนวนสมาชิก ๙ คน แต่ปัจจุบันมีจำนวน ๖๐ คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพนวด/สปาไทยอิสระ เจ้าของสถานประกอบการ ผู้นำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ สปาไทย โดยสมาชิกจะต้องเสียค่าสมัครและบำรุงรายปี ดังนี้

  • ผู้สนใจทั่วไป ๕๐ ยูโรต่อปี
  • พนักงานนวด/สปาไทย ๙๐ ยูโรต่อปี
  • สถานประกอบการ ๑๘๐ ยูโรต่อปี ซึ่งสมาคมฯ เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นบุคคลหรือสถานประกอบการที่มีอาชีพนี้เท่านั้น

๒.๔ แนวทางการดำเนินงาน

๒.๔.๑ สมาคมจัดให้มีการประชุมสามัญทุกๆ สองปี นอกจากนั้นยังจัดให้มีสมาคมสัญจรเพื่อไปพบสมาชิกทุก ๔-๖ สัปดาห์ โดยเวียนไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหา ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้กับเพื่อนสมาชิก

๒.๔.๒ ร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เช่น การนวดไทยบริจาคในเทศกาลเมือง และการเข้าร่วมกิจกรรมของเพื่อสมาชิกที่จัดขึ้นตามเมืองต่างๆ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับองค์กรและสมาคมอื่นที่จัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวม

๒.๔.๓ ให้การสนับสนุนและพร้อมที่จะสนองตอบแนวนโยบายของรัฐบาลไทย ๒.๔.๔ จัดการอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ และสามารถนำเสนอการนวด/สปาไทยได้อย่างถูกต้องตามหลักวิธี เอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย ตามหลักสูตรของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

๒.๔.๕ จัดให้มีโครงการรับรองมาตรฐานสถานประกอบการนวด/สปาไทย โดยได้รับความร่วมมือในการตรวจสอบแบบร่างจากสถาบันรับรองสุขลักษณะแห่งประเทศเยอรมนี และได้การสนับสนุนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ โดยได้นำร่องไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๐๑๑

๒.๕ ในส่วนของคุณมัณฑณาฯ ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจนวด/สปาไทยรวม ๓ แห่ง และตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปาไทยภายใต้แบรนด์ "Darika" ซึ่งการดำเนินธุรกิจดีขึ้นมาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถขยายจำนวนสาขาเพิ่มได้เนื่องจากยังชาดแคลนบุคลากรที่จะมาช่วยบริหารจัดการดูแลร้านและแรงงานนวด

๓. ปัญหาอุปสรรค/มาตรการทางการค้า

๓.๑ การขาดแคลนแรงงานนวด/สปาไทย ซึ่งนับเป็นปัญหาหลักในการดำเนินธุรกิจนี้ และพบได้โดยทั่วไป

๓.๒ การดำเนินธุรกิจไม่ยั่งยืน ซึ่งมีปัญหามาจากคนไทยชอบเป็นเจ้าของมากกว่าลูกจ้าง เมื่อมีความรู้ความชำนาญในด้านการนวดในระดับหนึ่ง ก็ออกมาทำธุรกิจเอง แต่ไม่มีความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับหลายด้าน เช่น ระเบียบกฎหมายการจ้างงาน ระบบบัญชี ตลอดจนสวัสดิการของพนักงาน เป็นต้น

๓.๓ การขาดแคลนผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ เนื่องจากในการเป็นตัวแทนจำหน่ายจะต้องใช้ทุนสูงเนื่องจากจะต้องมี Minimum Order ทำให้ปัจจุบันมีการนำเข้าโดยไม่ถูกต้องตามระบบ เช่น มีการลักลอบถือเข้ามาพร้อมกับตัวเมื่อมีโอกาสได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทย เป็นต้น

๓.๔ การทำมาตรฐานนวด/สปาไทย ในระยะเริ่มแรกค่อนข้างยาก เพราะต้องมีการปรับปรุงสถานที่ การแต่งกาย ตลอดจนการให้บริการของพนักงาน แต่ในระยะหนึ่งจะง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันสถานประกอบการแต่ละแห่งก็จะมีการสังเกตและควบคุมกันเองไปในตัว

๓.๕ สำหรับคุณมัณฑนาฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Darika อยู่ในฐานะที่เป็นประธานสมาคมฯ ทำให้ไม่สามารถผลักดันสินค้าของตนได้เต็มที่ ซึ่งอาจเกิด Conflict of interest

๔. ภาวะตลาดนวด/สปาไทยในเยอรมนี

๔.๑ ปัจจุบันการนวด/สปาไทยอยู่ในกระแสความนิยมของตลาดเยอรมนีเป็นอันดับหนึ่งและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถพบเห็นสถานประกอบการนี้ได้อย่างทั่วไป ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้ จะหาใช้บริการได้ง่ายพอๆ กับร้านอาหารไทยซึ่งมีอยู่ทุกมุมเมือง

๔.๒ ภาพลักษณ์ของนวด/สปาไทยในเยอรมนีต่างจากในอดีตมาก ผู้บริโภคมีความไว้วางใจมากขึ้นและสามารถแยกแยะได้ว่าสถานที่ใดได้มาตรฐาน และสถานที่ใดมีการดำเนินงานอย่างอื่นแอบแฝง

๔.๓ ผลิตภัณฑ์สปาไทยได้รับความนิยมในตลาดเยอรมัน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ และจากการสังเกตการณ์ในช่วงงานเทศกาลไทย เมื่อวันที่ ๖-๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ พบว่าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวไทยและต่างชาติสูง

๕. ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

๕.๑ สคร.แฟรงก์เฟิร์ตได้เชิญชวนสมาคมฯ เข้าร่วมงาน Thailand Health and Beauty 2011 และเสนอให้สมาคมฯ จัดกลุ่มสมาชิกอย่างน้อย ๒๐ คน เพื่อจะได้จัดให้มีการเยี่ยมชมโรงงานผู้ผลิต การจัด Business Matching และอาจจะมีการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้จัดการอบรมให้ความรู้ในศาสตร์วิธีการนวด/สปาไทยที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเชิญคุณมัณฑนาฯ ประธานสมาคมฯ ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจนวด/สปาไทย ตลาดสินค้าสปาไทยในเยอรมนี ซึ่งคุณมัณฑนาได้แสดงท่าทีสนใจที่จะร่วมกิจกรรมดังกล่าว

๕.๒ เนื่องจากปัจจุบันนี้ สถานประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่ง สคร.แฟรงก์เฟิร์ตเห็นว่า กรมฯ น่าจะให้การสนับสนุนในด้านนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน อันจะส่งผลให้มีการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์สปาไทยมายังตลาดเยอรมนีได้มากขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขก็ให้การสนับสนุนในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการนวด/สปาไทยที่ถูกต้องแล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ