การค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทย ช่วงครึ่งปีแรก (มค.- มิย.) ของปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2011 13:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรก (มค.- มิย.) ของปี 2554 มีมูลค่ารวม 380,717.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.65 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 200,949.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.04) และมูลค่าการนำเข้า 179,767.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.22) โดยประเทศคู่ค้านำเข้าและส่งออก 10 อันดับแรก ดังนี้

                 สิงคโปร์นำเข้า (มค.-มิย. 2554)                       สิงคโปร์ส่งออก (มค.-มิย. 2554)
    ประเทศคู่ค้า                มูลค่า  เพิ่มขึ้น %  ส่วนแบ่งตลาด %    ประเทศคู่ค้า          มูลค่า  เพิ่มขึ้น %  ส่วนแบ่งตลาด %
1.มาเลเซีย               19,312.50    10.34    10.74      1.มาเลเซีย        23,802.40    20.75    11.84
2.สหรัฐฯ                 18,987.10    11.09    10.56      2.ฮ่องกง          22,366.90    19.01    11.13
3.จีน                    18,881.10    16.46     10.5      3.อินโดนีเซีย       20,667.40    30.43    10.28
4.ญี่ปุ่น                   13,145.80    14.86     7.31      4.จีน             20,461.40    19.43    10.18
5.เกาหลีใต้               10,639.40    21.35     5.92      5.สหรัฐฯ          11,423.40    13.83     5.68
6.ไต้หวัน                 10,622.30    19.94     5.91      6.ญี่ปุ่น             8,623.80     9.82     4.29
7.อินโดนีเซีย               9,591.40    18.25     5.34      7.อินเดีย           7,743.10    25.87     3.85
8.ซาอุดิอาระเบีย            7,920.80    51.73     4.41      8.ออสเตรเลีย       7,666.70    28.17     3.82
9.อินเดีย                  7,416.00    64.96     4.13      9.เกาหลีใต้         7,658.30    11.38     3.81
10.ไทย                   5,687.50    14.41     3.16      10.ไต้หวัน          7,532.50    29.97     3.75
                                                         11. ไทย           7,216.90     17.2     3.59

การค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทย ในช่วงครึ่งปีแรก (มค.-มิย.) ของปี 2554

การค้ารวมระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีมูลค่ารวม 12,904.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสิงคโปร์ส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 7,216.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยมูลค่า 5,687.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สิงคโปร์ได้เปรียบดุลการค้ากับไทย มูลค่า 1,529.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าหลักที่ส่งออกและนำเข้า ดังนี้

  • การส่งออก สิงคโปร์ส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 7,216.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป สื่อบันทึกข้อมูล/ภาพ/เสียง เครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่ใช้ประกอบการพิมพ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เคมีภัณฑ์(อะไซคลิกแอลกอฮอล์และอนุพันธุ์ไนเตรเต็ด) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าป้องกันวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องจักรใช้กับประเภท 85.35, 85.36 หรือ 85.37 และ โพลิเมอร์ของเอทิลีนในลักษณะขั้นปฐม
  • การนำเข้า สิงคโปร์นำเข้าจากไทยมูลค่า 5,687.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.16 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 10 สำหรับอันดับหนึ่ง คือ มาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย และอินเดีย สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล เครื่องโทรสาร/โทรพิมพ์/โทรศัพท์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ยางพารา น้ำมันและผลิตภัณฑ์อื่นๆจากทาร์/ถ่านหิน ไซคลิกไฮโดรคาร์บอน และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด

คาดการณ์การนำเข้าสินค้าจากไทย

สืบเนื่องจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และ 0.5* ตามลำดับ (*พื้นฐานข้อมูลสถิติระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2554) ดังนั้น การคาดการณ์การนำเข้าสินค้าจากไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 จะมีแนวโน้มทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ

(1) สินค้าอาหารประเภทต่างๆและเครื่องดื่ม นอกจากจะใช้เพื่อการบริโภคของประชากรแล้ว ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น (คาดการณ์ปี 2554 ประมาณ 11.5-12.5 ล้านคน สำหรับปี 2553 มีจำนวน 11.9 ล้านคน) นอกจากนี้ การประชุม งานแสดงสินค้า และการแข่งรถ Formula 1 เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ

(2) สินค้าเพื่อการก่อสร้าง จากการที่ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างในสิงคโปร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2554 และ Building and Construction Authority (BCA) ได้ประกาศการคาดการณ์มูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐในครึ่งปีหลังของปี 2554 ซึ่งจะมีมูลค่าถึง 12-15 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และในภาคเอกชนจะมีมูลค่าประมาณ 10-13 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ตามลำดับ ทำให้สินค้าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและสินค้าเพื่อการตกแต่งสถานที่ และเครื่องปรับอากาศ มีความต้องการมากขึ้น

อนึ่ง สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะมีแนวโน้มลดลง คือ สินค้าอุปกรณ์และส่วนประกอบสำหรับเครื่องใช้อิเล็คทริค/อิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เนื่องจากสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐฯและยุโรปซึ่งมีการสั่งซื้อลดลง

คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์

Ministry of Trade and Investment (MTI) คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2554 (วันที่ 9 สิงหาคม 2554) โดยได้ปรับจากการคาดการณ์เดิมร้อยละ 4-6 เป็นร้อยละ 5-6 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นระดับที่ลดลงจากปี 2553 และ MTI คาดว่า การเติบโตเศรษฐกิจปี 2554 จะนำโดยกลุ่มสินค้า Pharmaceutical และ Financial Services เป็นสำคัญ

ข้อสังเกต/ข้อคิดเห็น

(1) ภูมิภาคเอเชียจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนหันนำเงินเข้าไปลงทุนในเอเชียเพิ่ม มากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การเติบโตเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวในระดับพอสมควรในช่วงไตรมาสที่ 3 และจะกลับฟื้นคืนตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งสิงคโปร์จะเป็นประเทศสำคัญในการช่วยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย

(2) แม้ว่าวิกฤตภัยธรรมชาติและความเสียหายของโรงงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเริ่มคืนสู่สภาพที่ดีขึ้น แต่การค้าระหว่างสิงคโปร์กับญี่ปุ่นคงจะชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะขยายตัวขึ้นในระดับที่ลดลง

(3) ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจสิงคโปร์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2554 คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ และ Biomedical Sciences) และการบริการด้านการเงิน (การให้กู้ยืมเงิน และกิจกรรมประกันภัย)

(4) อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ให้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง อาทิ ราคาน้ำมันที่แปรปรวนในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ วิกฤตหนี้สินในยุโรปที่ยังมีต่อเนื่อง และวิกฤตภัยธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์และโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นในระดับที่ลดลง และจะส่งผลต่อเนื่องทำให้อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์สูงขึ้นซึ่ง Monetary Authority of Singapore (MAS) คาดว่า ในปี 2554 จะมีอัตราร้อยละ 3-4 เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของที่พักอาศัย การคมนาคม อาหาร และราคาน้ำมัน รวมถึงผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 ปรากฎว่า ฝ่ายรัฐบาลได้รับคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 60.14 อีกทั้งสภาวะแรงงานที่ภาครัฐเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการอนุญาตจ้างคนงานต่างชาติในปัจจุบัน จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในประเทศสิงคโปร์มีระดับลดลง

ที่มา : Ministry of Trade and Industry, International Enterprise Singapore,

Singapore Department of Statistics, The Business Times & The Straits Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ