เขตใหม่เหิงฉิน - เขตการค้าเสรีที่พิเศษกว่าเศรษฐกิจพิเศษ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2011 14:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เขตใหม่เหิงฉิน ตั้งอยู่บนเกาะเหิงฉินทางใต้ของเมืองจูไห่ ใกล้กับมาเก๊า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 ได้ผ่านการอนุมัติ "แผนพัฒนาโดยรวมของเหิงฉิน" จากคณะรัฐมนตรี โดยถูกวางยุทธศาสตร์ "1 ประเทศ 2 ระบบ" ซึ่งจะเป็นเขตสาธิตของความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างมณฑลกวางตุ้งและมาเก๊า

เขตใหม่เหิงฉินได้ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 เป็นเขตใหม่ระดับชาติแห่งที่ 3 ต่อจากเขตใหม่ผู่ตงของนครเซี่ยงไฮ้ และเขตใหม่ปินไห่ของนครเทียนจิน

ที่ตั้ง

เกาะเหิงฉิน มีพื้นที่ประมาณ 106.46 ตร.กม. ห่างจากมาเก๊าเพียง 200 ม. ห่างจากสนามบินมาเก๊า 3 กม. ห่างจากสนามบินจูไห่ 8 กม. ห่างจากฮ่องกง 41 ไมล์ทะเล เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของเมืองจูไห่ มีขนาดใหญ่ประมาณ 3 เท่าของมาเก๊า (30 ตร.กม.)

เขตใหม่เหิงฉินเชื่อมต่อเขตเมืองของจู่ไห่ด้วยสะพานเหิงฉินต้าเฉียว และเชื่อมกับมาเก๊าด้วยสะพานเหลียนฮัว และมีด่านผ่านแดนเหิงฉิน ซึ่งเป็นด่านผ่านแดนทางบกแห่งที่ 2 ระหว่างจีนกับมาเก๊า

เขตพิเศษกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้พัฒนาเกาะเหิงฉินโดยมีนโยบายที่ "พิเศษกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ" 3 ประการหลัก คือ

1. นโยบายการเข้าออกเกาะของประชาชนมาเก๊าและแผ่นดินใหญ่ของจีนให้มีความสะดวกรวดเร็ว

2. นโยบายด้านภาษีอากร สินค้าจีนเข้าเกาะจะต้องผ่านขั้นตอนศุลกากร และได้รับการคืนภาษีตามระเบียบการส่งออก สินค้ามาเก๊า ฮ่องกงและต่างประเทศเข้าเกาะปลอดภาษี และเขตใหม่เหิงฉินจะใฃ้ระบบการจัดเก็บภาษีของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ไม่ว่าเป็นบริษัทต่างชาติหรือบริษัทจีน จะจัดเก็บภาษีรายได้ของบริษัทร้อยละ 15 เท่ากัน นอกจากนี้ ในบริเวณเขตใหม่เหิงฉิน การค้าระหว่างวิสาหกิจจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีบริโภค

3.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยาจีน ให้หน่วยงานควบคุมและบริหารยาของมณฑลกวางตุ้งเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและขั้นตอนอนุญาตการผลิตและการจำหน่ายต่างๆ

รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2563 มูลค่าการผลิตภาคการบริการมีสัดส่วนร้อยละ 75 ของGDP มุ่งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการขั้นสูง เป็นฐานให้บริการทางด้านธุรกิจ ศูนย์กลางการเงิน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยวและพักผ่อน การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีโดยยังคงรักษาสภาพนิเวศวิทยาเดิมที่สมบูรณ์ และมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ในเขตเหิงฉิน

นโยบายดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นการหมุนเวียนของคน เงินทุนและสินค้าของเกาะอย่างแน่นอน จึงเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั้งมาเก๊า ฮ่องกง และแผ่นดินใหญ่ของจีน ปัจจุบัน โครงการต่างๆ ที่เริ่มมีการลงนามข้อตกลงและก่อสร้างในเกาะเหินฉิน เช่น

1. วิทยาเขตใหม่ของมหาวิทยาลัยมาเก๊า

ตั้งอยู่ที่ภาคตะวันออกของเกาะ มีพื้นที่ประมาณ 1.1 ตร.กม. จะจัดตั้ง 6-9 คณะ โดยรัฐบาลมาเก๊าจะขอให้พื้นที่นี้เป็นการปกครองและบริหารจัดการของมาเก๊า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถรองรับอาจารย์และนักศึกษาได้ 15,000 คน

2. ด่านเหิงฉิน

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ได้เริ่มก่อสร้างด่านเหิงฉินโดยประกอบด้วย 5 โครงการ คือ ตึกสำนักงานใหญ่เหิงฉิน ตึกการเงินนานาชาติหลานฉิน ตึกเหิงฉินหัวโหรง ตึกเหมิ่นลี่จือก้วน และศูนย์กลางการขนส่ง

3. "กรอบความตกลงร่วมมือระหว่างกวางตุ้งและมาเก๊า"

วันที่ 6 มีนาคม 2554 มณฑลกวางตุ้งและมาเก๊าได้ลงนามร่วมใน "กรอบความตกลงร่วมมือระหว่างกวางตุ้งและมาเก๊า" โดยในเบื้องต้นจะเป็นการร่วมสร้างนิคมอุตสาหกรรมความร่วมมือกวางตุ้ง-มาเก๊าพื้นที่ 5 ตร.กม. ประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ด้านแพทย์แผนจีน เขตรีสอร์ทเพื่อการพักผ่อน เขตนวัตกรรมด้านวัฒนธรรม และเขตให้บริการทางด้านธุรกิจ

การพัฒนาเกาะเหิงฉินโดยมีนโยบายพิเศษกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ทำให้เกาะใหม่นี้กลายเป็นเขตสินค้าทัณฑ์บนใหญ่ มีความได้เปรียบในด้านการท่องเที่ยว การบริการการค้าและการเงิน การพัฒนาแพทย์แผนโบราณจีน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมไฮเทค ฯลฯ นอกจากนี้ การที่อยู่ใกล้มาเก๊า ซึ่งเป็นพื้นที่มีเงินทุนสะสมมากมายในการพัฒนาการพนัน และมีฮ่องกงและกวางตุ้งอยู่เคียงข้าง จะสร้างพื้นฐานที่ดีให้เกาะมีศักยภาพมากยิ่งกว่าเฃตเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ข้อคิดเห็นของสคร.กวางโจว

แม้ว่าการพัฒนาเกาะใหม่นี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี และหลังจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซี่ยน-จีน การค้าไทย-จีนส่วนใหญ่ได้รับยกเว้นภาษีเหลือ 0% แล้ว แต่การที่เกาะเหิงฉินจะพัฒนาเป็นเขตการค้าเสรีแห่งใหม่ จะดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้าไปลงทุนหรือบริโภคสินค้า และจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ใหม่สำหรับสินค้าต่างประเทศที่จะเข้าสู่ตลาดจีน และสินค้าจีนออกไปต่างประเทศ จึงเป็นทั้งโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนและใช้ประโยชน์นโยบายพิเศษของเกาะ และในขณะเดียวกัน จะเป็นความเสี่ยงที่จะแย่งชิงตำแหน่งของไทยที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อประเทศเอเซียและตะวันออกกลาง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ