สถานการณ์ด้านการค้าไทย-กัมพูชา เดือนมกราคม-มิถุนายน ปี ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2011 14:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๕๔ เศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มมีการฟื้นตัว สถาบันเศรษฐกิจของกัมพูชา (The Economic Institute of Cambodia หรือ EIC) ประมาณการว่า เศรษฐกิจของกัมพูชา (Real GDP) ในปี ๒๕๕๔ จะเติบโตที่ร้อยละ ๗.๐% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคาดการณ์เป็นจริงคือ มีการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อส่งออก โดยในปี 2554 (ม.ค-มิ.ย) CIB ได้อนุมัติโครงการลงทุนเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป Garment ๓๒ โครงการ เงินลงทุน ๕๖.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภาคเกษตรอุตสหากรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ การปลูกและผลิตน้ำยางพารา การผลิตข้าวเพื่อส่งออก และการท่องเที่ยวที่ประมาณการว่านักท่องเที่ยวจะมีมากกว่า ๒ ล้านคน ในปี ๒๕๕๔

ในหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น การสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ภายในระยะไม่ถึง ๑๐ ปีนี้ พลังงานจะถูกผลิตจากจังหวัดโพธิสัต เกาะกง และจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆและกระตุ้นให้เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโต

๑. ภาวะการค้าไทย-กัมพูชา

๑.๑ มูลค่าการค้ารวม

ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๔ ไทย-กัมพูชามีมูลค่าการค้ารวม ๑,๔๓๐.๙ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๑.๓๐ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่ารวม ๑,๔๑๒.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกจากไทยไปกัมพูชา มูลค่า ๑,๓๓๒.๗ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๓.๐๗ และไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า ๙๘.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ ๑๗.๗๕ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า ๑,๒๓๔.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

๑.๒ การส่งออก

ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๔ ไทยส่งสินค้าออกไปกัมพูชา มูลค่า ๑,๓๓๒.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๓.๐๗ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

  • น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า ๑๙๓.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๕๓.๘๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดี่ยวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๑๒๖.๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากภาวะฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชาทั้งภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง
  • น้ำตาลทราย มูลค่า ๑๑๕.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ ๖.๕๓ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๑๒๔.๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • เครื่องดื่ม มูลค่า ๗๑.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๑๙.๘๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดี่ยวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๕๙.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ เวียดนาม จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้
  • ปูนซีเมนต์ มูลค่า ๕๗.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ ๒๓.๑๗ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๗๕.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ มูลค่า ๔๘.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๑๘.๖๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๔๑.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ถนน และสะพาน รวมทั้งอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัย เป็นต้น
  • เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว มูลค่า ๕๓.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๔๓.๑๒ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๓๗.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดกัมพูชา เนื่องจากประชากรมากกว่าร้อยละ ๕๐ มีอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี เป็นวัยที่ได้รับอิทธิพลทางสื่อทีวีไทย ทำให้เกิดการเลียนแบบรักสวยรักงามตามแบบไทย
  • เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและอุปกรณ์ มูลค่า ๔๙.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๓๑.๙๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๓๗.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า ๔๕.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๒๓.๑๑ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ที่มีมูลค่า ๓๗.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์และอะไหล่
  • เคมีภัณฑ์ มูลค่า ๔๕.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๒๐.๙๑ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ที่มีมูลค่า ๓๗.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในโรงงาน
  • ผ้าผืน มูลค่า ๓๘.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ ๑๙.๐๐ สำหรับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อส่งออกของไทยจำนวน 2 โรงงานที่ไปตั้งอยู่ในกัมพูชา ซึ่งนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อใช้ในการผลิต

๑.๓ การนำเข้า

ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๔ ไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า ๙๘.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ ๑๗.๗๕ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า ๑๑๙.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งจากผัก ผลไม้ สินแร่โลหะ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง พริก และเม็ดมะม่วงหิมพานต์) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ซากรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

๒. การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

ในระยะ ๖ เดือนแรก (ม.ค-มิ.ย) ๒๕๕๔ การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม ๓๑,๙๓๒ ล้านบาท เพิ่มร้อยละ ๑๓.๗๔ จากช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ที่มีมูลค่า ๒๘,๐๗๓ ล้านบาท แยกเป็นไทยส่งออก ๒๙,๑๓๑ ล้านบาท และไทยนำเข้า ๒,๘๐๑ ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า มูลค่า ๒๖,๓๓๐ ล้านบาท

การค้าชายแดนยังคงความสำคัญต่อการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ ๗๔ ของมูลค่าการค้ารวม โดยการนำเข้าทางด่านศุลกากรอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว คิดเป็นร้อยละ ๕๘ ของมูลค่าการค้าชายแดน รองลงมาคือการนำเข้าทางด่านศุลกากรคลองใหญ่ จังหวัดตราด ร้อยละ ๒๔

สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ วัสดุก่อสร้าง ยางรถยนต์และรถจักรยานยนต์ อาหารสัตว์ เครื่องดื่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อะไหล่รถจักรยานยนต์ ผ้าผืนและด้าย และสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าผัก/ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก/ผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค กาแฟ ชา และเครื่องเทศ

สคร.พนมเปญ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ