โอกาสสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทยในตลาดสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2011 14:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกยานยนต์ โดยเฉพาะรถญี่ปุ่นไปยังตลาดสิงคโปร์เป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และเยอรมัน โดย 1 ใน 4 ของยานยนต์ที่จำหน่ายในสิงคโปร์นำเข้าจากไทย

ปี พ.ศ. 2520 ไทยเริ่มผลิตรถรุ่นแรกส่งออกสู่ตลาดสิงคโปร์ คือ Toyota Soluna และ Honda City ซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก จำหน่ายได้เพียง 200-300 คันเท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2546 รถ Toyota Vios (แทน Toyota Soluna ) และ Honda Civic มีการพัฒนาการผลิตตรงตามความต้องการของผู้บริโภคสิงคโปร์ คุณภาพรถได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมีอุปกรณ์ตกแต่งรถที่ทันสมัยและราคาถูกกว่ารถที่นำเข้าจากแหล่งผลิตอื่น จึงได้มีการนำเข้ารถจากไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในนาม “ Detroit of Asia”

รถที่นำเข้าจากไทย ได้แก่

1. รถยี่ห้อ Toyota รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงคือ Corolla และ Camry นอกจากนี้ ยังนำเข้ารุ่น Vios, Fortuner, Yaris Hatchback และ Wish (เจ็ดที่นั่ง) ซึ่งรวมแล้วมีอัตราส่วนประมาณร้อยละ 80 ของรถ Toyota นำเข้าทั้งหมด

2. รถ Honda รุ่น City และ Accord (ส่วน Honda Civic and Honda Jazz สิงคโปร์นำเข้าจากญี่ปุ่นโดยตรง)

3. รถ Chevrolet รุ่น Optra

4. รถ Isuzu Commercial Vehicle

ระเบียบข้อกำหนดสำหรับผู้ต้องการซื้อยานยนต์

(1) หน่วยงานภาครัฐ (Land Transport Authority : LTA) มีระเบียบข้อกำหนดสำหรับผู้ต้องการซื้อยานยนต์ ซึ่งต้องยื่นขอเป็นเจ้าของทะเบียนยานยนต์ (Certificate of Entitlement : COE) ก่อนมีสิทธิครอบครอง โดยเป็นการประมูลป้ายทะเบียนตาม ซีซี เครื่องยนต์ มีราคาเฉลี่ยประมาณคันละ 29,000-65,000 เหรียญสิงคโปร์ (กค.54)

(2) ยานยนต์ที่นำเข้าสิงคโปร์ ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ต้องใช้ Unleaded Petrol และใช้ CFC-Free Air Conditioners และต้องผ่านการตรวจสอบ Mechanical Inspection จาก Land Transport Authority (LTA) หากยานยนต์นั้นๆ มีการแก้ไขดัดแปลงก่อนที่จะนำเข้า ผู้นำเข้าต้องแสดงหนังสือรับรองจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจาก LTA ในการแก้ไขดัดแปลงยานยนต์ประกอบเพื่อขออนุญาตนำเข้า

ภาษี
  • Custom Duty รถยนต์ร้อยละ 20 และรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 12 ของ Open Market Value : OMV (purchase price + freight + insurance + all other charges incidental to the sale and delivery of the car from country of manufacturers to Singapore)
  • Addition Registration Fee (ARF) ร้อยละ 100 ของ OMV
  • Goods and Services Tax ร้อยละ 7 ของ Excise Duty และ OMV
จำนวนยานยนต์ในสิงคโปร์

Land Transport Authority (LTA) จดบันทึกจำนวนยานยนต์รวมและจำนวนยานยนต์แยกตาม แบรนด์ในสิงคโปร์ ระหว่างปี 2550-2554 (มค.-มิย) ดังนี้ จำนวนยานยนต์รวมในสิงคโปร์

หน่วย : คัน

 2550              2551             2552             2553          มค.-มิย.53          มค.-มิย.54
851,336          894,682          925,518          945,829          937,860          951,307
หมายเหตุ : จำนวนดังกล่าว รวมถึงรถจักรยานยนต์และ Scooters

ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์

ผู้ผลิตไทยมีโอกาสขยายการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์สู่ตลาดสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน สิงคโปร์มีความต้องการใช้รถยนต์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2553 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 20,311 คัน (ปี 2553 มีจำนวน 945,829 คัน) และเมื่อถึงเดือนมิถุนายน 2554 มีจำนวน 951,307 คัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.19 และ 1.43 ตามลำดับ ทั้งนี้ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ที่มีโอกาสในตลาดสิงคโปร์จะเป็นไปตามแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Toyota, Honda, Nissan, Hyundai, Mitzubishi, Mercedes Benz, B M W, Mazda, Kia, Suzuki เป็นต้น

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า จากการที่ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งสิงคโปร์ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง คาดการณ์ว่า ปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 5-6 (Ministry of Trade and Industry : MTI คาดการณ์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554) ทำให้ผู้ซื้อในสิงคโปร์ระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ใหม่ ดังนั้น รถยนต์จะต้องเก็บรักษาและใช้ให้ครบกำหนดระยะเวลาของ Certificate of Entitlement (COE) เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งทำให้ผู้ใช้รถในสิงคโปร์มีความต้องการชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับรถให้มีประสิทธิภาพดีตลอดระยะเวลาใช้งาน

เนื่องจากสิงคโปร์มีพื้นที่จำกัดในการสร้างโรงงานผลิต และประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน(ภาครัฐกำหนดระเบียบจำกัดการนำเข้าแรงงานต่างชาติ) ถึงแม้ว่า สิงคโปร์จะมีการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์โดยใช้ระบบเทคโนโลยีชั้นสูงก็ตาม แต่สิงคโปร์ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อการพาณิชย์ ส่วนใหญ่นำเข้าภายใต้พิกัดศุลกากร HS 8708 (87.01-87.05) จากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยในปี 2553 นำเข้าสินค้าฯ มูลค่ารวม 2,363.54 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งนำเข้าจากประเทศคู่ค้าอันดับ 1 คือ เยอรมนี (มูลค่า 829.46 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35.09) รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ และไทยเป็นอันดับ 5 (มูลค่า 79.59 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.26 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.37) ทั้งนี้ นอกจากการนำเข้าเพื่อใช้ภายในประเทศแล้ว ยังนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ(Re-Export) อีกด้วย

การผลิตในสิงคโปร์

สิงคโปร์ใช้ระบบเทคโนโลยีชั้นสูงด้านอิเล็คทรอนิกส์ในการผลิตสินค้า (Precision Engineering) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจยานยนต์ บริษัทผู้ผลิตในสิงคโปร์ส่งออกสินค้าไปยังบริษัทผลิตยานยนต์ (Global Automotive OEMs and 1st Tier Companies) ได้แก่ Delphi, Denso, Ford, Robert Bosch, Sanden, Siemens VDO, Texas Instruments, TRW Automotive, Valco and Visteon ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ที่ส่งออก ได้แก่ Temperature control panels, Sensors, Leather seats, Brake and GPRS systems

บริษัทผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ Armstrong Industrial Corporation และ Sunningdale Precision Industries ที่ส่งสินค้าไปยังผู้ผลิตในสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้เทคโนยีชั้นสูง ได้แก่ R&D, Prototyping, Product design, High precision tooling design, Precision machining, Precision plastics injection moulding, Precision metal stamping, Precision rubber moulding, PCB fabrication, Printed circuit board assembly (PCBA), Box build assembly และ Clean room mechanical assembly ซึ่งบริษัทผู้ผลิตดังกล่าวได้รับมาตรฐาน ISO 9000, QS 9000 และ TS 16949

สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอันดับ 1 คือ เกาหลีใต้ รองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ไต้หวัน ปากีสถาน เป็นต้น

ภาษี

การนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์สู่ตลาดสิงคโปร์ ไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า แต่มีการเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ร้อยละ 7 ซึ่งคิดคำนวณจากราคา CIF (Cost, Insurance & Freight)

ความร่วมมือระหว่าง SPETA (สิงคโปร์) กับ TAI (ไทย)

The Singapore Precision Engineering & Tooling Association (SPETA) and Thailand Automotive Institute (TAI) ได้มีความตกลงในด้านข้อมูลเครือข่ายเพื่อใช้ร่วมกันในเว็ปไซท์ โดย TAI ได้จัดทำ ASEAN Auto Parts Web Portal ซึ่งจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทยานยนต์ของไทยและสิงคโปร์ อีกทั้งให้มี Focal Point อำนวยความสะดวกในการจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อให้มีการร่วมลงทุนในการผลิตสินค้าฯที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดสากลต่อไป

ข้อสังเกต

(1) การเติบโตทั้งในด้านการผลิตและการจำหน่ายยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าในตลาดดั้งเดิม(ประเทศทางตะวันตก) คาดว่า ภายใน 10 ปี ข้างหน้า จำนวนยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศที่พัฒนาแล้วจะชะลอตัวลง ในขณะที่การจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนสำคัญในการผลิตยานยนต์ของโลก หันมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น

(2) ตลาดยานยนต์ในอาเซียนเป็นเขตสำคัญในการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลก ซึ่งคาดว่า จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ภายในปลายทศวรรษนี้ ซึ่งส่วนใหญ่การผลิต ยานยนต์จะอยู่ใน 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อปีมากกว่าร้อยละ 12 ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และจะผลิตยานยนต์จำนวนประมาณ 3.2 ล้านคันภายในปี 2554

(3) บริษัทสิงคโปร์เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตในจีน โดยผลิตสินค้าใช้วัสดุ synthetic rubber สำหรับอุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ซึ่ง ผู้ผลิตไทยพึงระวัง การแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่สิงคโปร์ผลิตในจีน

(4) International Enterprise (IE) Singapore ได้จับคู่ธุรกิจการค้าให้บริษัทสิงคโปร์ที่มีโรงงานผลิตในจีนให้จัดส่งชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ไปยังผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มีโรงงานผลิตในจีน ได้แก่ บริษัท Denso, Dasai Automotive และ Koito Automotive และแบรนด์รถยนต์ได้แก่ Toyota, Nissan และ Honda นอกจากนี้ บริษัทสิงคโปร์มีผลสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจการค้ากับบริษัทอเมริกาและยุโรปที่ผลิตรถยนต์ในประเทศจีนด้วย

(5) แนวโน้มแบรนด์รถยนต์ที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ สามารถใช้เป็นประโยชน์เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาผลิตสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ได้แก่ Toyota, Honda, Nissan, Hyundai, Mitzubishi, Mercedes Benz, B M W, Mazda, Kia และ Suzuki เป็นต้น

ที่มา : International Enterprise Singapore, Land Transport Authority and The Straits Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ