อเมริกา-ยุโรปเตรียมคว่ำบาตรอัญมณีพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 16, 2007 10:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          พม่าเป็นแหล่งวัตถุดิบของอัญมณีสำคัญที่ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกต้องเดินทางมางานประมูลที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อนำรายได้เข้าประเทศแต่ในปีนี้งานดังกล่าวอาจจะต้องพบอุปสรรคเมื่อผู้ค้ารายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปอาจจะไม่เดินทางมาเพราะต้องการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้เดินขบวนต่อต้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระและนักศึกษา
ผู้ที่ออกมาต่อต้านล้วนแล้วแต่เป็นร้านชื่อดังระดับโลกเช่นคาร์เทียร์และทิฟฟานีที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเลิกซื้อพลอยสัญชาติพม่า
นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายที่เตรียมเข้าพิจารณาในสภาคองเกรส ซึ่งหนุนหลังโดยสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับอเมริกาห้ามการนำเข้าอัญมณีพม่าทุกชนิดแม้ว่าจะมีการเจียระไนในประเทศที่ 3 ก่อนจะส่งมาจำหน่ายในสหรัฐฯก็ตาม
แม้แต่นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีจากจันทบุรี ศูนย์กลางการเจียระไนเจียระไนพลอยพม่า ซึ่งเคยเข้าร่วมการประมูลในพม่ามาตลอด 4 ปีที่ผ่านมายังตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานในปีนี้เนื่องจากไม่แน่ใจว่าร่างกฏหมายดังกล่าวจะผ่านหรือไม่และจะครอบคลุมแค่ไหน
ส่วน 27 ประเทศในสหภาพยุโรปได้จับมือกันในข้อตกลงคว่ำบาตรอัญมณีและไม้จากพม่า แต่ขณะเดียวกันญี่ปุ่น จีนและประเทศหลักที่ซื้ออัญมณีจากพม่ายังไม่มีมาตรการใดๆออกมา
พ่อค้าอัญมณีชาวอเมริกันซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ผลักดันร่างกฏหมายดังกล่าวเปรียบทับทิมว่าเป็นเพชรเลือดที่เป็นแหล่งการเงินให้เผด็จการในประเทศ ทำนองเดียวกับผู้ที่ให้การสนับสนุนสงครามการเมืองในแอฟริกา
ทับทิมเป็นสินค้าจากพม่าที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ โดยมีการนำเข้า 87.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ3,059 ล้านบาท) เมื่อปี 2549 โดยส่วนมากเป็นการนำเข้าผ่านประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งการค้าและเจียระไนพลอยพม่าที่ใหญ่ที่สุด
ถ้าร่างกฏหมายฉบับนี้ผ่านสภา พ่อค้าอัญมณีจากทั่วโลกจะไม่กล้าเก็บทัมทิมไว้เป็นจำนวนมากเพราะทับทิมและพลอยสีชนิดต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการต่างๆก่อนจะออกมาเป็นแบบสำเร็จรูปที่เราเห็น และยากจะทราบได้แน่ชัดว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน
สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับอเมริกาซึ่งมีสมาชิก 11,000 ร้านจากทั่วประเทศมีมติคว่ำบาตรการนำเข้าพลอยจากพม่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2550 หลังจากเกิดเหตุปะทะรุนแรงในพม่า จากนั้นมีการผลักดันร่างกฏหมายเข้าสภาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 โดยมีเนื้อหาว่า “ ห้ามนำเข้าอัญมณีทั้งที่เจียระไนแล้วหรือยังเป็นวัตถุดิบจากพม่า ไม่ว่าจะเป็นพลอยร่วงหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องประดับ
หากร่างกฏหมายนี้ผ่านสภาเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ของประเทศ จากการจัดงานประมูลอัญมณีซึ่งทำรายได้สูงถึง 269.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,447 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้วและเป็นแหล่งรายได้ที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของรัฐบาลรองจากน้ำมันดิบและไม้
การคว่ำบาตรจะป้องกันไม่ให้ผู้นำทหารลักลอบนำสมบัติออกนอกประเทศเนื่องจากพม่าไม่มีเสถียรภาพทางการเงินจึงจะต้องใช้วิธีขนอัญมณีออกนอกประเทศแล้วขายเป็นเงินก่อนจะฝากธนาคารในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่ร่างกฏหมายนี้อาจผ่านสภาไม่ทันในสมัยประชุมนี้ แต่เชื่อแน่ว่าพม่าจะต้องเผชิญกับมาตรการต่อต้านในรูปแบบต่างๆจากประเทศเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ