การใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นปริมาณมากในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลงจนไม่สามารถทนทานต่อภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวน และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตทางการเกษตรในประเทศจีนที่อาจจะมีปริมาณลดลงภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เหตุการณ์นี้ทำให้นักนิเวศวิทยาเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐช่วยออกมาตรการควบคุมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีในการทำเกษตร และให้รัฐบาลให้ความสำคัญและเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งงสามารถช่วยรักษาหน้าดินได้ ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาค่อนข้างนาน นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนให้ความช่วยเหลือชาวนาในเรื่องของการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม โดยให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ทางการเกษตรที่ชาวนาไม่สามารถหาเองได้
ในปี ๒๕๕๓ หลายพื้นที่ในประเทศจีนได้ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย แต่ปริมาณการผลิตข้าวของประเทศก็ยังสูงถึง ๕๔๖.๔ ล้านตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ ๗ เทียบกับปีที่แล้วที่ผลิตได้ ๓๒๐ ล้านตัน นักวิทยาศาสตร์การเกษตรของจีนกล่าวการเพิ่มขึ้นนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นระยะยาว หากรัฐบาลไม่สามารถออกมาตรการในการควบคุมการใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพและทันเวลาได้ เนื่องจากคุณภาพของดินอาจจะเสื่อมจนไม่สามารถให้ผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก
สารอินทรีย์ในดินที่เป็นตัวกำหนดปริมาณผลผลิตที่สำคัญ ซึ่งในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ขณะนี้มีปริมาณเสารอินทรีย์ฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๑ ถึง ๕ น้อยกว่าปี ๒๔๙๓ ที่มีปริมาณอยู่ที่ร้อยละ ๘ ถึง ๑๐ ในขณะนี้ พื้นที่มากกว่า ๑ ใน ๓ ของประเทศมีเนื้อดินหนาหรือบางเกินไป ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหานี้เกิดมาจากการใช้สารเคมีมากเกินกำหนดตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรมากเป็นอันดับ ๑ ของโลก และมีปริมาณการใช้มากกว่า ๕๐ ล้านตันต่อปี คิดเป็น ๔ เท่าของการใช้สารเคมีเมื่อปี ๒๕๒๓ ในส่วนของสารฆ่าแมลงที่ใช้ในจีนมีปริมาณมากกว่า ๑.๓ ล้านตันต่อปี มากกว่าตัวเลขเฉลี่ยของการใช้สารฆ่าแมลงจากทั่วโลกถึง ๒.๕ เท่า
เกษตรกรและเจ้าหน้าที่รัฐมีความเชื่อว่า การใช้สารเคมีมาก จะทำให้ได้ผลผลิตมาก ไม่ว่าต้นทุนจะสูงขึ้นเท่าไรก็ตาม ปุ๋ยเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเกษตรเพื่อเป็นหลักประกันของปริมาณผลผลิต ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมายืนยันว่า โรคต่างๆของพืชที่เพิ่มขึ้นและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมสภาพลงส่วนหนึ่งเกิดมาจากการใช้สารเคมีในการเกษตรมาเป็นเวลานาน เกษตรกรส่วนใหญ่นั้นจะให้ความสำคัญในเรื่องปริมาณการผลิตและรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตมากกว่าปัญหาดินเสียและความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีในนาข้าวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
อีกปัญหาหนึ่งที่ประเทศจีนกำลังประสบอยู่คือมลพิษทางน้ำ แม่น้ำสายสำคัญทั้ง ๗ สายและบริเวณชายฝั่งทะเลของจีนมีสารพิษปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก มีการพบว่าร้อยละ ๔๒.๓ ของทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความดูแลของรัฐ มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและธาตุไนโตรเจนมากเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุให้พืชน้ำมีการเจริญเติบโตรวดเร็วผิดปกติ ดังนั้นสิ่งที่ประเทศจีนต้องเผชิญคือปริมาณผลผลิตที่ลดลง รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งจะทำให้วิกฤตรุนแรงและยาวนานขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th