นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยได้มีการพัฒนาอย่างมาก โดยมีการบริหารจัดการและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางเกษตร และยังมีการปรับปรุงกลยุทธทางการตลาด การสร้างภาพลักษณ์และการส่งเสริมสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดระดับสากล และถึงแม้ภาคเกษตรอินทรีย์ของไทยนั้นจะมีขนาดเล็กแต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากปี 2545 มีมูลค่าอยู่ที่ 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2548 ตลาดเกษตรอินทรีย์ของไทยมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นไปที่ 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 145 โดยมูลค่าประเมินของการตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปที่ 12.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกับตลาดส่งออกซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจากมูลค่าของตลาดเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายที่สนับสนุนการขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในประเทศที่กำลังพัฒนาของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (The International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM) ทำให้จำนวนประเทศสมาชิกและพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ความต้องการที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคก็มากขึ้นเช่นกัน
“การส่งเสริมภาพลักษณ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของไทยนั้นมีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับแนวนโยบายการสนับสนุนการเกษตรอินทรีย์ในประเทศกำลังพัฒนาของศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International trade Centre : ITC) ซึ่งทำงานร่วมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยให้โอกาสในการส่งออก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดและมาตรฐานของผู้ซื้อเพื่อขจัดอุปสรรคในการส่งออกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคหลายๆ อย่างรวมทั้งข้อเรียกร้องด้านคุณภาพของผู้ซื้อ และสร้างเครือข่ายสร้างเพื่อเชื่อมโยงการติดต่อกับผู้ซื้อให้อีกด้วย ในด้านของประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศนั้น การเกษตรอินทรีย์นั้นช่วยแบ่งเบาการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและสมดุลในระบบนิเวศ ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นทั้งในแง่สุขภาพและเศรษฐกิจในชุมชน และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในธุรกิจขนาดย่อมและขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยว และร้านสหกรณ์ในชุมชน หากภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ก็เชื่อมั่นได้ว่าก้าวต่อไปของเกษตรอินทรีย์ไทยจะสามารถแข่งขัน และมีพื้นที่อยู่ในตลาดสากลได้อย่างแน่นอน” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม
จากงานแสดงและจำหน่ายสินค้าด้านเกษตรอินทรีย์และธรรมชาติครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้นภายใต้โครงการ Organic and Natural Expo 2011 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 5-7 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมในแสดงสินค้าอย่างมากมาย ทั้งผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ ผู้รักสุขภาพ และผู้สนใจด้านผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เห็นได้ชัดว่าสินค้าบริการด้านภาคเกษตรอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศมีการเติบโตสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหารจากต่างประเทศซึ่งมีอัตราตัวเลขในการบริโภคเติบโตเร็วแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ รายงานสถานการณ์เกษตรอินทรีย์โลก (The World of Organic Agriculture: Statistics and Emerging Trends) ยังระบุว่าพื้นที่ภาคเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวมกันเป็นพื้นที่กว่า 218.75 ล้านไร่ โดยกระแสในสินค้าและบริการในหมวดของเกษตรอินทรีย์และธรรมชาติ ทำให้มูลค่าตลาดเติบโตอยู่ที่ 102,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553
แม้แนวโน้มและความต้องการสินค้า บริการด้านเกษตรอินทรีย์และธรรมชาติในประเทศยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ต่างจากแนวโน้มในตลาดเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนความต้องการสินค้าออแกนิกส์สูงขึ้นควบคู่ไปกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ “ส่งออก” มองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าออร์แกนิคให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกได้ เพราะมีศักยภาพพร้อมในทุกด้าน เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้
ที่มา: http://www.depthai.go.th