สรุปภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนี เดือนสิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2011 10:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

ตามรายงานเบื้องต้นของกระทรวงโภชนากร เกษตรฯ เยอรมนี ในปี 2554 นี้ ผลผลิตสินค้าเกษตรของเยอรมนีจะมีน้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะธัญพืชจะมีปริมาณ 43.8 ล้านตันหรือลดลงร้อยละ 12 เนื่องจากมีการลดพื้นที่เพาะปลูกราวร้อยละ 3.9 เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 6.64 ล้านเฮกตาร์ และสภาพอากาศที่แปรปรวน น้ำท่วมในบางพื้นที่ มีฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล และตกชุกมากในช่วงการเก็บเกี่ยว ในด้านราคาของสินค้าจะไม่มีผลกระทบโดยตรงใดๆ เพราะตลาดยังมีสินค้ามากเพียงพอกับความต้องการ สำหรับการผลิตเนื้อสัตว์ ในปี 2553 - 2554 เยอรมนีสามารถผลิตเนื้อสัตว์ปีกได้มากเพียงพอกับความต้องการในประเทศแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อไก่งวง สำหรับเนื้อไก่ยังคงมีการนำเข้าเพิ่มเติมจากต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โรมาเนีย ฮังการี บราซิล และไทย

การจำหน่ายสินค้าอาหารของผู้ผลิตในเยอรมนียังคงขยายตัวต่อเนื่องโดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2554 เป็นมูลค่ารวม 52,363 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 11.0 โดยมีการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 41,563 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 และจำหน่ายในต่างประเทศมูลค่า 10,799 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2

สินค้าส่งออกของไทย

ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2554 ไทยยังคงส่งออกสินค้าอาหารไปตลาดเยอรมนีมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่ยังคงแจ่มใส โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.0 เป็นมูลค่า 221.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นมูลค่า 179.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

สำหรับสินค้าเกษตรกรรม นอกเหนือจากยางพาราที่มีส่วนร้อยละ 54 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้แล้ว จะมี ไก่แปรรูปแช่แข็ง ที่มีการผลิตในเยอรมนีเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นไก่สด เสนอขายในช่วงฤดุร้อนสำหรับการปิ้งย่างกลางแจ้ง จึงไม่มีผลกระทบกับสินค้านำเข้าจากไทยที่ส่วนใหญ่จะส่งเข้าโรงงานผลิตป็นอาหารสำเร็จรูปในช่วง 7 เดือนแรกปี 2554 มีการนำเข้ามูลค่า 37.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 สำหรับกุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป มีการนำเข้ามากจากเวียดนามที่มีราคาต่ำกว่าของไทยทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปเยอรมนีลดลงร้อยละ 13.6 เป็นมูลค่า 15.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนพืชผักสดยังคงมีปัญหาถูกตรวจเข้ม มีสินค้าเข้าตลาดน้อย มีค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ราคาขายปลีกตามร้านค้าของชำเอเชียปรับสูงขึ้นราว 10 - 15% สำหรับสินค้ารายการอื่นๆ ยังคงเป็นที่นิยมของตลาดในเยอรมนี ยังคงสามารถส่งออกเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสับปะรดทั้งชนิดกระป๋องและน้ำผลไม้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจะต้องดูแลการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ปราศจากสารเคมีอันตราย สารตกค้าง หรือมีเจือปนได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ เหล่านี้จะทำให้สินค้าของไทยเป็นที่นิยม ช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเพิ่มสูงยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ