ด้วยหน่วยงานกำกับและดูแลด้านอาหารของประเทศแคนาดา Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ได้ตรวจสอบสินค้าพริก (Thai red chili peppers) จากไทยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม และวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 พบสารตกค้าง Cypermethrin เกินระดับมาตรฐานของแคนาดา (แคนาดากำหนดค่าสารตกค้าง Cypermethrin ไม่เกิน 0.1 ppm แต่ค่าที่ตรวจพบได้คือ 0.259 และ 0.255 ppm ตามลำดับ)
สืบเนื่องจากการตรวจพบสารตกค้าง Cypermethrin ในพริก (Thai red chili pepper) ครั้งนี้ ทำให้หน่วยงาน CFIA เพิ่มระดับความเข้มงวดการตรวจสอบสินค้าพริกที่ส่งออกจากประเทศไทย และได้กำหนดให้พริกที่ส่งออกจากผู้ปลูก/ผู้ส่งออกเฉพาะรายที่ CFIA ตรวจพบสารตกค้างนี้อยู่ใน Compliance Phase ซึ่งเป็นมาตรการตรวจสอบและควบคุมสินค้านำเข้าอาหารที่เข้มงวดที่สุดของทางการแคนาดา
ทั้งนี้ขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้าอาหารนำเข้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดของ CFIA แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1) ระยะ Monitor Phase จะเป็นการสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้านำเข้าเป้าหมายเป็นระยะๆ
2) ระยะ Directed Phase เป็นระยะการกำกับดูแลเพื่อให้สินค้านำเข้าเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด โดยเฝ้าระวังสินค้าบางชนิดเป็นพิเศษและจะทำการตรวจสินค้า 5 ล็อตต่อเนื่องกันหากพบสินค้านำเข้าเพียง 1 ใน 5 ล็อตไม่ได้มาตรฐาน จะดำเนินการในระยะในข้อ 3 ต่อไป
3) ระยะ Compliance Phase เป็นระยะที่นำไปสู่การห้ามจำหน่ายสินค้านั้นในท้องตลาด โดยการส่งออกสินค้าอาหารจากผู้ปลูก/ส่งออกรายนั้นต้องแสดงผลการตรวจมาตรฐานสินค้าจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองเป็นจำนวน 5 ล็อตถัดไป หากพบสินค้านำเข้าเพียง 1 ใน 5 ล็อตไม่ได้มาตรฐาน สินค้านั้นจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายในประเทศ หรือต้องส่งกลับยังประเทศต้นทาง
CFIA ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบสินค้าเกษตรที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน (Compliance List for Agriculture Chemical Residues) บนเว็บไซต์ http://www.inspection.gc.ca เป็นประจำและอัพเดททุกเดือน ซี่งหากผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกไทย รายใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่นาย David Sturrock โทร +๑ (๖๑๓) ๗๗๓ ๖๕๔๐
การตรวจพบสารตกค้าง Cypermethrin ในพริก (Thai red chili pepper) และกำหนดให้พริกที่นำเข้าจากไทยอยู่ใน Compliance Phase นี้ ถือว่าเป็นมาตรการตรวจสอบและควบคุมสินค้านำเข้าอาหารที่เข้มงวดที่สุด หาก CFIA ตรวจพบพริกที่มีสารตกค้าง Cypermethrin เกินกว่ามาตรฐานเพียงครั้งหนึ่งจากการตรวจสอบ ๕ ล็อตถัดไปของการนำเข้า สินค้านั้นจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายในประเทศ หรือต้องส่งกลับยังประเทศต้นทาง แม้ว่าการตรวจพบสารตกค้างเกินมาตรฐานจากสินค้าอาหารไทยจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้ทางการแคนาดาเฝ้าระวังสินค้าอาหารโดยเฉพาะผัก /ผลไม้สดที่ส่งออกจากประเทศไทยมากขึ้น
ดังนั้นผู้ประกอบการ/ส่งอออกอาหารไทย ควรเพิ่มความระมัดระวังสำหรับการส่งสินค้าอาหารไปยังแคนาดาโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานของสินค้า เนื่องจากทางการมีมาตรการเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบอาหารและสารตกค้างต่างๆ ในอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารไทยในอนาคต ทั้งนี้ผู้ปลูก/ผู้ส่งออกสามารถศึกษารายละเอียดข้อกำหนดเกี่ยวกับปริมาณควบคุมการใช้สารเคมีในสินค้าผัก ผลไม้ต่าง ๆ (Maximum Residue Limits) ได้ที่ http://www.hc-sc.gc.ca/
สคร.แวนคูเวอร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th