สถานการณ์ทางเศรษฐกิจประเทศอิตาลีระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2011 13:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศอิตาลี

เศรษฐกิจอิตาลีดูเหมือนจะหยุดการเคลื่อนไหวในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดฤดูร้อนประจำปี ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่หยุดทำการเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เดินทางออกนอกเมืองเพื่อท่องเที่ยว อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอิตาลีชะลอตัวนั้นมีผลมาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ทำให้การผลิตอิตาลีหยุดชะงัก การส่งออกมีความเสี่ยงสูง และบริษัทมีความหวาดกลัวในความไม่แน่นอนของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น คล้ายกับวิกฤตการณ์ Lehman Brother ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

สมาพันธ์ผู้ผลิตแห่งอิตาลี (Confindustria) เปิดเผยว่าหลังจากไตรมาสที่สองที่ภาคผลิตอุตสาหกรรมอิตาลีได้ขยับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% นั้น ในไตรมาสที่สามนี้กลับแทบไม่มีการเติบโตขึ้นเลย และจะส่งผลกระทบระยะยาวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นอกจากนี้บริษัทอิตาลียังพยายามตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ทำให้มีอัตราการจ้างงานลดลง 0.7% รวมทั้งการลงทุนที่ลดลงซึ่งกำลังก่อปัญหาในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ

การแพร่กระจายของพันธบัตรรายเดือนอยู่ที่ร้อยละ 2-2.5 ส่วนการแพร่กระจายของพันธบัตรใน 1 ปีเท่ากับ 100 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 0.25 อย่างไรก็ตาม Cecilia Guerra ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์สาธารณะที่มหาวิทยาลัย Modena ได้ให้ข้อสังเกตว่า ประเทศในกลุ่มยุโรปชะลอการซื้อพันธบัตรอิตาลี เป็นผลเนื่องมาจากความไม่เชื่อมั่น ซึ่งส่งผลให้อิตาลีกำลังขาดอำนาจในการแข่งขัน และจำเป็นต้องกระตุ้นเน้นไปยังกลุ่มบริษัทที่ขายบริการเป็นสำคัญ

1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อิตาลี ไตรมาส 1 ของปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เปรียบเทียบจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับ GDP ใน Euro Area และ Eu 27 เพิ่มขึ้นเหมือนกันร้อยละ 0.8 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเหมือนกันร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า

2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมอิตาลี เดือนพฤษภาคม 2554 เทียบกับเดือนก่อนหน้ามีอัตราลดลง ร้อยละ 0.6 และเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 (โดยวันทำงานในเดือนพฤษภาคม 54 มีจำนวนวันทำงาน 22 วัน แต่เดือนพฤษภาคม 53 มีจำนวนวันทำงาน 21 วัน)

3) คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2554 คำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมเปรียบเทียบ กับเดือนก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น 4.1 % (-0.8% จากตลาดภายในประเทศ และ+12.2% จากตลาดต่างประเทศ) ส่วนเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น 13.6%

4) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอิตาลี เดือนกรกฎาคม 2554 ปรับตัวลดลงอีกครั้งจาก 105.8 จุด เป็น 103.7 จุด (หดตัวลดลง 2.1จุด) ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต

5) ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตอิตาลี เดือนกรกฎาคม 2554 มีการปรับตัวลดลงอีกครั้งจาก 100.5 จุด เป็น 98.5 จุด (ลดลง 2จุด) ซึ่งมีสาเหตุมาจากคำสั่งซื้อและการรอการผลิตของผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลง แต่สินค้าในสต็อกยังมีจำนวนไม่เปลี่ยนแปลง

6) การส่งออกและการนำเข้าของอิตาลี การส่งออกและนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2554 มีตัวเลข เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และ 18.9 ตามลำดับ เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และลดลงร้อยละ 0.3 ตามลำดับ เทียบกับช่วงระยะเวลาก่อนหน้า

7) อัตราการจ้างงาน เดือนพฤษภาคม 2554 มีอัตราร้อยละ 56.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เทียบกับ เดือนก่อนหน้าและไม่มีการเปลี่ยนแปลงเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

8) ผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมอิตาลี เดือนพฤษภาคม 2554 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีอัตราลดลง 1.7% (-2.9% จากตลาดภายในประเทศ และ+0.9% จากตลาดต่างประเทศ) และเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8

9) อัตราการว่างงาน เดือนพฤษภาคม 2554 มีอัตราร้อยละ 8.1 ซึ่งลดลง 0.1 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง 0.5 จุด เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่ามาตรฐานของ Euro Area และ EU 27 อยู่ประมาณ 1.8 จุด และ1.2 จุด ตามลำดับ โดยอัตราการว่างงานของ Euro Area และEU 27 อยู่ที่ร้อยละ 9.9 และ 9.3 ตามลำดับ

10) อัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2554 อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ร้อยละ 0.1 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 3.0 สำหรับอัตราเงินเฟ้อโดยประมาณใน Euro Area และ Euro 27 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และ 3.1 ตามลำดับ เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีอัตรา 0.0 และลดลง 0.1 ตามลำดับ เทียบกับเดือนก่อนหน้า

11) การบริโภค เดือนมีนาคม 2554 การบริโภคของชาวอิตาเลียนยังคงมีอัตราลดลงร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ของตลาดแรงงานที่มีความไม่แน่นอนส่งผลให้ประชาชนชะลอดูสถานการณ์ดังกล่าว

12) ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 2554 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า

13) ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 2554 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า

ตารางเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลีรายเดือน ปี 2554

                                 ช่วงเวลา             อัตราเปลี่ยนแปลง               อัตราเปลี่ยนแปลง

เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า(%) เทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า (%)

GDP                            (ไตรมาส 1)                +1.0                         +0.1
การผลิตภาคอุตสาหกรรม             (พฤษภาคม)                 +1.0                         -0.6
ผลประกอบการ                    (พฤษภาคม)                +10.8                         -1.7
คำสั่งซื้อ                         (พฤษภาคม)                +13.6                         +4.1
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิต            (กรกฎาคม)                    -                         -2.0 จุด
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค             (กรกฎาคม)                    -                         -2.1 จุด
การนำเข้า                       (พฤษภาคม)                +18.9                         -0.3
การส่งออก                       (เมษายน)                 +19.9                         -0.1
อัตราการว่างงาน                  (พฤษภาคม)                 -0.5 จุด                      -0.1 จุด
อัตราเงินเฟ้อ                     (มิถุนายน)                  +3.0                         +0.1
อัตราการจ้างงาน                  (พฤษภาคม)                    0 จุด                      -0.1 จุด
การบริโภค                       (มีนาคม)                   -2.5                            -
ดัขนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม        (มิถุนายน)                  +4.3                         +0.1
ดัชนีราคาผู้บริโภค                  (กรกฎาคม)                 +2.7                         +0.3
หนี้สาธารณะ (%/GDP)*             (ปี 2554)                 120.3
*ตัวเลขคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ที่มา : องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป, CSC, และ Istat

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก อิตาลี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ