สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 26, 2011 14:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โตโยต้า มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมิถุนายนจำนวน 249,660 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 15.9 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 20.8 หรือจำนวน 126,127 คัน

          โตโยต้ากำลังมีความกังวลใจเกี่ยวกับกระแสข่าวค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของไทย ว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเกือบทุกรายก็แสดงความกังวลต่อนโยบายข้อนี้เช่นกัน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำอาจต้องได้รับการปรับให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 20 บริษัทอาจต้องหาทางออกโดยการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบจากอินเดียหรืออินโดนีเซียได้ ผู้บริหาร         โตโยต้าเปิดเผยว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในบริษัทเนื่องจากค่าแรงคิดเป็นอัตราส่วนเพียงร้อยละ 10 ของต้นทุนการผลิต แต่บริษัทกังวลว่าการปรับค่าแรงฯจะทำให้ supplier ได้รับผลกระทบและขายชิ้นส่วนประกอบฯในราคาที่แพงขึ้นให้กับโตโยต้า

ฮอนด้ามอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมิถุนายนจำนวน 43,289 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 50.6 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 60.2 หรือจำนวน 12,561 คัน

นักลงทุนในยุโรปต่างทยอยขายหุ้นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะหุ้นของฮอนด้ที่มีราคาต่ำที่สุดในรอบ 25 เดือน สาเหตุหลักของการขายหุ้นออกของนักลงทุนคือ ปัญหาการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งอยู่ในระดับ 76+เยน ต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว และยังคงแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆต่อไป จนนักลงทุนเกิดความกังวลว่าจะเกิดปัญหาในการส่งออก และรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นจะมีราคาสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์จากเกาหลีใต้ได้

ปัญหาเรื่องค่าเงินเยนนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ฮอนด้าได้จัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ที่แม็กซิโก ซึ่งจะเริ่มสายการผลิตในปี 2014 นี้ โดยโรงงานแห่งใหม่จะผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก รุ่น FITS เป็นหลัก และจะป้อนตลาดอเมริกาซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีร่วมกับแม็กซิโก และมีความต้องการราว 60,000 คันต่อปี

นิสสัน มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมิถุนายนจำนวน 102,390 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.9 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 หรือจำนวน 75,091 คัน

ปัญหาค่าเงินเยนส่งผลกระทบต่อนิสสันน้อยกว่าผู้ผลิตรายอื่น เนื่องจากผลประกอบการในตลาดประเทศจีนได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

นิสสันและมิตซูบิชิ บรรลุข้อตกลงร่วมในการร่วมมือกันผลิตรถยนต์ โดยมิตซูบิชิตกลงจะซื้อรถแวนแบบ NV-400 Original-equipment-manufacturing:OEM (รถที่ยังไม่ได้ติดยี่ห้อ) จากนิสสันเพื่อนำไปตกแต่งและขายในชื่อมิตซูบิชิ ซึ่งนิสสันเองจะได้ประโยชน์จากการคงการผลิตรถยนต์ในประเทศมากขึ้นและลดการส่งออกซึ่งกำลังมีปัญหาด้านค่าเงินลง ส่วนมิตซูบิชิที่ต้องการจะขยายสายการผลิตไปยังรถแวน ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้าน R&D ลงไป นอกจากนี้มิตซึบิชิก็กำลังพิจารณาที่จะซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของนิสสัน รุ่น Teana เพื่อเป็นการขยายตลาดรถยนต์ในตลาดบนด้วย

มิตซูบิชิ มอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมิถุนายนจำนวน 59,069 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 8.1 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 หรือจำนวน 47,096 คัน

มาสด้า มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมิถุนายนจำนวน 80,114 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.36 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 หรือจำนวน 72,293 คัน

มาสด้ากำลังพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมัน โดยยังไม่สนใจในการพัฒนาเครื่องยนต์แบบไฮบริดตามผู้ผลิตรายใหญ่ๆของประเทศ นายทากาชิ ยามาโนะอูจิ ประธานบริษัทกล่าวว่า ความต้องการของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะยังคงมีปริมาณมากขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลงอีกอย่างน้อย 10 ปี จากปัจจุบันที่ตลาดมีขนาดใหญ่ราว 60 ล้านคัน อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านคันในอนาคตอันใกล้ ซึ่งบริษัทคาดการณ์ว่าส่วนแบ่งของรถไฮบริดหรือรถไฟฟ้าคงมีอัตรส่วนไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนรถทั้งหมด นั่นหมายความว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อไปอีกนาน ในขณะนี้มาสด้าสามารถผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเท่ากับรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้าที่ 25 กิโลเมตร/ลิตร

มาสด้าเปิดเผยต่อไปว่าจุดคุ้มทุนของการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นของมาสด้าอยู่ที่จำนวน 1 ล้านคันต่อปี (รวมการผลิตเพื่อการส่งออก) หากอัตราแลกเปลี่ยนเยนต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งกว่า 70 เยน เมื่อไรบริษัทจะไม่สามารถคงการผลิตในประเทศได้อีกต่อไป

ซูซูกิ มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมิถุนายนจำนวน 75,475 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 22.9 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 23 หรือจำนวน 18,919 คัน

ซูซูกิ ได้เริ่มการพูดคุยกับ โฟล์ค-สวาเก้น ผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าแก่จากประเทศเยอรมันในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจระหว่างกันโดยทางซูซุกิหวังที่จะได้เรียนรู้ Green Technology และระบบ ไฮบริดจากผู้ผลิตเยอรมัน ขณะที่โฟล์คก็ต้องการศึกษาการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับต้นทุนการผลิตจากฝ่ายญี่ปุ่น

โดยสรุป ผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในเดือนมีนาคม เริ่มคลี่คลายลงแล้วจากการสั่งซื้อชิ้นส่วนประกอบจาก Supplier ทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นมาทดแทน แต่ปัญหาสำคัญที่เรื้อรังมานานและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้ คือปัญหาเงินเยนแข็งค่า ซึ่งแม้แต่นักวิชาการในญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าแก้ไขได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับประเทศไทยคือปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทซึ่งเป็นสิ่งที่โรงงานญี่ปุ่นในประเทศไทยมีความกังวลมากกว่าจะส่งผลให้สินค้าจากประเทศไทยมีราคาแพงขึ้น และไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม

สุมิโตโม รับเบอร์ ผู้ผลิตยางรถยนต์อันดับ 6 ของโลกจะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยอีก 1 หมื่นล้านเยนเพื่อให้โรงงานในประเทศไทยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 150 หรือสามารถผลิตยางรถยนต์ได้ 1 แสนเส้นต่อปีภายในปี 2014 เมื่อเทียบกับผู้นำตลาดคือบริดจ์สโตนที่มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดชิกะในประเทศญี่ปุ่นที่มีกำลังการผลิตในปัจจุบัน 46,000 เส้นต่อวัน ส่วนโรงงานขนาดใหญ่แห่งอื่นก็มีกำลังการผลิตระหว่าง 40,000-50,000 เส้นต่อวันเท่านั้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ