รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าราชอาณาจักรสเปน กรกฎาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 18, 2011 14:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สถานการณ์เศรษฐกิจ
  • สเปนประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปนเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ร้อยละ ๐.๘ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม - มีนาคม) ถือได้ว่าได้ว่าเริ่มกลับสู่สภาพฟื้นตัวอย่างช้าๆเมื่อเทียบกับ ๒ ปีที่ผ่านมาซึ่งถดถอยร้อยละ -๐.๑ ในปี ๒๕๕๓ และร้อยละ -๓.๗ ในปี ๒๕๕๒
  • หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจของสเปนยังคงอยู่ในภาวะชะงักงันต่อไปอีกอย่างน้อยถึงปลายปี ๒๕๕๔ อันเกิดจากการหดตัวของการบริโภคในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจค้าปลีกและการลงทุนในสินค้ากลุ่มทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจของสเปน โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๕๙ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
  • รายได้จากต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและบริการยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนสเปนในแต่ละปีมากกว่า ๕๗ ล้านคน และจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนเมษายนของปีนี้ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ ๒๐.๙ - การส่งออกของสเปนในช่วงไตรมาสแรกแรกปีนี้ยังคงขยายตัวถึงร้อยละ ๑๑.๒ สินค้าส่งออกหลักของสเปน ได้แก่ รถยนต์และอะไหล่ เครื่องจักร น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารประเภทผักและผลไม้สด เป็นต้น ขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัวที่ร้อยละ ๕.๒ โดยสินค้านำเข้าหลักได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร และเหล็กและเหล็กกล้า
  • ปัญหาการว่างงานยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง ในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงมีอัตราสูงถึงร้อยละ ๒๑.๓ ของจำนวนแรงงานทั้งหมดซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราว่างงานในกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่งจบการศึกษามีอัตราสูงถึงมากกว่าร้อยละ ๔๐ ส่งผลให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
  • สเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจที่เรียกว่ากลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากหนี้ภาครัฐและอัตราว่างงาน ถึงแม้ว่าสเปนยังไม่เข้ารับความช่วยเหลือจาก IMF เช่นเดียวกับ โปรตุเกส ไอร์แลนด์และกรีซ
  • ล่าสุดจากการที่สถาบันการจัดอันดับความเชื่อถือปรับลดความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศสหรัฐฯลงได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภ่าพรวมเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิตาลีและสเปน จนส่งผลให้ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปต้องเร่งออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินยูโรอย่างเร่งด่วน
๒. ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของสเปนในปี ๒๕๕๔

เศรษฐกิจของสเปนยังคงผันผวนและเปราะบาง ปัญหาการว่างงานในระดับสูงมากยังคงเป็นแรงกดดันอย่างรุนแรงให้รัฐบาลซึ่งนำโดยนาย Jose Luis Rodriguez Zapatero จากพรรคสังคมนิยมผู้ใช้แรงงานจึงถูกกดดันให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้นเป็นในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสเปนในปี ๒๕๕๔ จะขยายตัวที่ร้อยละ ๐.๕

๓. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสเปน

มาตรการด้านการคลัง

รัฐบาลกำลังดำเนินการปรับโครงสร้างการจ่ายเงินเกษียณอายุและสวัสดิการสังคมให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนเร่งดำเนินโครงการภาครัฐเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในส่วนของภาคการเงินและการธนาคาร รัฐบาลได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการดำเนินการปรับโครงสร้างระบบการธนาคารเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับหนี้เสียอันเกิดจากภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง

มาตรการด้านแรงงาน

รัฐบาลอยู่ระหว่างการออกกฎหมายปรับระเบียบการจ้างงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจของสเปนจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่เดิมประสบปัญหาความยุ่งยากในการเลิกการจ้างแรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจมีการจ้างงานใหม่น้อยมาก

๔. การค้าระหว่างประเทศของสเปน
  • ประเทศคู่ค้าหลักของสเปนคือ ประเทศในสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ ขณะที่ประเทศจีนนับเป็นแหล่งนำเข้าที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ ๔ สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสเปนสูงเป็นอันดับที่ ๔๓ และสเปนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ ๕๙
  • ในปี ๒๕๕๓ สเปนมีมูลค่าการค้ารวม ๕๖๐,๑๒๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออก ๒๔๕,๗๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า ๓๑๔,๔๐๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ๖๘,๖๘๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ในช่วง ๕ เดือนแรกของปีนี้ สเปนส่งออก ๑๒๒,๓๐๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า ๑๕๐,๓๖๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ๒๘,๐๕๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สินค้าส่งออกหลักของสเปน ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ เวชกรรม พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ผลไม้และถั่วชนิดต่างๆ และผักสด ตามลำดับ
  • สินค้านำเข้าหลักของสเปน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องจักร ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ตามลำดับ
๕. การค้าไทย-สเปน

มูลค่าการค้า

  • สเปนเป็นคู่ค้าของไทยที่มีมูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับที่ ๗ ของไทยในตลาดสหภาพยุโรป ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าสองฝ่ายลดลงอย่างมาก จากมูลค่า ๑,๘๗๕.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี ๒๕๕๑ ลดลงเหลือ ๑,๑๘๙.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี ๒๕๕๒ หรือลดลงถึงร้อยละ ๓๖.๕ สาเหตุหลักจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ในปี ๒๕๕๓ มูลค่าการค้ากลับมาขยายตัวถึงร้อยละ ๓๓.๔ ที่มูลค่า ๑,๕๘๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ ๖ เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการค้าสองฝ่ายยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ ๒๒.๐ มูลค่า ๙๓๑.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออก

  • สเปนเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับที่ ๓๑ ของไทย มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสเปนในปี ๒๕๕๓ ขยายตัวถึงร้อยละ ๔๑ ที่มูลค่ารวม ๑,๑๒๑.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ในช่วง ๖ เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ ๒๕ ที่มูลค่า ๖๕๕.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ สินค้าในกลุ่มวัตถุดิบ ได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ เลนส์ และสินค้าในกลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง ผลไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง นอกจากนี้สเปนยังเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยในยุโรป

การนำเข้า

  • มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสเปนของไทยในปี ๒๕๕๓ ขยายตัวร้อยละ ๑๘.๑ มีมูลค่ารวม ๔๖๕.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ในครึ่งปีแรกของปีนี้ มูลค่าการนำเข้าจากสเปนของไทยยังคงขยายตัวที่ร้อยละ ๑๕.๕ มูลค่า ๒๗๕.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสเปนคือสินค้าทุนและวัตถุดิบ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร เครื่องเวชภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และสินค้าในกลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้

ดุลการค้า

ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๕๓ ไทยได้เปรียบดุลการค้าจากสเปน ๖๕๕.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วง ๖ เดือนแรกของปีนี้ ไทยได้เปรียบ ๓๘๐.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๖. สินค้าที่มีศักยภาพ
  • ยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ ๑ ของไทยมายังสเปน โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๑๘ ของมูลค่าการส่งออกรวม และในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวถึงร้อยละ ๘๘.๖
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยายนยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นสินค้าที่มียอดขยายตัวได้ดี
  • สินค้าอาหารที่มีศักยภาพ ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และข้าวหอมมะลิ
  • อาหารไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในสเปน ไม่มากนัก (จำนวน ๕ ร้านในกรุงมาดริด) แต่ก็มีลู่ทางขยายตลาดได้อีกมาก การสนับสนุนให้มีการสร้าง supply chain จึงน่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าอาหาร และส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารไทยในการใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยในราคาที่ถูกลงได้
  • ผลิตภัณฑ์ สปาและธุรกิจสปา/นวดแผนไทยมีลู่ทางขยายตลาดและธุรกิจได้ดี โดยเฉพาะ ณ สถานที่ ท่องเที่ยวและสนามกอล์ฟชั้นนำในสเปน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สเปน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ