รายงานผลการจัดกิจกรรม Thai Food & Fruits Festival ร่วมกับ Forte Village Resort ระหว่างวันที่ ๑-๗ สิงหาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2011 13:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ความเป็นมา

๑.๑ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรมร่วมกับ Forte Village Resort จัดกิจกรรม Thai Food & Fruits Festival เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารและผลไม้ไทยเป็นครั้งที่ ๒ ตามโครงการส่งเสริมการขายสินค้าอาหารและผลไม้ไทยในอิตาลี และจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ ณ Restaurant Cavalieri ภายใน Forte Village Resort เกาะซาร์ดีเนีย ประเทศอิตาลี เพื่อประชาสัมพันธ์อาหารและผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในอิตาลี เนื่องจาก Forte Village Resort เห็นว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกว่าเป็นอาหารสุขภาพ ซึ่งเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนในรีสอร์ต และจากผลการจัดกิจกรรมในปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทางรีสอร์ตจึงต้องการจะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงที่มีแขกเข้าพักมากที่สุดเพื่อสนองความต้องการให้แก่ลูกค้า

๑.๒ Forte Village Resort เป็นรีสอร์ตอิตาลีขนาดใหญ่หรูหราระดับ ๕ ดาว และถือเป็นหนึ่งในรีสอร์ตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีลักษณะเป็นหมู่บ้านรีสอร์ตที่ประกอบด้วยโรงแรมในพื้นที่เดียวกัน ๗ โรงแรม ได้แก่ Villa del Parco, Le Dune, Hotel Castello, LaPineta, Il Borgo, Le Palme และ Il Villaggio (มีห้องพักทั้งสิ้นกว่า ๖๕๐ ห้อง) ปรกติมีลูกค้าในช่วงกรกฎาคม - สิงหาคมประมาณ ๑,๖๐๐ รายต่อวัน โดยรวมมีลูกค้าประมาณ ๑๗๕,๐๐๐ รายต่อปี ซึ่งเป็นลูกค้าระดับผู้มีฐานะดีจากทั้งในอิตาลี (๓๘%) และประเทศต่างๆ ได้แก่ รัสเซีย (๒๐%) อังกฤษ (๑๙%) และอื่นๆ (๒๓%) โดยรีสอร์ตจะคิดค่าบริการแบบ package คือห้องพักรวมค่าอาหาร ๓ มื้อในราคา ๙๘๐ ยูโรต่อคืน และให้แขกที่พักสามารถเลือกทานอาหารในห้องอาหารใดก็ได้ทั้ง ๗ โรงแรม โดยแต่ละห้องอาหารจะให้บริการอาหารที่แตกต่างกันและจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารนานาชาติที่หลากหลายหมุนเวียนกันไป โดยก่อนหน้าการจัดเทศกาลอาหารไทยมีการจัดเทศกาลอาหารเกาหลีมาก่อนซึ่งสนับสนุนโดยสถานทูตเกาหลีด้วย

ทั้งนี้ซาร์ดีเนียเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรองจากเกาะซิซิลีที่มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับดีที่สุดในบรรดาแคว้นทางใต้ โดยเฉพาะเมืองหลวง Cagliari และเมือง Sassari มีรายได้ต่อหัวของประชากรสูงถึง ๑๖.๕๔๐ ยูโรต่อปี

๒. การดำเนินงาน

๒.๑ รีสอร์ตได้จัดจ้างแม่ครัวจากประเทศไทย ได้แก่ คุณยศวดี พิทยาธรชัยศรี และคุณดารุวรรณ ผิวเกลี้ยง โดยสคร.โรมประสานงานกับสมาคมพ่อครัวแห่งประเทศไทยในการคัดและเสนอชื่อแม่ครัวให้รีสอร์ตคัดเลือก และทางรีสอร์ตได้จัดเทศกาลอาหารไทยในลักษณะแบบซุ้มอาหารบุฟเฟ่ต์ในมื้ออาหารค่ำ (ซึ่งรวมค่าอาหารไปแล้วกับค่าโรงแรม) รวมกับอาหารอิตาเลี่ยนในห้องอาหาร Restaurant Cavalieri ในโรงแรม Il Castello ระหว่างวันที่ ๑-๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ โดยให้แม่ครัวเป็นผู้สาธิตการประกอบอาหารและแกะสลักผลไม้ไทยด้วย รายการอาหารได้แก่ แกงเขียวหวานไก่ ต้มยำกุ้ง แพนงเนื้อ ลาบหมู ทอดมัน ข้าวไทย ผัดไทย วุ้นกะทิ ขนมถั่วแปบ ส่วนผลไม้ไทยได้แก่ ส้มโอ สัปปะรด เงาะ แก้วมังกร กล้วยไข่ มะพร้าวน้ำหอม ทั้งนี้ในวันเปิดงาน (วันจันทร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๔) ฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรมได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลอาหารและผลไม้ไทย พร้อมทั้งเชิญหัวหน้าสำนักงานต่างๆ ในทีมไทยแลนด์เข้าร่วมในพิธีเปิดงานด้วย

๒.๒ จัดประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย โดยจัดตะกร้าผลไม้แจกพร้อมแผ่นพับแนะนำผลไม้และวิธีการทานเพื่อให้แก่แขกที่มาพักในโรงแรม Il Castello จำนวน ๒๕๐ ห้อง ประมาณ ๓,๐๐๐ คน (เฉพาะวันแรกที่เข้าพัก ซึ่งโดยปรกติโรงแรมจะจัดตะกร้าผลไม้ท้องถิ่นให้แขกอยู่แล้ว)

๒.๓ ในส่วนการประชาสัมพันธ์งานให้แก่แขกที่เข้าพัก ทางรีสอร์ตได้จะจัดวางแผ่นโฆษณาไว้ตามทางเดินในรีสอร์ต พร้อมทั้งจัดทำใบปลิวประชาสัมพันธ์ใส่ไว้ในห้องพัก นอกจากนี้สคร.โรมได้จัดนำแผ่นพับประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาหารและนวดสปาไทยในอิตาลี เอกสารการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ของไทยจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และแผ่นพับประชาสัมพันธ์การบินไทยเพื่อนำไปวางประชาสัมพันธ์ในโรงแรมด้วย (ดังเอกสารแนบ)

๓. ผลการดำเนินงาน

๓.๑จากการเก็บข้อมูลของรีสอร์ตพบว่า การจัดเทศกาลอาหารและผลไม้ไทยครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก การจัดซุ้มบุฟเฟต์อาหารไทยตลอดระยะเวลา ๗ วันที่จัดโครงการมีแขกมารับประทานอาหารไทยรวมประมาณ ๒,๘๐๐ คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลี่ยน และชาติอื่นๆ โดยเฉพาะแขกส่วนใหญ่ที่เคยไปประเทศไทยมาแล้วมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลิ้มรสอาหารไทยในรีสอร์ตของอิตาลีอีก บางส่วนสนใจที่จะไปท่องเที่ยวประเทศไทยและมีการสอบถามข้อมูลต่างๆ พร้อมทั้งข้อมูลร้านอาหารไทยในอิตาลีด้วย

๓.๒ ในส่วนของแม่ครัว ทางรีสอร์ตได้ให้ความเห็นว่า มีความเป็นมืออาชีพมาก และการนำผลไม้ไทยมาจัดตกแต่งและประชาสัมพันธ์ในช่วงเทศกาลทำให้สร้างบรรยากาศความเป็นไทยและช่วยดึงดูดแขกให้สนใจเข้ามารับประทานอาหารและผลไม้ไทยได้ดีมาก

๓.๓ ทางรีสอร์ตแจ้งว่าต้องการจะจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารและผลไม้ไทยเช่นเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี และมีแผนที่จะเปิดร้านอาหารไทยขึ้นในรีสอร์ตในระยะยาวต่อไปด้วย รวมทั้งต้องการนำเข้าผลไม้ไทยในช่วงฤดูกาลโดยผ่านผู้นำเข้าบริษัท Gagliardi Srl. ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะพร้าวอ่อนที่นำเข้าจากผู้ส่งออกไทยคือบริษัท K.C. Fresh ซึ่งได้คิดค้นวิธีการขนย้ายและวิธีการรับประทานที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคโดยการจัดทำเป็นหูหิ้งพร้อมอุปกรณ์เปิดฝาและแกะเนื้อมะพร้าวอ่อนติดมาพร้อมกับลูกมะพร้าวซึ่งปอกเปลือกในระดับที่จะไม่ทำให้มะพร้าวอ่อนบูดเสียง่ายด้วย ซึ่งทางรีสอร์ตและบริษัท Gagliardi เห็นว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำมะพร้าวอ่อนของไทยในรูปแบบพร้อมรับประทานเข้ามาในตลาดอิตาลี และเห็นว่าเป็น

สินค้าที่มีโอกาสอย่างมากในตลาดโดยเฉพาะการขายในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากในปัจจุบันมะพร้าวที่วางขายในตลาดอิตาลีจะเป็นเนื้อมะพร้าวแก่ ซึ่งหันขายเป็นชิ้นๆ และแช่อยู่ในน้ำเย็น ซึ่งไม่อร่อยและไม่ชวนรับประทาน อย่างไรก็ดีรีสอร์ตแจ้งว่า ผู้ส่งออกต้องไปหาวิธีการปรับปรุงอุปกรณ์ที่ช่วยในการเปิดฝามะพร้าวอ่อนให้ง่ายและสดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ที่บริษัทจัดเตรียมมาพร้อมมะพร้าวอ่อนยังใช้งานได้ไม่ดีนัก ๓.๔ นอกจากนี้ รีสอร์ตยังแสดงความสนใจร่วมทำข้อตกลงกับโรงเรียนการโรงแรมและอาหารเพื่อแลกเปลี่ยนแม่ครัว โดยสคร.โรมได้ประสานงานผ่านสธบ.เบื้องต้นแล้วพบว่า มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ (ABAC) แสดงความสนใจ (อยู่ระหว่างประสานงาน) ทั้งนี้ในช่วงการจัดงาน Thailand Education Expo ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ผู้แทนของรีสอร์ตได้วางแผนจะเดินทางไปเยี่ยมชมงานและลงนามในข้อตกลงดังกล่าว พร้อมทั้งพบหารือกับผู้ประกอบการสปาและผู้ผลิต/ผู้ส่งออกผลไม้ไทยด้วย

๔. สรุปข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

๔.๑ จากการหารือร่วมกับ Mr. Affonso Gagliardi บริษัท Gagliardi Srl. ผู้ผลิตอาติโชกและผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและผลไม้รายใหญ่ของอิตาลี (ปัจจุบันนำเข้าส้มจากสเปน/อาติโชกจากฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้ไทยให้แก่โครงการนี้ ได้ให้ความเห็นว่า ชาวอิตาเลี่ยนยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงและยังยึดติดกับการรับประทานอาหารชาติตนเองมากกว่าอาหารต่างชาติ อีกทั้งอุปสรรคของสินค้าอาหารไทยคือผู้บริโภคอิตาเลี่ยนยังไม่รู้จักตัวสินค้าและวิธีการบริโภค รวมถึงวิธีการเจาะตลาดที่สำคัญคือ การทำให้รูปลักษณ์ของสินค้าง่ายต่อการรับประทาน คุณภาพสินค้าดี มีใบรับรองมาตรฐานระดับโลก แต่สินค้าไทยยังมีปัญหาในประเด็นนี้อยู่ อย่างไรก็ดี บริษัทมีความสนใจนำเข้าผลไม้ไทยมาทดลองตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแผนจะนำเข้าน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มตรา Royal Pearl ซึ่งเป็นน้ำมะพร้าวในบรรจุภัณฑ์พลาสติกรูปมะพร้าวในเดือนกันยายนศกนี้

สำหรับระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้า ปัจจุบันการบินไทยเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ - โรม และกรุงเทพฯ - มิลาน สัปดาห์ละ ๔ เที่ยวในแต่ละเส้นทาง ซึ่งทำให้สะดวกต่อการขนส่งสินค้าอาหาร แต่บริษัทยังเห็นว่า ปริมาณความต้องการของตลาดยังมีอยู่น้อยซึ่งทำให้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ สอท.และสคร.โรมได้เสนอให้บริษัทนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกโดยตรง ซึ่งปัจจุบันนำเข้าผ่านเนเธอร์แลนด์ และผลไม้กระป๋องของไทยมาทดลองตลาดเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น

๔.๒ ผลจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารและผลไม้ไทยในตลาดอิตาลี โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับบนเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจบริการทั้งกลุ่มพ่อครัวและพนักงานนวดสปาไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย โดยทางทางรีสอร์ตต้องการพบหารือกับโรงเรียนด้านการโรงแรมและผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมของประเทศไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือสร้างเครือข่ายระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนบุคลากร การฝึกอบรมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป

๔.๓ โอกาสของสินค้าอาหารและผลไม้ไทยในตลาดอิตาลียังคงมีค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกไทยควรจะต้องคิดค้นและพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความสะดวกและง่ายต่อการรับประทาน นอกเหนือจากการรักษาคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน รวมทั้งยังต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามน่าสนใจ รวมทั้งสามารถรักษาคุณภาพอาหารและผลไม้ให้คงความสดและไม่เน่าเสียง่าย

๔.๔ การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารและผลไม้ไทยในตลาดอิตาลีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านตัวสินค้าและวิธีรับประทาน และโดยที่ในปัจจุบันคนอิตาเลี่ยนมีแนวโน้มที่สนใจทดลองบริโภคอาหารชาติอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารชาติเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นในอิตาลีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของอาหารและผลไม้ไทยยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยคนอิตาเลี่ยนที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยมาแล้วก็จะรู้จักและชื่นชอบอาหารและผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากมีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารและผลไม้ไทยในอิตาลี โดยเน้นด้านคุณภาพ/ประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งแนะนำวิธีการรับประทานให้มากยิ่งขึ้นและอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยส่งเสริมให้คนอิตาเลี่ยนซึ่งมีจำนวนเกือบ ๖๐ ล้านคนได้รู้จักและเกิดความสนใจที่จะบริโภคอาหารและผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้น ประกอบกับแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวอิตาเลี่ยนที่เดินทางไปไทยได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปีและคาดว่าในปี ๒๕๕๔ จะสูงถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนคนอิตาเลี่ยนที่รู้จักและชื่นชอบอาหารและผลไม้ไทยให้มากขึ้นด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ