ทิศทางค่าแรงของลูกจ้างในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2011 13:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นักวิเคราะห์เครษฐกิจทั่วโลกต่างให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนจะร้อนแรงไปอีกอย่างน้อย ๕ ปี และไม่เกินปี ๒๐๒๐ ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๑ ของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในที่สุด แม้ว่ามีหลายปัจจัยเกื้อหนุนให้จีนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังประสบปัญหามิใช่น้อย โดยเฉพาะทุกวันนี้ประชาชนทั่วไปในจีนมักจะบ่นว่า สินค้ามีราคาแพง รายรับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้รัฐบาลจีนจึงต้องมาพิจารณาเรื่องค่าจ้างแรงงานของประชาชนในจำนวนที่จะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าแรงจึงเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเอาเรื่องค่าจ้างของจีนมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อเป็นการคำนวณราคาสินค้า (ส่งออก) แล้วพบว่า เมื่อก่อนสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่นๆ เพราะจีนมีแรงงานจำนวนมากและเป็นแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก จึงเป็นเหตุให้สินค้าจีนราคาถูกตามไปด้วย สินค้าจีนจึงขายดีทั่วโลก เศรษฐกิจของจีนจึงขยายตัวเร็วมาก (สินค้าราคาถูกของจีนมาจากหลายปัจจัย เช่น ค่าเงินหยวนต่ำกว่าที่เป็นจริง การบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน เป็นต้น)

แรงงานในจีนไม่ได้ถูกเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป ต้องถือว่าปัจจุบันจีนเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานเป็นอันดับต้นๆ ของเอเซีย (ตารางค่าจ้างแรงงานตามตารางที่แนบ) และมีแนวโน้มว่าจีนจะเพิ่มค่าจ้าง/ค่าแรงตามสภาพเศรษฐกิจ ความต้องการแรงงาน และเงินเฟ้อของประเทศ คาดกันว่าค่าจ้างแรงงานในจีนจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ ทุกปี จนถึงปี ๒๐๑๕

ปัจจุบันเรื่องค่าจ้างแรงงานในจีนน่าจะเหมือนกับช่วงที่ไต้หวันและเกาหลีใต้พัฒนาประเทศ เศรษฐกิจเติบโตเร็วมาก ค่าจ้างแรงงานจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายด้านอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ถึงแม้จีนจะมีประชากรมากกว่า ๑,๓๐๐ ล้านคนก็ตาม แต่ดูเหมือนไม่เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วน เจ้าของกิจการต่างกล่าวเช่นเดียวกันว่าแรงงานราคาถูกขาดแคลน ซึ่งก็หมายถึงเจ้าของกิจการในจีนต้องจ่ายค่าจ้างแรงในอัตราที่สูงขึ้น

เจ้าของกิจการที่ประสบปัญหาด้านค่าจ้างแรงงานจำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยการทำให้ผลผลิตของแรงงานสูงขึ้น

(labor Productivity) ปรับใช้เครื่องจักร เครื่องมือกล หรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทดแทนแรงงานราคาถูก ซึ่งหลายกิจการในจีนได้มีการแก้ปัญหาดังกล่าวไปมากแล้ว รวมทั้งการใช้วิธีการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเพื่อความอยู่รอดของบริษัท นอกจากนี้ เจ้าของกิจการบางแห่งได้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีค่าแรงราคาถูกอย่างเช่น เวียดนาม ลาว พม่า เนปาล ฯลฯ ซึ่งนอกจากสามารถผลิตสินค้าราคาถูกแล้วยังสามารถกำจัดเครื่องจักรเก่าที่ล้าสมัยไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะเครื่องจักรอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเบาประเภทอิเล็กโทรนิกส์ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เป็นต้น

รัฐบาลจำยอมให้ค่าจ้างแรงสูงขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันประสบปัญหาทั้งเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ค่าครองชีพจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๕-๗ มิฉะนั้น ความเดือดร้อนด้านค่าครองชีพจะกระทบต่อความสงบอยู่เป็นสุขของประชาชนได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ