ในช่วงปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ ที่ผ่านมาวิกฤติในสถาบันการเงินและปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำให้การค้าโลกและผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย มีอัตราการขยายตัวที่ติดลบมากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ในส่วนของสหภาพยุโรปในปี ๒๕๕๒ ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบเช่นกัน โดยลัตเวียติดลบมากที่สุด (-๑๘.๐%) เอสโตเนีย (-๑๓.๙%) และไอร์แลนด์ (-๗.๖%) ส่วนประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีขนาดตลาดใหญ่ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบด้วยเช่นกัน ได้แก่ สหราชอาณาจักร (-๕.๐%) อิตาลี (-5.0%) เยอรมนี (-๔.๗%) เนเธอร์แลนด์(-๓.๙%) สเปน (-๓.๗%) กรีซ (-๓.๒%) ฝรั่งเศส (-๒.๖%) สำหรับเยอรมนี ในช่วงต่อๆ มาได้กำหนดมาตรการต่างๆ ทางการเงินที่เข้มงวด รัดกุมมากยิ่งขึ้น จึงสามารถผ่านพ้นวิกฤติการเงินมาได้ด้วยดี ทำให้ในปี ๒๕๕๓ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ๒.๖% และในปี ๒๕๕๔ นี้คาดว่าจะขยายตัวอีกประมาณ ๓%
มาตรการที่เข้มแข็งทางการเงินของเยอรมนี อาทิ การไม่สร้างหนี้สาธารณะเพิ่มภายในปี ๒๕๕๙ การห้ามซื้อขายหุ้นลม (naked short selling) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินซื้อขายหุ้น เป็นต้น ได้ทำให้สถานการณ์ด้านการเงิน การคลังในเยอรมนีมั่นคงขึ้นบ้าง แต่การขาดวินัยเรื่องการเงิน การคลัง ของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะ กรีซ สเปน อิตาลี และไอร์แลนด์ ทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มพูนมากขึ้นมาโดยตลอด (รายละเอียดในตารางตัวเลขทางเศรษฐกิจและยอดหนี้สินของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตามแนบ) สำหรับกรีซในปี ๒๕๕๓ มีหนี้สาธารณะมูลค่า ๓๒๘,๕๘๘ ล้านยูโรหรือร้อยละ ๑๔๒.๘ ของ GDP และได้เกิดเป็นผลกระทบทำให้เงินสกุลยูโรมีค่าอ่อนลง นอกจากนี้ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสจะเป็นประเทศต่อๆ ไปที่ต้องขอกู้เงินจากกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินยูโร เหล่านี้ได้ทำให้ประชากรชาวเยอรมันต้องแบกรับภาระหนี้สินที่ประเทศเหล่านี้ก่อขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินและลดความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อ หาวิธีการและมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมที่สุดมาใช้แก้ปัญหาหนี้สาธารณะ และการช่วยพยุงค่าเงินยูโรไม่ให้อ่อนค่าลง ซึ่งมาตรการที่ประกาศใช้กันแล้วจะมีผลทำให้ในปีต่อๆ ไปเยอรมนีมีภาระต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนทั้งสองเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านยูโร และจากการประชุมล่าสุดระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสมีผลสรุปได้ว่า ยังคงไม่มีมาตรการใหม่ใดๆ ในการแก้ไขปัญหาการเงินและหนี้สาธารณะในประเทศสมาชิก เพียงแต่มีข้อเสนอให้ทุกประเทศสมาชิกควรใช้นโยบายการเงินและการคลังเดียวกัน การจัดทำงบประมาณให้สมดุล การลดยอดขาดดุลงบประมาณการยุติการสร้างหนี้ใหม่ ตลอดจนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินซื้อขายหุ้นในทุกประเทศสมาชิก สำหรับเรื่องตราสารหนี้ยุโรปหรือ Eurobonds นั้น ทางฝ่ายเยอรมนียังคงไม่เห็นด้วยที่จะให้จัดทำ เนื่องจากเกรงว่าประเทศที่มีปัญหาด้านการเงินจะใช้โอกาสนี้สร้างหนี้สินขึ้นใหม่ ทั้งนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยของ Eurobonds จะต่ำกว่าอัตราปัจจุบันในประเทศที่มีปัญหาด้านการเงิน สำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจดีจะทำให้มีภาระเพิ่มขึ้น มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น โดยในส่วนของเยอรมนีประมาณว่าจะมีผลกระทบเป็นมูลค่าประมาณ ๔๗,๐๐๐ ล้านยูโร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเยอรมันไม่สามารถรับได้ นอกเหนือจากที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ในส่วนของเยอรมนียังไม่มีนโยบายหรือมาตรการสำคัญใดๆ โดยเฉพาะที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไข คลี่คลายปัญหาต่างๆ เหล่านี้ การตัดสินใจ การกำหนดใช้มาตรการใดๆ จะเป็นไปตามที่ประชุมสหภาพยุโรปที่จะมีการประชุมกันในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่ง สคร.เบอร์ลินจะได้ติดตามและรายงานให้ทราบในโอกาสแรกต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th