ในปัจจุบันคลองปานามามีข้อจำกัดในการขยายปริมาณการรับเรือบรรทุกสินค้าโดยมีความสามารถรับเรือผ่านคลองได้ประมาณ 40 ลำต่อวัน หรือ 14,000 ลำต่อปีหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของเรือบรรทุกสินค้าทั่วโลก คลองปานามาเป็นคลองที่เชื่อมการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอทแลนติก มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร และมีระบบล็อค (lock system) ที่ยกหรือลดระดับของเรือขึ้นลงในการเดินทางผ่านคลอง 2 ช่องทาง ที่มีขนาดความยาว 320 เมตร ความกว้าง 33.53 เมตร ซึ่งเป็นมาตรฐานกำหนดขนาดของเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ที่เรียกว่า Panamax แต่เรือขนคอนเทนเนอร์และบรรทุกน้ำมันประเภท supertanker ได้ขยายไปเกินมาตรฐานดังกล่าวแล้ว ข้อจำกัดด้านความแคบของคลองปานามาส่งผลให้การเดินเรือผ่านเข้าออกคลองมีความแออัดและล่าช้า และไม่สามารถรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่จากสหรัฐฯญี่ปุ่น จีนและชิลี เป็นต้นได้มีการศึกษาประมาณการณ์ว่า ภายในปี 2011 ร้อยละ 37 ของเรือบรรทุกเดินทะเลทั้งหมดจะมีขนาดที่เกินขนาด Panamax
การขยายคลองปานามาจึงเป็นเรื่องจำเป็น มิเช่นนั้น ประเทศปานามาอาจจะเสียธุรกิจด้านนี้ให้กับระบบการขนส่งสินค้าประเภทอื่น เช่น ระบบ US Intermodal transport เป็นต้น รัฐบาลของปานามาจึงได้เริ่มโครงการขยายคลองปานามา เมื่อปลายปี ค.ศ. 2006 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2014 มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 15-25 พันล้านเหรียญสหรัฐทั้งนี้การปรับปรุงคลองปานามาที่สำคัญ คือ การสร้างระบบล็อค (lock) ยกระดับเรือช่องที่ 3 ขนานไปกับ 2 ช่องทางเดิม ช่องทางล็อคใหม่นี้ จะมีความยาว 426.72 เมตร และความกว้าง 54.86 เมตร ความลึก 18.29 เมตร และจะใช้ระบบประตูน้ำแบบ rolling gates แทนระบบเดิมที่เป็นแบบ miter gates
การขยายระบบล็อคใหม่ของคลองปานามาจะเพิ่มความสามรารถการรับเรือใหญ่ได้ถึงขนาดความยาว 366 เมตร กว้าง 49 เมตรและกินน้ำลึก 15 เมตรซึ่งเพิ่มความสามารถในการบรรทุกสินค้าของเรือใหญ่ ให้สามารถบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 ,000 คอนเทนเนอร์
รายได้จากคลองปานามาเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศปานามา มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 30 ของ ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ มูลค่าประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารและดูแลรักษาคลองฯ ประมาณ 2 พันล้านเหรียญฯ และให้ผลกำไรอย่างเห็นได้ชัดเจน 1 พันล้านเหรียญฯ ได้มีการคาดการณ์ว่า การขยายคลองปานามาจะมีเพิ่มรายได้ถึง 6 พันล้านเหรียญฯ ภายในปี 2025 แหล่งรายได้การเดินเรือผ่านคลองปานามาที่สำคัญ มาจากการขนส่งสินค้าจากประเทศจีนไปยังชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ เดิมสินค้าเกษตรมีความสำคัญมากที่สุด แต่ในปัจจุบัน สินค้าวัตถุดิบและเชื้อเพลิง กับรถยนต์ ได้เพิ่มความสำคัญมากขึ้น
เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2011 ได้มีรายงานข่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจของปานามากำลังพิจารณาการจัดตั้ง sovereign wealth fund ในปี 2014 ด้วยความช่วยเหลือของ IMF เพื่อการสะสมรายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการขยายคลองฯ เพื่อการลงทุนสำหรับอนาคตของปานามาในลักษณะของประเทสชิลีและนอร์เวย์
เศรษฐกิจของปานามาได้มีอัตราการขยายตัวสูงในระยะเวลาต่อเนื่องมาหลายปี เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา ในปี 2009 ปานามาได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการลงทุนขยายการขุดคลองปานามา ทำให้มีการก่อสร้างและการขยายด้านการบริการอย่างมาก องค์การ Panama Economy Insight ได้พยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจของปานามาในปี 2554 ว่าจะมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.2 ส่วนปี 2555 และ 2556 จะมีอัตราการขยายตัวในอัตราร้อยละ 13 และ 11 ตามลำดับซึ่งจะช่วยให้ปานามาสามารถลดภาระหนี้ต่างประเทศจากร้อยละ 45 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ เป็นร้อยละ 35 ภายในปี 2014 หรือประมาณ 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่หน่วยงานวิจัยต่างประเทศคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจของปานามาในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ในระยะสามปีข้างหน้า
นอกจากนี้แล้ว บริษัทจัดอันดับหนี้ (credit rating agency) Fitch Ratings ได้ยกระดับเครดิตหนี้ระหว่างประเทศของปานามาเป็น
BBB stable ซึ่งถือว่าเป็น investment grade โดยให้เหตุผลว่า ปานามาได้ปรับปรุงการบริหารเศรษฐกิจ เช่น การปรับโครงสร้างภาษีที่ประสบผลสำเร็จ และภาระหนี้ระหว่างประเทศได้ลงลงในปีที่ผ่านมา ที่ทำให้รัฐบาลของปานามาสามารถระดมการลงทุนเพิ่มขึ้น
เดิมภาคเหมืองแร่ของปานามามีความสำคัญไม่มากเท่าไหร่ เทียบได้ประมาณร้อยละ 0.5 ของผลผลิตมวลรวมฯ แต่การขุดทองคำได้เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อราคาทองได้เพิ่มขึ้น ในปี 2008 ได้มีการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งทองโดยบริษัทสำรวจต่าง ๆ จากแคนาดา ต่อมาในปี 2009 บริษัท Bellhaven Copper & Gold Inc ของประเทศแคนาดาที่มีกิจการด้านเหมืองทองแดงในปานามาและโคลัมเบียอยู่แล้ว ได้ซื้อเหมือง Cerro Quema ที่มีปริมาณทองสำรองประมาณ 6 ล้านตัน จากบริษัท Central Sun Mining Inc และได้เริ่มทำการผลิตทองคำในปีเดียวกันนั้น ในปริมาณการผลิต 48 ,000 ออนซ์ต่อปี
เหมืองที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้แก่ เหมือง Mollejon ของบริษัท Minera Petaquilla S.A. ซึ่งมีหุ้นส่วนสำคัญคือ บริษัท INMET จากประเทศแคนาดา ได้เริ่มทำการผลิตทองในปี 2010 ในปริมาณ 7 ,000 ออนซ์ต่อเดือน
ในปี 2009 ปานามาได้ส่งออกทองเป็นมูลค่ารวม 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสามเท่าของปี 2008 ส่วนในปี 2010 การส่งออกทองได้กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับสองของปานามาในมูลค่าประมาณ 69 ล้านเหรียญฯ ไปยังประเทศแคนาดาเป็นสำคัญ ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2011 ปานามาได้มีการส่งออกทองมูลค่ารวม 43.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
http://www.panamaeconomyinsight.com.pa/english.html
http://www.centralamericadata.com/en/topics/go/Petaquilla+M inerals+Ltda.
http://www.globalsecurity.org/military/systems/ship/contain er-types.htm
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th