การละเมิดเครื่องหมายการค้าในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2011 13:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โครงการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ใหญ่ที่สุดในจีนซึ่งดำเนินการระหว่าง เดือนตุลาคม 2553 - เดือนมิถุนายน 2554 มีผลสรุปว่า การละเมิดเครื่องหมายการค้าทั้งในและนอกประเทศจีนมีอยู่อย่างไม่หยุดหย่อนแม้จะมีการปราบปรามอย่างหนักแล้วก็ตาม แบรนด์ดังจากต่างประเทศ เช่น Adidas, Nike และ Louis Vuitton ได้รับผลกระทบจากการละเมิดเครื่องหมายการค้าในจีนมากที่สุด

สำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าแห่งรัฐของจีนทำการสอบสวนมากกว่า 6,000 คดี ในช่วงโครงการรณรงค์พบว่ามีคดีละเมิดลิขสิทธิ์เสื้อผ้าและกระเป๋ายี่ห้อดัง 11 ราย มีทั้งยี่ห้อ Adidas, Nike, Louis Vuitton, Gucci และ Prada หน่วยงานของรัฐในเขตเทียนเหอ เมืองกวางโจว ได้เข้าไปบุกค้นโกดังเก็บของแห่งหนึ่ง ข้างในพบสินค้าเครื่องหนังแบรนด์ดังอยู่เกือบ 20,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 100 ล้านหยวน (16 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) และบุกค้นโกดังอีกแห่งในเขตเจียงยิน เมืองเจียงซู พบสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ดัง 78 ยี่ห้อ สินค้ามีมากกว่า 20,000 ชิ้น มีทั้งยี่ห้อ Prada, Hugo, Boss มูลค่ามากกว่า 50 ล้านหยวน

ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ก็กำลังเร่งแก้ปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้าของตน ซึ่งทางสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าของจีนทำการสอบสวนมากกว่า 2,200 คดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ของ 7 ค่ายดัง เช่น Nokia, Sumsung, HP, Cannon เป็นต้น

ล่าสุดพบ "ร้านแอปเปิลสโตร์ปลอม" ในเมืองคุนหมิง ประเทศจีน สร้างความฮือฮาให้ชาวอินเตอร์เน็ต ทั่วโลกและไม่ใช่แค่แห่งเดียว อีกแห่งพบที่ฉงชิ่ง ทางการสั่งให้ดำเนินการปิดร้านดังกล่าวทันทีเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากทาง Apple แม้ว่าร้านทั้งสองจะนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแท้จาก Apple โดยถูกต้องก็ตาม ขณะเดียวกัน จีนเองก็ถูกละเมิดและถูกชิงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าข้ามประเทศเหมือนกัน เครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักของจีน 28 ราย หนึ่งในนั้นคือบริษัท Huawei ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการสื่อสารขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้ถูกชิงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในแอฟริกา ทำให้งานหลักในปีที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่รัฐในเมืองจีน คือ การปกป้องและยืนยันสิทธิ์เครื่องหมายการค้าจีนทั่วโลก ซึ่งทำสำเร็จแล้ว 52 รายก่อนที่จะถูกชิงจดทะเบียนในแคนาดา หนึ่งในนั้นเป็นโลโก้ของ "สถาบันขงจื๊อ" ที่กำลังจะถูกชิงจดทะเบียนในคอสตาริก้า

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการปกป้องเครื่องหมายการค้าของตน คือ การจดทะเบียน การจดทะเบียนที่ทางรัฐแนะนำว่าปลอดภัยที่สุดคือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบบสากล เพราะจดทะเบียนในประเทศอย่างเดียวคงไม่พอ ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมให้คำแนะนำทางกฎหมายสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดเครื่องหมายการค้าเพื่อยืนยันสิทธิ์ของตนในกรณีที่ถูกละเมิดอีกด้วย

ข้อคิดเห็นของสคร.กวางโจว

จากบทความจะเห็นได้ว่าการละเมิดเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในจีนเพียงอย่างเดียว จีนเองก็ถูกละเมิดเหมือนกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้าของไทย ก่อนผลิตสินค้าออกมาขาย ผู้ประกอบการไทยควรจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในไทยและต่างประเทศ

ยกตัวอย่างกรณีเจ้าของร้านอาหารอิตาเลียนในดูไบใช้ชื่อผัดไทย หรือ Pad-Thai จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับตั้งชื่อร้านอาหาร ในอนาคตอาจทำให้ผัดไทยไม่สามารถขายได้ในดูไบ เพราะจะกลายเป็นว่าผัดไทยไปละเมิดชื่อของร้านอาหารดังกล่าว ดังนั้นทางการไทยได้ทำหนังสือคัดค้านการจดทะเบียนแล้ว เพราะทางไทยกลัวว่าจะสูญเสียสิทธิ์การใช้ชื่อเหมือนกรณีฤาษีดัดตนที่ไทยถูกแอบอ้างไปจดเครื่องหมายการค้าในญี่ปุ่น นั่นถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งถ้าเรายินยอมให้ร้านอาหารในดูไบใช้ชื่อนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในตัวอาหาร อีกทั้งยังเป็นการกีดกันลู่ทางการค้าของคนไทย ที่ไม่สามารถใช้ชื่อผัดไทยตั้งชื่อร้านค้าได้ในอนาคต

จริงอยู่ที่มันไม่ยุติธรรมเสียเลยที่เครื่องหมายการค้าของเรา จะถูกติดลงบนสินค้าของคนอื่น แต่ในทางธุรกิจแล้วจะใช้สำนวนที่ว่า "ใครดีใครได้" คงไม่ผิดนัก เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการแต่ละรายควรตระหนักในการรักษาสิทธิ์ของตนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมันไม่คุ้มเลยกับการที่สินค้าไทยจำนวนไม่น้อยต้องเสียโอกาสขยายตลาด เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เจ้าของสินค้าไทยบางราย ยังมีความเข้าใจผิดที่ว่าหากจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยแล้ว ก็จะสามารถใช้และได้รับความคุ้มครองในทุกประเทศทั่วโลก แต่หลักการที่ถูกต้อง คือ "จดที่ประเทศไหน ก็จะได้ความคุ้มครองแค่ที่นั่น" การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ ถือเป็นการช่วยป้องกัน "ความเสี่ยง" ทางธุรกิจไว้ก่อน แบบกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะถ้าต้องมาวิ่งแก้ปัญหาภายหลังโดยวิธีขอซื้อเครื่องหมายการค้าคืน หรือฟ้องร้องสู้คดีกันในศาล ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าหลายเท่า

สคร. เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ประเทศจีน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ