รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑-๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 29, 2011 14:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. เศรษฐกิจของอิตาลีในช่วง ๒ สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ยังคงทรงตัวจากช่วงก่อนหน้า แม้ว่าในช่วงกรกฎาคมที่ผ่านมาตลาดหุ้นและพันธมิตรของอิตาลีได้เกิดความอลหม่าน จากกระแสความวิตกกังวลของนักลงทุนว่าปัญหาหนี้สาธารณะกรีซจะลุกลามถึงอิตาลีและเกรงว่าอิตาลีจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับกรีซ

๒. นาย Olli Rehn, กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้เปิดเผยว่าอิตาลีจะต้องเร่งการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการคลังของประเทศ สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ว่าอิตาลีจำเป็นต้องเน้นการลดการใช้จ่ายมากกว่าการเพิ่มภาษี เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้สมดุลย์ในปี ๒๕๕๗ นอกจากนี้อิตาลียังต้องปฏิรูปด้านความยั่งยืนทางสังคมและการปฏิรูปตลาดแรงงาน ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการบริการให้เป็นมืออาชีพ สามารถแข่งขันได้และในราคาที่ต่ำลง อย่างไรก็ดี นาย Olli ได้ย้ำให้สหภาพยุโรปเชื่อมั่นว่ามาตรการรัดเข็มขัดของอิตาลีดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณและทำให้อิตาลีเข้าสู่ภาวะสมดุลย์ทางการคลังได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้นาย Olli ยังได้พบหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจอิตาลี (นาย Giulio Tremonti) เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการเงินในยูโรโซน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาวิกฤตการเงินของกรีซจะลุกลามไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส และไอร์แลนด์ โดยขณะนี้สหภาพยุโรปยังไม่มีแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่กลุ่มประเทศดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากเชื่อมั่นว่ามาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณที่แต่ละประเทศได้ออกมาใช้ จะสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้

๓. สมาคมผู้ประกอบการสินค้าศิลปะแห่งชาติ (ConfartiginatoCGIA) ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้เปิดเผยว่ามาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลจะส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของร่างแผนงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและมีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิรูปงบประมาณของรัฐบาลให้ได้ดุลในปี ๒๕๕๖ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัญหาการไม่สามารถชำระหนี้คืนของอิตาลีเช่นเดียวกับกรีซ โดยคาดว่าการเก็บภาษีจะสูงถึง ๔๒.๖% (ในปี ๒๕๔๐ อิตาลีมีการเก็บภาษีสูงสุดถึง ๔๓.๗% เพื่อจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นให้ได้ตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมเงินสกุลยูโร)

๔. ผลการประชุมระหว่างรัฐบาลอิตาลี สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA) และสหภาพแรงงานแห่งอิตาลี เพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะของอิตาลีซึ่งเป็นผลจากการคาดหมายว่ารัฐบาลอิตาลีอาจไม่สามารถชำระหนี้คืนได้เช่นเดียวกับกรีซ โดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลีได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินการใน ๖ ประเด็นดังนี้

๑) สร้างความเชื่อมั่นด้านนโยบายว่าจะสามารถทำให้งบประมาณสมดุลได้ในปี ๒๕๕๖

๒) ลดต้นทุนของภาครัฐ

๓) ลดกฎระเบียบต่างๆให้มากขึ้น และการแปรรูปวิสาหกิจ

๔) ก้าวไปสู่การเปิดเสรีในด้านการลงทุน

๕) ลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการบริหารงานของภาคราชการ

๖) ดำเนินการเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของตลาดแรงงานให้มากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูประบบภาษี และการดำเนินการเพื่อให้สามารถมีพลังงานไว้ใช้มากขึ้น

๕. รัฐบาลอิตาลีได้รับการกดดันจากสหภาพยุโรป เยอรมันและฝรั่งเศส ให้ปรับแผนงบประมาณปี ๒๕๕๔ ใหม่ โดยจะต้องลดการขาดดุลงบประมาณให้สมดุลภายในปี ๒๕๕๖ แทน(ปี๒๕๕๔ ลดลง ๓.๘% ปี ๒๕๕๕ ลดลง ๑.๗% ของ GDP) ทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องปรับปรุงแผนงบประมาณ (ระยะ ๓ ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖)ใหม่ โดยตัดลดการใช้จ่ายลง ๔ พันล้านยูโร และเพิ่มรายได้ ๔๕ พันล้านยูโร (๒๐ พันล้านยูโร ในปี ๒๕๕๕ และ ๒๕ พันล้านยูโร ในปี ๒๕๕๖ หรือเท่ากับรัฐบาลต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๔๔.๓%) โดยรัฐบาลจะเสนอร่างแผนมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณระยะ ๓ ปีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้

มาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้

๑) การตัดลดงบประมาณของกระทรวงและงบประมาณที่จัดสรรให้แก่ท้องถิ่นและแคว้นต่างๆ

๒) การปฏิรูประบบการจ่ายบำนาญ(ขยายเวลาเกษียณอายุของผู้หญิงทั้งภาครัฐและเอกชนจาก ๖๐ ปีเป็น ๖๕ ปี ในปี ๒๕๕๕)

๓) การปฏิรูปโครงสร้างและการลดจำนวนหน่วยงานรัฐในจังหวัดและท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรและสมาคมที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ

๔) การแปรรูปวิสาหกิจและองค์กรท้องถิ่น

๕) การลดกฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆในบางสาขาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

๖) มาตรการ Solidarity Tax ระยะเวลา ๓ ปี ได้แก่

  • เก็บภาษีเพิ่มอีก ๕% สำหรับคนที่มีรายได้ที่สูงกว่า ๙๐,๐๐๐ ยูโรต่อปี และ ๑๐% สำหรับคนที่มีรายได้มากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ยูโรต่อปี
  • เก็บภาษี ๒๐% จากรายได้ที่ได้จากการลงทุนทางการเงิน (ยกเว้นภาษีจากพันธบัตรซึ่งเก็บในอัตรา ๑๒.๕%)
  • การเก็บภาษีจากกำไรในธุรกิจพลังงาน (Robin Hood Tax)
  • การเก็บภาษีบ้านที่พักอาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (ในปี ๒๕๕๕)

๗) การปฏิรูปด้านความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ประชาชนต้องจ่าย ๑๐ ยูโรในการพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสั่งยา และ ๒๕ ยูโรสำหรับการดูแลกรณีฉุกเฉินในโรงพยาบาล

๘) การปฏิรูประบบการเงินและเครือข่ายทางธุรกิจให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น

๙) การเร่งรัดโครงการเพื่อสร้างงานของภาครัฐ

๑๐) การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆและสร้างเครือข่ายด้านการสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ

๖. สำนักงานทรัพย์สินแห่งอิตาลีได้รายงานว่า ในช่วง ๗ เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ ความต้องการกู้ยืมเงินของภาครัฐ (Italy public sector borrowing requirement - PSBR) เพิ่มขึ้นราว ๕ พันล้านยูโร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คือเพิ่มสูงขึ้นจาก ๓๙.๖ พันล้านยูโร เป็น ๔๔.๖๕๕ พันล้านยูโร แต่หากรวมเงินช่วยเหลือกรีซในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินด้วย PSBR จะเพิ่มขึ้นเกือบ ๗ พันล้านยูโร

๗. สมาพันธ์อุตสาหกรรมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว (The Federturismo - Confindustria Federation) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ๖๐๐ บริษัท (โรงแรม, แหล่งอาบน้ำแร่, ทัวร์โอเปอเรเตอร์, การท่องเที่ยวแบบประหยัด, เรือครุยส์และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร) รายงานว่าฤดูร้อนปี ๒๕๕๔ นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในอิตาลีมากขึ้น แต่จะใช้จ่ายลดลง โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๑.๘% และมีนักท่องเที่ยวอิตาลีที่เที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น ๑.๙% โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มนักท่องเที่ยวลดลงได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและการประชุม (โดยปกติจะลดลงในช่วงฤดูร้อน) ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นในแคว้นทัสคานีได้ประมาณการว่าจะมีนักท่องเที่ยวในอัตราที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยของปี ๒๕๕๔ โดยจะเป็นนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศยกเว้นญี่ปุ่น ซึ่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ แยกเป็นนักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น +๙.๓% ชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น +๕.๓% บราซิล +๑๐% อินเดีย +๑๒.๑% จีน +๒๐% และรัสเซีย +๓๐% สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ๓ อันดับแรกได้แก่ แคว้นทัสคานี, แคว้นเวเนโต้(บริเวณรอบเมืองเวนิซ) และแคว้นลาซิโอ (บริเวณรอบกรุงโรม)

๘. ISTAT ได้รายงานผลการสำรวจสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนว่า ๑ ใน ๕ ของครัวเรือนอิตาลีมีความเป็นอยู่แบบยากจน โดยเฉพาะในทางตอนใต้ของประเทศจะมีครอบครัวยากจน ๑ ใน ๒ ทั้งนี้ อิตาลีมีจำนวนประชากรที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าระดับที่ต้องรับแจกอาหาร (Bread line) กว่า ๘ ล้านคน (เกือบ ๑๔% ของจำนวนประชากรทั้งหมด) และมากกว่า ๓ ล้านคน (๕% ของจำนวนประชากรทั้งหมด) อยู่ในระดับยากจนแท้จริง (absolute poverty)

๙. กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์อิตาลีได้เผยว่า ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ยอดการจดทะเบียนรถใหม่ (รถยนต์และจักรยานยนต์) ลดลง ๑๐.๗% และยอดขายรถยนต์ใช้แล้ว (๗๓% ของตลาด) ลดลง ๑๒.๑% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และในช่วง ๗ เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี ๒๕๕๔ ลดลง ๑๒.๗% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้แก่ผู้ซื้อและความสามารถด้านรายได้ของประชาชนที่ลดลง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ในการบำรุงรักษารถยนต์โดยเฉพาะค่าภาษีที่สูงและการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นภายใต้มาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ กลุ่มบริษัทเฟี๊ยตมีผลประกอบการที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ แต่ยังคงมีผลขาดทุนต่อปี ๗.๘๔% (ยอดขายรถเฟี๊ยตลดลง -๑๒.๑๑% รถแลนเซียเพิ่มขึ้น +๑.๒๓% และอัลฟาโรมิโอลดลง -๓.๑๕%) ในขณะที่ยอดขายรถจิ๊ป ซึ่งกลุ่มบริษัทเฟี๊ยตได้เข้าไปเทคโอเวอร์จากบริษัทไครส์เลอร์เพิ่มสูงอย่างมากถึง ๑๓๘.๙๔% (จำนวน ๘๑๐ คัน เทียบกับ ๓๓๙ คัน ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓)

อนึ่ง สมาคมผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ได้ออกมาเตือนว่าหากผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่มีแผนการแทรกแซงโครงสร้างตลาดในระยะยาว ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ (๑๒% ของ GDP และมีจำนวนคนงาน ๑.๖ ล้านคน) ซึ่งมีสถานะที่เปราะบาง อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล้มละลายได้

๑๐. แผนการอัดฉีดเงิน ๙ พันล้านยูโร เพื่อการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคให้แก่ภูมิภาคทางตอนใต้ของอิตาลีที่มีเศรษฐกิจถดถอย (แถบ Mezzogiorno) ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแผนงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล (CIPE) แล้ว และนอกเหนือจากการจัดสรรวงเงิน ๗.๔ พันล้านยูโรสำหรับโครงการในทางตอนใต้และ ๔.๙ พันล้านยูโรสำหรับโครงการของภาครัฐทั่วอิตาลีแล้ว CIPE ยังได้อนุญาติให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในการก่อสร้างไฮเวย์ใหม่เชื่อมต่อระหว่างมิลานตะวันออกมูลค่า ๖ พันล้านยูโร และให้ความเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างตูริน-ลิยอง ซึ่งต้องสร้างอุโมงค์ลอดภูเขาอัลไพน์ด้วย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลแจ้งว่าในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากขณะนี้ รัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณ ๑๔ พันล้านยูโร เพื่อการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและจ้างงานในระดับหนึ่งก่อน โดยได้จัดสรรเงินให้แต่ละท้องถิ่น ได้แก่ แคว้น Molise ๕๗๖ พันล้านยูโร, แคว้น Campania กว่า ๑,๗๐๐ ล้านยูโร, แคว้น Puglia ๑,๑๐๐ ล้านยูโร, แคว้น Basilicata กว่า ๕๐๐ ล้านยูโร และแคว้น Calabria, Sardinia และ Sicily ได้รับแห่งละ ๑,๐๐๐ ล้านยูโร

ทั้งนี้ รายละเอียดโครงการภายใต้แผนงานดังกล่าวได้แก่ ทการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง (ATV) เชื่อมระหว่างเมืองเนเปิลส์กับบารี ทการปรับปรุงรถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองซาเลอโน และเรจจิโอคาลาเบรีย ทพัฒนาทางหลวงที่เชื่อมระหว่างเมือง Termoli และ San Vittore ทางตอนกลางของอิตาลี ทการปรับปรุงทางหลวงสาย Olbia-Sassari และสาย Olbia- Cagliari ในเกาะซาร์ดิเนียร์ ทการเร่งสร้างทางด่วนสาย A๓ ระยะทาง ๓๘๓ กิโลเมตร ระหว่างเมืองซาเลอโน-เรจจิโอคาลาเบรียให้แล้วเสร็จ ทการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองคาทาเนียและปาเลอโม ทการปรับปรุงและขยายทางหลวงระหว่างท่าเรือ Civitavecchia- เมืองOrte -Terni- Rieti ทางตอนกลางของอิตาลี

๑๑. ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (The European Central Bank-ECB) ได้รายงานผลการวิเคราะห์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ ๔ อันดับ ในกลุ่มยูโรโซน คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน โดยเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ได้แก่ สินค้าที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ ความสามารถในการแข่งขันและประเทศที่ส่งออก และพบว่าปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจของอิตาลี คือ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

อย่างไรก็ดี มีข้อโต้แย้งจากนักเศรษฐศาสตร์ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของอิตาลี กระทำได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลอิตาลีได้รับแรงกดดันจาก ECB และสหภาพยุโรปให้ดำเนินแผนมาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณเพื่อให้การขาดดุลงบประมาณสมดุลได้ในปี ๒๕๕๖ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่อาจหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในช่วง ๑๐ เดือนที่ผ่านมา อิตาลีมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีเพิ่มน้อยกว่า ๐.๓% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคยุโรป ในทางกลับกันเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณของอิตาลีกลับดีที่สุดในกลุ่มยูโรโซน คือ ๓.๙% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเฉลี่ยของกลุ่มยูโรโซน

๑๒. ISTAT ได้รายงานตัวชี้วัดเศรษฐกิจดังนี้

๑๒.๑ ดัชนีความเชื่อมั่นในตลาดภาคบริการ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ เท่ากับ ๙๔.๓ จุด (ลดลงจากเดือนมิ.ย. ๒๕๕๔ ที่เท่ากับ ๑๐๐.๙ จุด) แยกเป็นลดลง -๘ จุด ในการประเมินความต้องการ, เพิ่มขึ้น ๑ จุด ในด้านความคาดหวังต่อความต้องการ และลดลง -๒๑ จุด ในด้านความสมหวังต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ

๑๒.๒ ดัชนีความเชื่อมั่นในตลาดการค้าปลีก ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ เท่ากับ ๑๐๓.๓ จุด(เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ๒๕๕๔ ที่เท่ากับ ๙๙.๕ จุด) แยกเป็นลดลง -๑๐ จุด ในด้านสถานะทางธุรกิจปัจจุบัน, และเพิ่มขึ้น ๑๒ จุด ในด้านความคาดหวังต่อสถานะทางธุรกิจ และเพิ่มขึ้น ๖ จุด ในด้านปริมาณสินค้าคงคลัง

๑๒.๓ จำนวนกลุ่มผู้ประกอบการ ISTAT ได้รายงานว่าในช่วงระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓ อิตาลีมีจำนวนกลุ่มผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ๕% ในขณะที่มีจำนวนคนงานลดลง ๐.๕% ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่า ๘๐,๐๐๐ กลุ่ม ประกอบด้วยผู้ประกอบการมากกว่า ๑๘๓,๐๐๐ บริษัท และการจ้างงานมากกว่า ๕.๗ ล้านคน

๑๓. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลี ณ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔

         ตัวชี้วัด                   จำนวน                  เปลี่ยนแปลง                เปลี่ยนแปลง
                                                      เมื่อเทียบกับเดือนไตร        เทียบกับช่วงเดียวกัน
                                                        มาสก่อนหน้า                   ปีก่อน
๑. การผลิตภาคอุตสาหกรรม                                     - ๐.๔%                   +๐.๑%
(กรกฎาคม ๒๕๕๔)
๒. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม                                     - ๐.๒%                  - ๑.๙%
(กรกฎาคม ๒๕๕๔)
      ๓. การบริโภค                                         - ๐.๑%                   +๑.๑%

( (พฤษภาคม ๒๕๕๔)

     ๔. อัตราเงินเฟ้อ                                         +๐.๓%                   +๒.๗%
(กรกฎาคม ๒๕๕๔)
    ๕. อัตราการจ้างงาน              ๕๖.๙%                       ๐%                      ๐%
     (มิถุนายน ๒๕๕๔)         (ของกำลังแรงงานทั้งหมด)
   (จำนวนลูกจ้าง : คน)          (๒๒,๙๑๗,๐๐๐)
    ๖. อัตราการว่างงาน              ๘.๐%                        ๐%                   -๐.๓%
(มิถุนายน ๒๕๕๔)
  (จำนวนคนว่างงาน :คน)          (๒,๐๐๑,๐๐๐ )
      ๗. การนำเข้า                                         - ๐.๓%                  +๑๘.๙%

(พฤษภาคม ๒๕๕๔)

      ๘. การส่งออก                                          +๐.๑%                  +๑๙.๙%
(พฤษภาคม ๒๕๕๔)
      ๙. หนี้สาธาณะ                 ๑,๘๙๗                    +๐.๓%                   +๓.๖%
(พฤษภาคม ๒๕๕๔)
(พันล้านยูโร)
        ๑๐. GDP                  ๓๐๗,๔๐๔                   +๐.๓%                   +๐.๘%
(ไตรมาส ๒ ของปี ๒๕๕๔)
(ล้านยูโร)
ที่มา: Confindustria, ConFcommercio, ISTAT
* หมายเหตุ: รัฐบาลอิตาลีได้คาดการณ์ GDP ปี ๒๕๕๔ = ๑.๑%

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ