ตลาดข้าวในประเทศอิตาลี (HS CODE: ๑๐๐๖ ๑๐๑๐ - ๑๐๐๖ ๔๐๐๐)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 29, 2011 10:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ลักษณะทั่วไป

พันธุ์ข้าวในโลกมีอยู่กว่า ๑๐๐,๐๐๐ สายพันธุ์ โดยมีเพียงกว่า ๕,๐๐๐ สายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักและนำมาใช้เพาะปลูก ส่วนใหญ่เป็นข้าวเจ้า (Indica) (ลักษณะเม็ดเรียวยาว) ส่วนในประเทศอิตาลีมีเพียงประมาณ ๕๐ สายพันธุ์เท่านั้นที่มีการเพาะปลูกอยู่ในประเทศอิตาลี

ผลผลิตข้าวทั่วโลกมีทั้งสิ้นประมาณ ๕๕๒ ล้านตัน บนพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้นกว่า ๑๕๓ ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่เท่ากับห้าเท่าของพื้นที่ของประเทศอิตาลี โดยในยุโรปเองมีผลผลิตข้าวทั้งสิ้นประมาณ ๒ ล้านตัน

๒. ภาวะการผลิต

อิตาลีเป็นผู้นำการผลิตข้าวในกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญในภูมิภาคยุโรป (ซึ่งได้แก่ อิตาลี สเปน โปรตุเกส กรีซ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ที่มีผลผลิตข้าวเปลือกรวมกันแล้วถึง ๒.๕ ล้านตัน) โดยมีผลผลิตข้าวเปลือกคิดเป็นสัดส่วนถึง ๖๘% ของผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของสหภาพยุโรป และมีผลผลิตต่อพื้นที่ (เฮกตาร์) สูงที่สุดในโลก มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมทั้งสิ้นกว่า ๒๐๐,๐๐๐ เฮกตาร์ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ (๙๐%) จะอยู่บริเวณตอนเหนือของอิตาลีแถบหุบเขาโป (Po Valley) ได้แก่เมือง Novara Vercelli, Pavia, Milan และ Alessandria โดยในปัจจุบันเมือง Pavia ถือว่าเป็นเมืองหลวงของข้าว เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี (๗๘,๐๐๐ เฮกตาร์)

ข้อมูลจาก Eurostat ปรากฏว่า ในปี ๒๕๓๘ อิตาลีผลิตข้าวเปลือกและข้าวสารลดลง ซึ่งอาจเป็นผลจากการปฎิรูปการเกษตรร่วม (CAP reform) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการด้านการผลิตข้าวของสหภาพยุโรป และมีผลทำให้อัตราภาษีการนำเข้าข้าวลดลง อย่างไรก็ดีในช่วงระหว่าง ปี ๒๕๔๖ - ๒๕๕๐ อิตาลีกลับมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ ๑.๒% เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยในปี ๒๕๕๓ อิตาลีมีผลผลิตข้าวเปลือกสูงถึง ๑.๖๗ ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น ๒๓๘,๔๕๘ เฮกตาร์ (๑ ใน ๓ ของผลผลิตใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศ)

ข้าวที่เพาะปลูกในอิตาลีมีอยู่ประมาณ ๕๐ สายพันธุ์ โดยในอดีตอิตาลีปลูกข้าว Risotto เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันอิตาลีเริ่มหันมาปลุกข้าวมเล็ดยาวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ข้าวเมล็ดกลม (ใช้ทำซุปและขนมเค้ก) ข้าวเมล็ดสั้น (ใช้ทำอาหาร เช่น timballi, sart๙, ข้าวตระกูลเดียวกับ risotto เป็นต้น) และข้าวเมล็ดยาว (สำหรับทำ risotto) โดยสายพันธุ์ที่นิยมบริโภคมากคือ Arborio, Carnaroli และ Vialone Nano

ตารางที่ ๑ แสดงผลผลิตข้าวในอิตาลีระหว่างปี ๒๕๔๘ - ๒๕๕๐

หน่วย พันตัน

สินค้า                 ปี ๒๕๔๘          ปี ๒๕๔๙        ปี ๒๕๕๐      เฉลี่ยต่อปี
ข้าวเปลือก              ๑,๓๗๙           ๑,๕๒๓        ๑,๔๔๘          ๑.๒%
ข้าวกล้อง                  ๓๓              ๔๗           ๙๑           ๒๙%
ข้าวสาร                  ๙๓๔           ๑,๑๗๘          ๙๗๖          ๑.๑%
ข้าวหัก                    ๓๓              ๗๖           ๗๒           ๒๒%
ที่มา Eurostat (๒๕๕๒)

ผลของการปฏิรูปการเกษตรร่วม (CAP reform) ซึ่งทำให้ภาษีนำเข้าข้าวลดลง ส่งผลให้การผลิตข้าวของอิตาลีมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากถูกทดแทนด้วยการนำเข้า ทั้งนี้ความแตกต่างของราคาข้าวเปลือกในอิตาลีแสดงไว้ในตารางข้างล่างนี้ ความแตกต่างของราคาข้าวเปลือกจะแตกต่างกันไปตามประเทศผู้ผลิตเนื่องจากข้าวต่างคุณภาพกัน หรือราคาต้นทุนที่แตกต่างกัน (เช่น ค่าแรง) ความผันผวนของราคาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความเคลื่อนไหวของราคาตลาดโลก เนื่องจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นซึ่งทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มตามไปด้วย

ตารางที่ ๘ ราคาผู้ผลิตในอิตาลี ในช่วงปี ๒๕๔๗ - ๒๕๕๐

หน่วย ยูโร/ตัน

สินค้า                          ปี ๒๕๔๖                 ปี ๒๕๔๘                  ปี ๒๕๕๐
ข้าวเปลือก                       ๒๖๙                      ๑๙๗                     ๒๗๔
ที่มา FAOSTAT (๒๕๕๒)

จากข้อมูลของอุตสาหกรรมผู้ผลิตข้าว Risotto ปรากฏว่ามีการขยายการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้ามีเพียงเล็กน้อย ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ได้ขยายการผลิตข้าวเมล็ดยาวเพิ่มมากขึ้นด้วย (๑ ใน ๓ ของมูลค่าการผลิตในอิตาลี) เนื่องจากประเทศในสหภาพยุโรปมีความต้องการข้าวเมล็ดยาวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตยังได้เพิ่มการผลิตข้าวชนิดพิเศษต่างๆ ให้มีความหลากหลายของข้าวมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้ค้าปลีกที่ต้องการเก็บสต๊อกข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวชนิดแปลกๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง

ทั้งนี้อิตาลีมีจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตข้าวราว ๖๐ บริษัท โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ จำนวน ๔ ราย (ส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า ๕๐%) ซึ่งขายข้าวภายใต้แบรนด์ตนเองดังนี้

ทั้งนี้ Gallo ถือเป็นแบรนด์ข้าวชั้นนำในอิตาลี มียอดขายในตลาดถึงหนึ่งในสี่ของยอดขายข้าวทั้งหมด สินค้าหลักของแบรนด์นี้ได้แก่ ข้าว Risotto (Arborio, carnaroli และ Vialone Nano) ข้าวกล้องผสมข้าวขาว (ข้าวผสมกับ barley, speit, kamut และข้าวโอ๊ต) ข้าวหอมมะลิและข้าวบาสมาติ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดข้าวอิตาลีได้แก่

  • Risco Scotti - http://www.risoscotti.it เป็นบริษัทผู้นำด้านการตลาดทั้งในเรื่องการผลิต วิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์และการค้าข้าว
  • Riso Gallo - http://www.risogallo.it เป็นผู้นำตลาดด้านข้าว risotto
  • Risoceriotti - http://www.risoceriotti.it
  • La Fagiana - http://www.lafagiana.com
  • Riso & C. La Gallinella - http://www.lagallinella.eu
  • Riseria Tarantolla della Bruciata - http://www.ritalba.com - เป็นผู้ผลิตข้าว risotto
  • Euricom - http://www.euricom.it

๓. การบริโภค

จากรายงานของ Eurostat ปรากฏว่า ในปี ๒๕๕๐ อิตาลีบริโภคข้าวเปลือก ๑.๔ ล้านตัน ข้างกล้อง ๘๙,๐๐๐ ตันและข้าวหัก ๒๗,๐๐๐ ตัน โดยข้าวเปลือกและข้าวกล้องจะใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว ส่วนข้าวหักใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ การบริโภคข้าวสารและข้าวหักลดลง ในขณะที่การบริโภคข้าวกล้องเพิ่มขึ้น

ในส่วนของข้าวสาร อิตาลีเป็นประเทศผู้บริโภคข้าวสารรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป โดยมีอัตราบริโภคข้าวสารต่อหัวสูงเมื่อเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆ โดยในปี ๒๕๕๐ มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย ๗.๓ กิโลกรัมต่อหัวต่อปี อย่างไรก็ดีในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๘ - ๒๕๕๐ อิตาลีมีการบริโภคข้าวลดลงเฉลี่ย ๒.๕% ต่อปี เนื่องจากคนอิตาลีหันไปบริโภคอย่างอื่นแทน และในปี ๒๕๕๓ มีอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ยเพียง ๔.๕ กิโลกรัมต่อหัวต่อปี ประชากรชายมีอัตราการบริโภคข้าวสูงกว่าหญิง และประชากรในช่วงอายุระหว่าง ๒๕-๔๔ ปีมีอัตราการบริโภคข้าวสูงสุดส่วนประเภทของข้าวที่บริโภคหลักคือ ข้าวขาว ซึ่งมีอัตราคงที่มา ๒๐ ปีแล้ว ในขณะที่ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) (ใช้ทำรีซอตโต้หรือ rice salad) มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคอายุน้อยที่อาศัยอยู่ในภาคกลางและใต้ของอิตาลี

ในปัจจุบันมีการนำข้าวไปใช้ในการปรุงอาหารอิตาเลี่ยนมากขึ้น โดยใช้ทั้งพันธุ์เมล็ดสั้นและเมล็ดยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือมีการบริโภคข้าว Risotto ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมในอิตาลี (ใช้ข้าวเมล็ดสั้น) ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงทุกร้านจะต้องมีอาหารจาน Risotto ที่เป็นสูตรเฉพาะของร้าน ทั้งนี้คนอิตาเลี่ยนชื่นชอบรสชาดครีมและและความนุ่มลิ้นของรสชาติอาหารดังกล่าว โดยเมล็ดข้าวยังคงกรุบกรอบ (Al Dente) และง่ายต่อการปรุง อาหารจาก Risotto ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Alborio, Carnaroli และ Vialone Nano

อย่างไรก็ดีการบริโภคข้าวชนิดใหม่ๆ ในอิตาลียังอยู่ในระดับต่ำ การปรุงอาหารแบบใหม่ๆ ยังคงไม่เป็นที่นิยม เช่น การนำข้าวไทยมาใช้ นอกจากนี้อาหารสไตล์อเมริกันก็ยังไม่ได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลาย ยกเว้นในกลุ่มคนหนุ่มสาว

ทั้งนี้การที่มีผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาพำนักในอิตาลีมากขึ้น และคนกลุ่มนี้เคยทานข้าวเป็นอาหารหลักในประเทศของตน ทำให้อุตสาหกรรมอาหารในอิตาลีปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินซีวิตรูปแบบใหม่ และเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ข้าวในรูปแบบใหม่ๆ พร้อมทานได้ทันทีเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น

แนวโน้มการบริโภค

  • ผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบอเมริกัน: โดยทั่วไปแล้วชาวอิตาลีคล้ายกับชาวเบลเยี่ยมและชาวฝรั่งเศสที่มีความภาคภูมิใจในอาหารประจำชาติของตนและยากที่จะยอมรับอาหารแบบอเมริกัน (Fast Food) เมื่อเทียบกับชาวยุโรปชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้กลับมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากการมีซุปเปอร์มาร์เก็ตระดับนานาชาติที่เข้ามาขยายสาขาทั่วประเทศอิตาลีจำนวนมาก
  • คุณภาพและแบรนด์สินค้าของผู้จัดจำหน่าย ด้วยเหตุที่ชาวอิตาลีเป็นชนชาติที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมและพิถีพิถันในเรื่องอาหาร จึงทำให้ยอดขายของสินค้าที่ใช้ตราสินค้าของผู้จัดจำหน่ายต่ำกว่าอัตรายอดขายเฉลี่ยโดยรวมของสหภาพยุโรป และมักมองว่าสินค้าที่ใช้ตราสินค้าของผู้จัดจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ ผู้ประกอบการของไทยที่สนใจตลาดอิตาลีจึงควรจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างยิ่ง
  • ความสะดวกสบาย อิตาลีมีความต้องการอาหารประเภทพร้อมทานที่ค่อนข้างจะล้าหลังกว่าชาติอื่นๆ ในสหภาพยุโรป แต่ด้วยอัตราขยายตัวของแรงงานหญิงซึ่งแต่เดิมเป็นแม่บ้านปรุงอาหาร จึงทำให้ความต้องการอาหารประเภทที่ช่วยประหยัดเวลาในการปรุงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ชาวอิตาลียังซื้อเตาอบไมโครเวฟมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการกระตุ้นความนิยมในอาหารพร้อมรับประทานให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ตลาดสำหรับอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานจึงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่เน้นเพื่อสุขภาพ สร้างความสะดวกยิ่งขึ้นและมีความหลากหลายของรูปแบบผลิตภัณฑ์
  • ตราสินค้า ผู้บริโภคข้าวในอิตาลีให้ความสำคัญต่อตราสินค้าเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากจำนวนของตราสินค้าข้าวที่มีอยู่มากมาย

๔. ช่องทางการจัดจำหน่าย

ผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าจะนำเข้าสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกต่างชาติ และนำบรรจุใส่ถุงในขนาด ๑ กิโลกรัม ๕ กิโลกรัมและจึงส่งไปกระจายสินค้าตามร้านค้าปลีกต่างๆ ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ ฯลฯ และขายให้ผู้บริโภคโดยตรงต่อไป ทั้งนี้ชาวอิตาลีนิยมจับจ่ายซื้อสินค้าจากหลายแหล่ง ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ๔๖.๑% ร้านขายของชำ ๒๘% ไฮเปอร์มาร์เก็ต ๑๗% และอื่นๆ ๘.๙%

๔.๑ ผู้แทนจำหน่าย/โรงสี/ผู้บรรจุกระป๋อง

ช่องทางการค้าหลักคือผู้แทนจำหน่ายสินค้าเกษตร โรงสีหรือผู้บรรจุกระป๋องและผู้ผลิตสินค้าอาหาร (ผู้ผลิตขนาดกลางและย่อมเป็นผู้ผลิตหลักของอุตสาหกรรมอาหารอิตาเลี่ยน) ส่วนบริษัทในอุตสาหกรรมข้าวส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจครอบครัวและมีจำนวนพนักงานน้อย โรงสีข้าวในอิตาลีมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๑๖ โรง (ส่วนใหญ่อยู่ในเขตลอมบาร์ดีและเปียมอนเต้) โดย ๕๐% มีชาวนาส่งข้าวให้ และ ๓๐% มีสหกรณ์เกษตรส่งสินค้าให้

โครงสร้างการกระจายสินค้าแบบดั้งเดิม เช่น ร้านค้าปลีกและการขายตรงสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ยังคงมีควบคู่ไปกับร้านค้าส่งที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นตามรูปแบบพฤติกรรมการจัดซื้อสินค้า outlet ที่มีส่วนในการขายตรงให้แก่ผู้บริโภคได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต

รายชื่อผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ๆ ในอิตาลีได้แก่

  • Bonduelle Italia - http://www.bonduelle.it
  • Risco Scotti - http://www.risoscotti.it เป็นผู้นำด้านการตลาดทั้งในเรื่องการผลิต วิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์และการค้าข้าว
  • Orisa - tel. (+39) 066865790 เป็นสหกรณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งอยู่ในเขต Campidano plain ในเกาะ Sardinia ทั้งนี้ Risco Scotti เป็นผู้ดูแลวงจรการผลิตสินค้าทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

รายชื่อผู้นำเข้าข้าวในอิตาลีดังแนบ

๔.๒ การค้าปลีก

การกระจายตัวด้านการค้าปลีกในภาคเหนือ/ใต้มีความแตกต่างกัน โดยในภาคเหนือของอิตาลีมีไฮเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้ามากกว่า ในขณะที่ภาคใต้ล้าหลังกว่ามีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ร้านและมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ยังคงไม่พัฒนา คนอิตาเลี่ยนทางใต้ยังนิยมวิธีการซื้อสินค้าแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเริ่มเป็นที่นิยมในภาคเหนือสอดคล้องกับจำนวนซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เพิ่มมากขึ้น

การค้าปลีกในอิตาลียังคงแยกส่วนกันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป และอุตสาหกรรมอาหารของอิตาลีมีการผสมผสานระหว่างแบบดั่งเดิมและแบบสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ร้านขายสินค้าอาหารตามถนนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการค้าปลีก และมีสถานะแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมด้วยการเสนอสินค้าที่มีคุณภาพที่ดี โดยในปัจจุบันร้านค้าแบบเครือข่ายในอิตาลีนิยมซื้อสินค้าจากผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าในท้องถิ่น อย่างไรก็ดีคาดว่าจะมีการนำเข้าโดยตรงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหญ่ เนื่องจากระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหญ่เหล่านี้ต้องเข้าไปอยู่ในระบบซัพพลายเชนมากขึ้น ทั้งนี้เครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่และตัวแทนจัดซื้อจะตั้งอยู่ในเขตใกล้เมืองมิลาน

อิตาลีเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในสหภาพยุโรปที่ระบบการค้าปลีกยังถูกควบคุมโดยสหกรณ์และกลุ่มผู้จัดซื้อ ร้านค้าปลีกแตกต่างจากกลุ่มผู้จัดซื้อตรงที่ร้านค้าปลีกมีร้านของตนเองและบริหารจัดการเอง

รายชื่อผู้จัดซื้อรายสำคัญในภาคการค้าปลีกอาหารของอิตาลีโดยมีสำนักงานตั้งอยู่ใน มิลานมีรายชื่อดังต่อไปนี้

  • Insieme CMS โทร. +๓๙ ๐๒๖๖๙๘๗๔๓๓
  • Intermedia โทร. +๓๙๐๒๓๓๙๑๑๓๐๘
  • Interdis - http://interdis.it
  • Sirio โทร +๓๙ ๐๒๘๙๓๐๙๒๖๓
  • Selex โทร +๓๙ ๑๒๔๘๔๐๒๙๐๐

สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นช่องทางจัดจำหน่ายหลัก โดยซูเปอร์มาร์เก็ตจะสั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิตและ/หรือผู้นำเข้าเอง แม้แต่ผู้บริโภคที่เป็นชนกลุ่มน้อยในอิตาลีที่จัดได้ว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของผลิตภัณฑ์ข้าวก็มีแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปคือนิยมซื้อสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ทั้งนี้ตามชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตจะพบสินค้าที่มีขนาดบรรจุที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สินค้าภายใต้ตราสินค้าของผู้จัดจำหน่ายเองซึ่งมีราคาถูกกว่า รวมไปถึงมีความหลากหลายของส่วนผสมเครื่องปรุงต่างๆ สำหรับการปรุงอาหารต่างชาติ

นอกจากนี้ร้านค้าขายของชำขนาดเล็ก ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของลดราคาเริ่มมีบทบาทสำคัญในการจับจ่ายซื้อของคนอิตาลี

รายชื่อร้านค้าปลีกในอิตาลีได้แก่

  • Coop - http://www.e-coop.it เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต
  • Mercatone Uno - http://www.mercatoneuno.com เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต
  • A&O selex - http://www.metro.de เป็นผู้ค้าปลีกภายใต้ชื่อต่างๆ กระจายอยู่ทั่วอิตาลี ได้แก่ Familia, C+C และ A&O
  • Auchan - http://www.aldi.com เป็นผู้ค้าปลีกภายใต้ชื่อต่างๆ กระจายตัวอยู่ทั่งอิตาลี ได้แก่ Sma, Cityper et Simply Market
  • Rewe - http://www.rewe-group.it เป็นผู้ค้าปลีกภายใต้ชื่อต่างๆ กระจายตัวอยู่ทั่งอิตาลี ได้แก่ Billa, Penny และ Standa
  • Famila - http://www.famila-nordwest.de เป็นร้านค้าปลีกขนาดย่อม
  • Kaiser's Tengelmann AG - http://www.kaisers.de เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต

โครงสร้างราคา

ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไปตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ตัวกลางในอุตสาหกรรม ราคาที่แตกต่างและมาร์จินกำไรที่เพิ่มขึ้นไปตามช่องทางการจำหน่าย (โครงสร้างภาษีข้าวของสหภาพยุโรปเป็นตัวกำหนดอัตราขั้นต้นของมาร์จินกำไร)

ข้อมูลจากสถานทูตอินเดียในโรม ได้รายงานว่า ประมาณการมาร์จินกำไรของอุตสาหกรรมข้าวในอิตาลีดังนี้ ผู้นำเข้าข้าว ๓๐ - ๔๐%, ผู้ค้าส่ง ๑๐ - ๒๕% และผู้ค้าปลีก ๔๕ - ๗๐% อย่างไรก็ดีมาร์จินดังกล่าวขึ้นอยู่กับคู่ค้า ชนิดของข้าว แนวโน้มตลาดและคุณภาพสินค้า

ส่วนสินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาสูงกว่าสินค้าปรกติที่ ๒๕ - ๓๐%

๕. การนำเข้าและการส่งออก

๕.๑ การนำเข้า

อิตาลีเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับที่ ๖ ในสหภาพยุโรป ในปี ๒๕๕๑ มีสัดส่วนการนำเข้า ๕.๗% ของการนำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า ๑๑๙ ล้านยูโร ปริมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน ในช่วงปี ๒๕๔๗ และปี ๒๕๕๑ อิตาลีนำเข้าข้าวมีมูลค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ๒๔% ต่อปี และมีปริมาณเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ๙.๕% ต่อปี ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปเนื่องจากการลดการผลิตในปี ๒๕๔๘ และปี ๒๕๕๐ ทำให้มีการนำเข้าข้าวเปลือกมากขึ้นและในขณะเดียวกันมีการส่งออกมากขึ้นด้วย

ในปี ๒๕๕๑ อิตาลีนำเข้าข้าวจากประเทศกำลังพัฒนาคิดเป็น ๖๔% ของการนำเข้ารวม นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับอัตรานำเข้าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป (ที่เท่ากับ ๔๒%) และการนำเข้าข้าวจากประเทศกำลังพัฒนามีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๒๙% ต่อปี ผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญๆ ไปยังอิตาลีได้แก่ ไทย อินเดียและปากีสถาน ตามด้วยสหรัฐอเมริกา โดยการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น ๒๒%, ๑๒% และ ๖๘% ตามลำดับ ในช่วงปี ๒๕๔๗ และปี ๒๕๕๑ มีการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๑๒๐% ต่อปี ในขณะที่ประเทศที่มีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ บราซิล เวียดนาม อาร์เจนติน่า และอุรุกวัย

ตารางที่ ๒ ประเภทของข้าวที่อิตาลีนำเข้าข้าวในปี ๒๕๔๗ - ๒๕๕๑

หน่วย ล้านยูโร/พันตัน

สินค้า                      ปี ๒๕๔๘             ปี ๒๕๔๙           ปี ๒๕๕๐         อัตราขยายตัว

เฉลี่ยต่อปี

                      มูลค่า     ปริมาณ      มูลค่า    ปริมาณ    มูลค่า   ปริมาณ     มูลค่า     ปริมาณ
ข้าวทั้งหมด                ๕๑       ๑๓๙        ๕๖      ๑๖๐     ๑๑๙     ๒๐๐      ๒๔%      ๙.๕%
ข้าวเปลือก               ๙.๙        ๔๖       ๔.๙       ๑๘      ๒๔      ๔๗      ๒๕%      ๐.๓%
ข้าวกล้อง                 ๒๙        ๖๕        ๓๓       ๙๕      ๖๒     ๑๐๓      ๒๑%       ๑๒%
ข้าวที่สีแล้ว                ๑๑        ๒๓        ๑๕       ๓๔      ๒๘      ๓๙      ๒๖%       ๑๔%
ข้าวหัก                  ๑.๔       ๔.๑       ๓.๖       ๑๓      ๕.๐     ๑๑      ๓๗%       ๒๘%

ข้าวที่อิตาลีนำเข้าเป็นหลักคือ ข้าวกล้อง (ในปี ๒๕๕๑ มีสัดส่วน ๕๒% ของการนำเข้าข้าวรวม) โดยนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก (๙๗%) โดยเฉลี่ยอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้น ๒๗% ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าจากประเทศในสหภาพยุโรปกลับลดลง ประเทศผู้ส่งออกข้าวกล้องมายังอิตาลีรายสำคัญๆ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และไทย โดยมีการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวโดยเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น ๙%, ๖๕% และ ๑๙% ตามลำดับ ส่วนประเทศผู้ส่งออกที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (เฉลี่ยเกิน ๑๐๐% ต่อปี) ได้แก่ บราซิล เวียดนาม อาร์เจนตินาและอุรุกวัย

ข้าวที่อิตาลีนำเข้ามากเป็นอันดับสองคือข้าวที่สีแล้ว (สัดส่วนการนำเข้า ๒๔% ของการนำเข้าข้าวรวม) โดยนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาในสัดส่วน ๕๐% ของการนำเข้าข้าวที่สีแล้ว ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยการนำเข้าข้าวของประเทศในสหภาพยุโรปที่เท่ากับ ๒๓% ทั้งนี้การนำเข้าข้าวจากประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ๔๓% ต่อปี ในขณะที่สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ๑๖% ต่อปี ผู้ส่งออกข้าวที่สีแล้วรายหลักไปอิตาลีได้แก่ ไทย (ในช่วงปี ๒๕๔๗ และ ๒๕๕๑ มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๒๘% ต่อปี) อินเดียและปากีสถานเพิ่มขึ้น ๑๒๕% และ ๙๕% เฉลี่ยต่อปีตามลำดับ

รองลงมาคือ ข้าวหัก (สัดส่วนการนำเข้า ๒๐% ของการนำเข้ารวม) โดยนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา ๔๕% ของการนำเข้าข้าวกลุ่มนี้ ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของสหภาพยุโรปเล็กน้อยที่เท่ากับ ๔๑% ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้านี้ไปอิตาลีโดยมีสัดส่วนการนำเข้า ๓๖% ของการนำเข้ารวมของสินค้ากลุ่มนี้

ข้อมูลจาก WTA รายงานว่า อิตาลีนำเข้าสินค้าข้าว (พิกัด ๑๐๐๖) จากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ ๑๒๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ นำเข้าจากทั่วโลกมูลค่า ๘๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๑๐๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๒๐.๐๔% และในปี ๒๕๕๔ (มค. - พค.) นำเข้ามูลค่า ๔๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๔๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +๑.๕๔% ประเทศที่นำเข้าหลักได้แก่ อินเดีย (สัดส่วน ๒๒%) ไทย (สัดส่วน ๑๗%) ปากีสถาน (สัดส่วน ๑๗%) ฝรั่งเศส (สัดส่วน ๑๒%) และบราซิล (สัดส่วน ๖%)

การนำเข้าข้าวของอิตาลี นิยมนำเข้าโดยทางเรือ โดยมีท่าเรือที่สำคัญได้แก่ เมือง Gioia นาโปลี ลิโวโนและ บารี เป็นต้น ข้าวที่นำเข้าโดยตรงจากไทยจะส่งมาที่ท่าเรือเจนัว (๖๐%) ซึ่งเป็นการนำเข้าโดยผู้นำเข้าเองหรือพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้ว ข้าวที่นำเข้ามาจากไทยคือ ข้าวหอมมะลิ (ประมาณ ๘๕%) ซึ่งหากใช้รับประทานร่วมกับอาหารจานอื่นจะเป็นข้าวนึ่งสุก และถ้าใช้เป็นของหวานมักจะใช้ข้าวเหนียว สำหรับข้าวไทยมักจำหน่ายเป็นถุงพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุโพลีเอธีลีนขนาด ๑๕, ๒๐ หรือ ๒๕ กิโลกรัม

การนำเข้าจากไทย

สถิติการนำเข้าสินค้าข้าวจากไทยในปี ๒๕๕๓ อิตาลีนำเข้ามูลค่า ๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๑๒.๑๒% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๒๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี ๒๕๕๔ (มค. - พค.) นำเข้ามูลค่า ๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น -๑๔.๘๘% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่คือข้าวกล้อง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด และข้าวหัก

๕.๒ การส่งออก

อิตาลีเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ในปี ๒๕๕๑ อิตาลีมีสัดส่วนการส่งออก ๔๔% ของการส่งออกจากสหภาพยุโรปทั้งหมด มีมูลค่า ๕๕๗ ล้านยูโร (๘๐๕,๐๐๐ ตัน) ในช่วงปี ๒๕๔๗ และ ๒๕๕๑ การส่งออกข้าวมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ๑๖% ต่อปีในแง่ของมูลค่า และ ๔.๗% ต่อปีในแง่ของปริมาณ ชินดข้าวส่งออกหลักๆ ได้แก่ ข้าวขัดสี (๘๒%) ข้าวหัก (๕.๑%) และข้าวสาร (๑.๐%) โดยส่งออกไปฝรั่งเศส เยอรมันและเบลเลี่ยมเป็นหลัก

ข้อมูลจาก WTA รายงานว่า อิตาลีส่งออกสินค้าข้าวไปทั่วโลกเฉลี่ยปีละ ๒,๒๑๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ ส่งออกไปทั่วโลกมูลค่า ๖๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๑๒.๑๐% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๗๓๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี ๒๕๕๔ (มค. - พค.) ส่งออกมูลค่า ๓๐๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +๑๒.๕๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งออกมูลค่า ๒๗๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประเทศที่อิตาลีส่งออกหลัก ๕ อันดับแรก ได้แก่ ฝรั่งเศส (สัดส่วน ๑๘%) เยอรมัน (สัดส่วน ๑๕%) อังกฤษ (สัดส่วน ๑๐%) เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน ๔%) และสาธารณรัฐเชค (สัดส่วน ๔%)

การส่งออกสินค้าข้าวของอิตาลีไปไทยมีไม่มากโดยเฉลี่ยปีละ ๐.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ อิตาลีส่งออกมูลค่า ๐.๕๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +๑๒๑.๓๕% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๐.๒๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี ๒๕๕๔ (มค. - พค.) อิตาลีส่งออกมูลค่า ๐.๐๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๙๐.๕๕% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๐.๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ส่งออกได้แก่ ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมดและข้าวกล้อง

ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปอิตาลีรายหลักๆ ได้แก่ อินเดีย ไทย และปากีสถาน สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยเป็นหลักคือข้าวหอมมะลิ ส่วนข้าวจากอินเดียและปากีสถานเป็นข้าวบาสมาติ ไทยเริ่มเป็นผู้ส่งออกที่มีความสำคัญมากขึ้นในกลุ่มข้าวเม็ดยาวคุณภาพสูงในอิตาลี ทั้งนี้เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกข้าวประเภทนี้

ราคาผู้บริโภค

ในระดับการค้าปลีกมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศผู้ผลิตเนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนราคา เช่น การแข่งขันด้านราคาระหว่างซุปเปอร์มาร์เก็ต ความสามารถด้านรายได้ของผู้บริโภคที่ร้านค้าปลีกจะคิดค่าบริการจากผู้บริโภค โดยทั่วไปค่าบริการในอิตาลีสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศอื่นเพียง ๒% (ข้อมูลปี ๒๕๕๑) ในขณะที่ราคาปลีกสินค้าอาหารสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศอื่น ๑๖%

ราคาเฉลี่ยของข้าวในอิตาลีอยู่ระหว่าง ๒.๐๐-๓.๕๐ ยูโร (ขนาดบรรจุ ๑ กิโลกรัม) โดยข้าวจากไทยมีวางจำหน่ายอยู่สามขนาดบรรจุภัณฑ์ด้วยกัน ได้แก่ ขนาด ๕๐๐ กรัม (ราคา ๑.๗๕ ยูโร) ขนาด ๘๐๐ กรัม (ราคา ๒.๕๐ ยูโร) และขนาด ๒ กิโลกรัม (ราคาระหว่าง ๓.๕๐-๔.๕๐ ยูโร)

ทั้งนี้ข้าวจากเอเชียซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของชุมชนชาวเอเชียในอิตาลีมักมีขนาดบรรจุปริมาณมากเนื่องจากบริโภคข้าวเป็นหลักคือมีขนาดบรรจุ ๒ กิโลกรัม ในขณะที่ชาวอิตาเลี่ยนนิยมซื้อข้าวผลิตในอิตาลีเองขนาดบรรจุ ๑ กิโลกรัมหรือหากซื้อข้าวผลิตจากเอเชียในโอกาสพิเศษจะซื้อขนาดบรรจุเพียง ๕๐๐ กรัมเท่านั้น ๗. บรรจุภัณฑ์

ผู้นำเข้าอิตาลีจะนำเข้าข้าวจากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกโดยตรง โดยข้าวที่ส่งมาอิตาลีจะบรรจุกระสอบขนาด ๑,๐๐๐ กิโลกรัม หลังจากผ่านกระบวนการทางศุลกากรแล้วสินค้าจะถูกจัดส่งด้วยรถบรรทุกไปยังคลังสินค้าของผู้นำเข้า เพื่อนำไปบรรจุหีบห่อใหม่ภายใต้ตราสินค้าของผู้นำเข้าเอง โดยมีขนาดบรรจุถุงละ ๕๐๐ กรัมและ ๘๐๐ กรัม ก่อนกระจายสินค้าต่อไปตามไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต ผู้ค้าส่งและร้านค้าปลีกต่างๆ

บรรจุภัณฑ์มาตรฐานสำหรับข้าวในอิตาลีเป็นถุงกระดาษแบบดั้งเดิม ขนาดบรรจุ ๑ กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันยังใช้อยู่ในบริษัทขนาดเล็กที่ขายสินค้าตามแบบดั้งเดิม ส่วนที่เหลือก็ได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นแบบสมัยใหม่แล้ว เช่น บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษแข็งหรือถุงสูญญากาศ ทั้งนี้ขนาดบรรจุภัณฑ์จะขึ้นอยู่กับช่องทางการกระจายสินค้า ซึ่งอาจเป็นแพ็คขนาดใหญ่กว่า ๕ กิโลกรัมสำหรับข้าวไทย

๘. รูปแบบการค้าข้าว

การค้าข้าวในอิตาลีจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการค้าสินค้าปรกติ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องสรุปได้ดังนี้

  • ประชากรโลก การขยายตัวของขนาดประชากรโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความต้องการบริโภค (อุปสงค์) และราคาของข้าวในอนาคต
  • สินค้านวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ข้าวกึ่งสำเร็จรูปเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของตลาดข้าวในอิตาลี ยอดขายของผลิตภัณฑ์ข้าวกึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวพร้อมรัปประทานหรือข้าวที่หุงสุกได้ในหนึ่งนาที มียอดขายสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดว่าผลิตภัณฑ์ข้าวกึ่งสำเร็จรูปจะกลายเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดในตลาดค้าข้าว นอกจากนี้ยังมีสินค้าในกลุ่มที่ต้องการความสะดวกสบายที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากอีกอย่างหนึ่งคือ ข้าวปรุงสำเร็จ (Pre- cooked rice) ที่บรรจุใน "ถุงสำหรับทานคนเดียว" ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีคนอยู่เดี่ยวมากขึ้นและขนาดครัวเรือนที่เล็กลง นอกจากนี้แล้วการใช้ข้าวบรรจุในถุงและนึ่งในหม้อยังช่วยให้ข้าวไม่ติดกะทะในขณะที่ปรุงอีกด้วย จึงคาดว่าส่วนแบ่งตลาดจะขยายตัวอีกถึง ๓๐-๔๐% ในอนาคตอันใกล้นี้
  • การขยายตัวของชนกลุ่มน้อย ในอิตาลีชนกลุ่มน้อยที่ทานข้าวเป็นหลักขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้คนอิตาเลี่ยนเองก็เริ่มหันมาสนใจอาหารชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารดั้งเดิมของอิตาลีเองมากยิ่งขึ้นด้วย และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหารเอเชียจะใช้ข้าวเป็นส่วนผสมหลักโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ (ไทย) และข้าวบาสมาติ (อินเดีย) กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • ความนิยมบริโภคข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคไม่เพียงแต่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพสูงกว่าเดิมแต่ยังสนใจเลือกบริโภคข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น ข้าวหอมมะลิและข้าวบาสมาติอีกด้วย ผู้ผลิตจึงได้เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าวให้มากยิ่งขึ้นและผู้ค้าปลีกเก็บสต๊อกข้าวชนิดพิเศษมาจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของตนเองมากขึ้นด้วย

๙. โควต้าการค้าข้าวสำหรับปี ๒๕๕๔

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ สหภาพยุโรปได้กำหนดโควตาต่อปี ในการนำเข้าข้าวจากประเทศที่สามมายังประเทศในสหภาพยุโรปไว้ดังนี้

        สินค้า      ปริมาณโควต้า     ปริมาณโควต้าที่  อัตราภาษีในโควต้า          อัตราภาษีนอก
                     (ตันต่อปี)      ไทยได้รับในปี                               โควต้า

๒๕๕๔

ข้าวสาร                ๖๓,๐๐๐          ๒๑,๔๕๕             ๐ %         ๑๗๕ ยูโรต่อตัน
(Milled Rice)
ข้าวหัก                ๑๐๐,๐๐๐          ๕๒,๐๐๐      ๔๕ ยูโรต่อตัน          ๖๕ ยูโรต่อตัน
(Broken Rice)
ข้าวกล้อง               ๑,๖๓๔              n/a             ๐ %          ๓๐ ยูโรต่อตัน
(Brown Rice)
ข้าวเปลือก           ไม่มีโควต้า              n/a             ๐ %               ๗.๗๐%
(Paddy Rice)

๑๐. กฎระเบียบและข้อบังคับในการนำเข้า

เอกสารการส่งสินค้า (Shipping document) ที่ผู้ส่งออกข้าวจากไทยต้องนำส่งต่อผู้นำเข้าอิตาลี ได้แก่

๑๒.๑ ใบกำกับสินค้าต้นฉบับ (Original Commercial Invoice) และรายการสินค้า(Packing list) ๓ ฉบับที่ออกโดยผู้ขาย

๑๒.๒ ใบ Bill of lading ฉบับสมบูรณ์

๑๒.๓ ใบรับรองการรมควัน (Fumigation Certificate) ที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศผู้ส่งออก

๑๒.๔ ใบรับรอง Phytosanitary ออกโดยกระทรวงเกษตรฯ ของไทย

๑๒.๕ ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าออกโดยกระทรวงพาณิชย์

๑๒.๖ ใบรับรองด้านสาธารณสุขออกโดยกระทรวงสาธารณสุข

๑๒.๗ รายงานการวิเคราะห์ "GMO Free"

๑๒.๘ ใบรับรองขนาดน้ำหนักออกโดยผู้ขาย

๑๑. นโยบายการสนับสนุนของสหภาพยุโรป

๑๑.๑ นโยบาย

กำหนดราคาประกันที่ใช้แทรกแซงราคาข้าวเปลือกคือ ๑๕๐ ยูโรต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดโดยสหภาพยุโรปเพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากบริษัทผู้ค้าข้าวในอิตาลี ในสภาวะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย (ราคาขายข้าวในตลาดต่ำกว่า ๑๕๐ ยูโรต่อตัน) โดยตัวแทนของสหภาพยุโรปในอิตาลี (ในสังกัดกระทรวงเกษตรของอิตาลี) จะซื้อข้าวเข้าคลังสินค้าแล้วขายออกเมื่อสภาวะตลาดปรับตัวดีขึ้น (เมื่อราคาขายข้าวในตลาดสูงกว่า ๑๕๐ ยูโรต่อตัน)

๑๓.๒ เงินอุดหนุนสำหรับเกษตรกร

เกษตรกรชาวอิตาลีได้รับเงินอุดหนุนจากสหภาพยุโรปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

*ได้เงินอุดหนุนในการทำการเกษตรคิดตามพื้นที่ต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ โดยกรณีเพาะปลูกพืชทุกชนิดจะได้รับปีละ ๖๑๖ ยูโร ต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์และกรณีปลูกข้าวปีละ ๔๕๓ ยูโรต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์

ในการขอรับเงินอุดหนุนเกษตรกรจะต้องเสนอคำร้องผ่านหน่วยงานของแคว้นชื่อ AGEA (สำนักผู้แทนการสงเคราะห์เกษตรกรแห่งอิตาลี - ในสังกัดกระทรวงเกษตรของอิตาลี) เพื่อแจ้งพื้นที่เพาะปลูกที่ครอบครองอยู่โดยจะต้องแสดงเอกสารดังต่อไปนี้

  • ทะเบียนการค้าที่จดไว้กับหอการค้า
  • หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • พื้นที่ครอบครองหรือพื้นที่เช่า
  • ขนาดพื้นที่
  • ประเภทของพื้นที่
  • ประเภทของสิ่งเพาะปลูก

๑๒. สมาคมการค้าข้าวที่เกี่ยวข้อง

  • Italian Federation of Alimentation Industries - FEDERALIMENTARE: http://www.federalimentare.it (เวปไซด์เป็นภาษาอิตาเลี่ยน)
  • AIRI Associazione Industrie Risiere Italiane http://www.rice.it- สมาคมโรงสีข้าวอิตาเลี่ยน
  • The Italian Association of Food Product Industries / Associazione Italiana Industrie Prodotti
  • (AIIPA) - http://www.aiipa.it

๑๓. งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง

  • SANA - http://www.sana.it - งานแสดงสินค้านานาชาติเกี่ยวข้องกันสินค้าจากธรรมชาติ ครั้งต่อไปจัดขึ้นที่เมืองโบโลญา ระหว่างวันที่ ๘-๑๑ กันยายน ๒๕๕๔
  • HOST - http://www.host.fieramilano.it/en - งานแสดงสินค้านานาชาติเกี่ยวข้องกับการรับบริการจัดอาหาร (catering) ครั้งต่อไปจัดที่เมืองมิลาน ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔
  • Agrifood Club 2012 - http://www.agrifoodclub.it/home_en.asp - งานแสดงสินค้าอาหารที่มีคุณภาพ (Quality Goods) ครั้งต่อไปจัดขึ้นที่เมืองเวโรน่า ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๕

๑๔. วิเคราะห์โอกาสและอุปสรรค

โอกาส

๑๔.๑ ปริมาณการบริโภคข้าวหอมมะลิและข้าวบาสมาติในอิตาลีมีอัตราการขยายตัวที่สูงมากในช่วงปีที่ผ่านมานี้จึงส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของไทยเนื่องจากผู้ผลิตในอิตาลีไม่สามารถเพาะปลูกข้าวในสายพันธุ์เหล่านี้ได้เอง จึงไม่เป็นการแข่งขันกันโดยตรงทั้งในอิตาลี สเปน และฝรั่งเศสตอนใต้

๑๔.๒ ข้าวหอมเป็นอาหารหลักของชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในอิตาลี ซึ่งมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอิตาลี

๑๔.๓ ความต้องการ (อุปสงค์) ข้าวกล้องขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้เพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้ส่งออกไทย นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าข้าวขัดสี

๑๔.๔ ผู้บริโภคในอิตาลีเริ่มมีไลฟ์สไตล์แบบเร่งด่วนมากขึ้น ส่งผลให้มีเวลาปรุงอาหารน้อยลง และนิยมเสาะหาอาหารประเภทที่ใช้เวลาปรุงน้อยลง จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาหารประเภทสำเร็จรูปพร้อมทาน ผลิตภัณฑ์ข้าวนึ่งสุก (Parboiled Rice) ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของข้าวปรุงสำเร็จด้วยไมโครเวฟที่จะเข้าสู่ตลาดอิตาลีได้มากยิ่งขึ้น

๑๔.๕ แม้อิตาลีจะเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ก็ยังไม่เพียงพอทั้งการบริโภคและมีการนำเข้าข้าวปริมาณสูงมากเพื่อเสริมการผลิตของตนเอง ทั้งนี้เพราะอิตาลีเป็นประเทศที่มีการบริโภคข้าวมากที่สุดประเทศหนึ่ง

๑๔.๖ ในอิตาลี คนที่เป็นโรคภูมิแพ้จากอาหารมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญสำหรับผู้บริโภคอาหารไร้สารปรุงแต่งกลิ่นรส คือ หาซื้อได้ยากแม้ตามเมืองใหญ่ก็ตาม ดังนั้นความต้องการ (อุปสงค์) อาหารประเภทใหม่และผลิตภัณฑ์ที่ไร้สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทย

อุปสรรค

๑๔.๗ ตลาดค้าข้าวในอิตาลีมีความเข้มแข็งมาก โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง ๔ รายที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า ๕๐% ของตลาดทำให้สามารถความคุมตลาดได้ดังนั้นโอกาสส่วนใหญ่ของข้าวอื่นๆ จึงมาจากแนวโน้มการเปลี่ยนรสนิยมไปรับประทานข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ และการขยายตัวของตลาดผู้บริโภคกลุ่มเฉพาะ

๑๔.๘ ผู้บริโภคชาวอิตาลีมีข้อเรียกร้องด้านมาตรฐานอาหารสูง ถือว่าเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ผลิตในประเทศไทยหากไม่สามารถตอบสนองความต้องการเรื่องคุณภาพ หรือไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้ามีคุณภาพสูงตามที่คาดหวังได้

๑๔.๙ ราคาขายปลีกสินค้าอาหารสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ๑๖%

๑๕. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

โอกาสของข้าวไทยในตลาดอิตาลียังมีโอกาสสูง เนื่องจากแม้อิตาลีจะเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของสหภาพยุโรป แต่อิตาลีก็นำเข้าข้าวในปริมาณสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยเฉพาะปัจจุบันกระแสความนิยมเรื่องสุขภาพและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปที่ต้องการความสะดวกสบายในการปรุงอาหารมากขึ้น และความต้องการทดลองอาหารชาติอื่นๆ ของคนหนุ่มสาวจะเป็นโอกาสให้ข้าวหอมมะลิไทยสามารถเข้ามาเจาะตลาดเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ว่าไทยจะเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวไปอิตาลีแต่ผู้ส่งออกไทยควรรักษาคุณภาพมาตรฐานและสุขอนามัยของสินค้าให้อยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ควรมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าโดยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างความสะดวกสบายในการนำไปประกอบอาหาร หรือทำเป็นอาหารพร้อมรับประทาน เช่น ข้าวปั้น (ซูชิ) ข้าวผสมกับธัญญพืชหรือเห็ดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น สร้างความน่าสนใจให้แก่บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสร้างความหลากหลายให้แก่สินค้า เพื่อให้สามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคในอิตาลีได้มากยิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล

๑) Il Risicoltore (Rice newsletter)

๒) World Trade Atlas

๓) Sole 24 ore

๔) ENTERISI

๕) Italian Association of Rice

๖) CBI Market Survey on The Rice market in Italy (March 2010)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก อิตาลี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ