สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกในปี 2554 ประจำเดือน มิถุนายน 2554 ของ ทวีปออสเตรเลีย (ภูมิภาคโอเชียเนีย)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2011 12:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์การส่งออกไทย - ทวีปออสเตรเลีย

การส่งออกไทยไปยังทวีปออสเตรเลีย

  • มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปทวีปออสเตรเลียในปี 2553 โดยรวม คือ USD 10,516.26 mil. (แบ่งเป็น ออสเตรเลีย USD 9,369.47 mil. นิวซีแลนด์ USD 799.82 mil. และประเทศอื่นๆ รวม USD 346.97 mil.)
  • ส่วนในปี 2554 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปทวีปออสเตรเลีย คือ USD 4,635.37 mil. ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกัน ของปี 2553 ที่มีมูลค่า USD 5,580.65 mil.
  • สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.82 ของมูลค่าการ ส่งออกทั้งหมดจากไทยไปทวีปออสเตรเลีย) :

1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

2. อัญมณีและเครื่องประดับ

3. เม็ดพลาสติก

4. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ

5. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

ประเด็นการค้าที่สำคัญในเขตเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย

ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ออสเตรเลีย

เศรษฐกิจออสเตรเลียไตรมาสแรกปี 2554 หดตัวมากสุดในรอบ 20 ปี โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 Bureau of Statistics ของออสเตรเลียรายงานเศรษฐกิจออสเตรเลียไตรมาสแรกปี 2554 หดตัว 1.2% (q-o-q) นับเป็นการหดตัวมากสุดตั้งแต่ปี 2534 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในรัฐ Queensland เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2554 ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia : RBA) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 4.75% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออสเตรเลีย (Bloomberg, 1 มิ.ย. 2554)

Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์

โดยธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของออสเตรเลีย 4 ราย ได้แก่ Westpac Banking Corp., Common Wealth Bank of Australia, National Australia Bank Ltd. และ Australia and New Zealand Banking Group Ltd. ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง 1 Notch จากระดับ Aa1 เป็น Aa2 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวช้าเกินไป เนื่องจากสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวดีขึ้นแล้ว (WSJ Online, 18 พ.ค. 2554)

รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมลดยอดขาดดุลงบประมาณ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลออสเตรเลียประกาศลดยอดขาดดุลงบประมาณลงเหลือ 22.6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปีงบประมาณ 2554 (1 กรกฎาคม 2554-30 มิถุนายน 2555) เทียบกับที่ขาดดุล 49.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปีงบประมาณ 2553 รวมถึงวางแผนออมเงินราว 22 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ออสเตรเลียเกินดุลงบประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปี 2555-2556

"อดีต รมว. ต่างประเทศออสเตรเลีย วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของนาย Kevin Rudd"

นาย Alexander Downer อดีต รมว. ต่างประเทศในสมัยรรัฐบาล นรม. John Howard ได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของนาย Kevin Rudd รมวง ต่างประเทศคนปัจจุบัน ใน The Asialink Essay 2011 สรุปสาระสำคัญได้ว่า นโยบายต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเน้นผลักดันให้ NATO เข้าแทรกแซงสถานการณ์ในลิเบีย เป็นการเน้นที่ผิดจุดและไม่ได้ตอบรับผลประโยชน์ใดๆ ของออสเตรเลีย เพราะออสเตรเลียไม่อาจเป็นผู้เล่นสำคัญในประเด็นนี้ได้

"นาย Downer แสดงทัศนะว่า การมีบทบาทสำคัญและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกได้นั้น ออสเตรเลียจะต้องอาศัยจุดแข็งที่มี ได้แก่ การสร้างอิทธิพล/ความใกล้ชิดทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทูตกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียแปซิฟิกกับสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งอิทธิพลของออสเตรเลียจะยิ่งขยายตัวมากขึ้น หากได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯและยุโรปว่า ออสเตรเลียรู้จักและสามารถเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดเกี่ยวกับเอเชีย ดังนั้น เอเชียแปซิฟิกควรกลับมาเป็นจุดเน้นสำคัญของนโยบายการต่างประเทศออสเตรเลีย โดยใช้นโยบายการทูตที่ชาญฉลาดและมีประสิทธิพล (deft diplomacy)"

อัตราว่างงานของออสเตรเลียเดือนมีนาคม 2554 ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 Australia Bureau of Statistics (ABS) รายงานอัตราว่างงานของออสเตรเลียลดลงจาก 5% ในเดือนกุมภาพันธ์เหลือ 4.9% ในเดือนมีนาคม นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียยังเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของปัญหาน้ำท่วมและพายุไซโคลนในช่วงที่ผ่านมา

ค่าเงินออสเตรเลีย สูงขึ้นที่สุดในรอบ 29 ปี เมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 ค่าเงิน 1 ดอลลาห์ออสเตรเลีย เท่ากับ 1.04 ดอลลาห์สหรัฐฯ สูงที่สุดตั้งแต่มีการประกาศลอยค่าเงินตั้งแต่ปี 1982 ค่าเงินออสเตรเลียสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 หลังจากที่หลายประเทศต้องประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้เป็นเพราะภาคการเงินที่แข็งแกร่งของออสเตรเลีย

ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินออสเตรเลียมีการแข็งค่าสูงขึ้นได้แก่ ตลาดซื้อขายสินค้าทั่วโลกที่กำลังขยายตัวมากขึ้น (Global commodity boom) และการเก็งกำไรค่าเงินโดยใช้ผลต่างของอัตราดอกเบี้ย (Carry Trade) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่แล้วของประเทศออสเตรเลีย ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่ทำให้ออสเตรเลียสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหลายครั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา ทำให้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น กับประเทศออสเตรเลียมีอัตราที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ธนาคารกลางออสเตรเลียย้ำปรับลดดอกเบี้ยอย่างมีขอบเขต ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง

"คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลียกล่าวว่า ธนาคารได้กำหนดขอบเขตในการปรับลดดอกเบี้ยลงหลังจากที่ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 3.25% เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เพื่อประเมินผลกระทบของการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงรอดูความเคลื่อนไหวของการเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลมากขึ้น"

"ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดิมเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในการประชุมเมื่อช่วงต้นเดือนทีผ่านมา ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้ที่ว่า มาตรการทางการเงินและการคลังที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นส่งผลต่อประเทศเป็นวงกว้าง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน และจะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่จึงจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยลง 4% นับตั้งแต่เดือนก.ย.และก.พ. รวมถึงการประกาศใช้มาตรการ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในการกระตุ้นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลได้ประกาศไปเมื่อเดือนก.พ.นั้นได้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาวะเศรษฐกิจ"

"แถลงการณ์ของธนาคารกลางออสเตรเลียที่ออกมาในวันนี้ระบุว่า ธนาคารมองว่า การประชุมหลายครั้งที่ผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการกำหนดนโยบายการเงินอย่างมหาศาลท่ามกลางกระแสคาดการณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่สิ่งที่ดีที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือ การตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมต่อไปก่อน พร้อมกันนี้รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ระบบการเงินของออสเตรเลียมีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดที่ได้มีการเปิดเผยในวันนี้มีขึ้นหลังจากที่มีรายงานว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียหดตัวแรงเกินคาด 0.5% ในไตรมาส 4 ซึ่งนับเป็นตัวเลขติดลบทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 8 ปีของออสเตรเลีย"
นิวซีแลนด์

ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์แก้ไขค่า MRL สาร cypermethrin และProfenofos

"ตามที่ มกอช. ได้เคยยื่นข้อเสนอให้ออสเตรเลียกำหนดค่า MRL สารกำจัดศัตรูพืช 2 รายการ ในผักผลไม้เมืองร้อน โดยจัดส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้ออสเตรเลีย ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2554 สำนักงานมาตรฐานอาหารออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (FSANZ) แจ้งเวียนเอกสาร proposal M1006 Maximum Residue Limits (October 2009-March 2010) แจ้งผลการพิจารณาขั้นสุดท้าย โดยยอมรับค่า MRL ที่ไทยเสนอไป โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

1. สาร Cypermethrin ในทุเรียนที่ระดับ 1 mg/kg ในลำไยที่ระดับ 1 mg/kg และในพริกที่ระดับ 1 mg/kg

2. สาร Profenofos ในมังคุดที่ระดับ 5 mg/kg"

นิวซีแลนด์ออกร่างข้อกำหนดมะม่วงสดนำเข้าจากอินเดีย

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 นิวซีแลนด์ได้แจ้งเวียนประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำเข้ามะม่วงสดจากอินเดีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2554 โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญดังต่อไปนี้ 1. มะม่วงที่จะส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ต้องผ่านมาตรฐานสุขอนามัยพืชตาม The Import Health Standard 152.02 (IHIS 152.02 Importation and Clearance of Fresh Fruit and Vegetables into New Zealand) 2.ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อราและแบคทีเรียซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยตาเปล่าก่อนส่งมะม่วงสดมายังนิวซีแลนด์ 3. มะม่วงสดต้องมาจากสวนที่มีมาตรฐานการเพาะปลูก การควบคุมศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และ การบรรจุหีบห่อ ระหว่างการเก็บเกี่ยว ถ้ามะม่วงถูกรบกวนจากศัตรูพืช ติดเชื้อ หรือเสียหายจะต้องคัดทิ้ง 4. จัดการกับศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงในมะม่วงก่อนส่งออก เช่น แมลงวันผลไม้ โดยใช้ไอน้ำร้อนที่อุณหภูมิใจกลางผลไม้ไม่น้อยกว่า 48 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 20 นาที ซึ่งการใช้ความร้อนจากไอน้ำจะต้องปฏิบัติตาม the Official Assurance Programme ที่ได้ตกลงกับ Plant Protection Quarantine and Storage (PPQS) กรมเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการเกษตรอินเดียและ กระทรวงเกษตรและป่าไม้นิวซีแลนด์(MAF) 5. ต้องได้รับใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ที่ออกให้โดยหน่วยงานอารักขาพืชแห่งชาติ (NPPO) ของอินเดียก่อนส่งออกมายังนิวซีแลนด์

เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ไตรมาส 4 ปี 2553 ขยายตัว 0.2%

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 Statistics New Zealand รายงานเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ไตรมาส 4 ปี 2553 ขยายตัว 0.2% (q-o-q) จากที่หดตัว 0.2% ในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจนิวซีแลนด์มีแนวโน้มชะลอลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมือง Christchurch เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.5%

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (Reserve Bank of New Zealand : RBNZ) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 3% เหลือ 2.5% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเมือง Christchurch

IMF เตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจนิวซีแลนด์

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) รายงานว่า IMF เตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเมือง Christchurch ทั้งนี้ ทางการนิวซีแลนด์ประมาณการมูลค่าความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 สูงถึง 20 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์หรือราว 10% ของ GDP

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรระหว่างไทยและออสเตรเลียครั้งล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดกระบี่ กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร จำนวน 7 สาขา โดยให้ลำดับความสำคัญกับโครงการ Establish Network on Organic Production between Thailand and Australia เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นโครงการที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ หลายหน่วยงาน มีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งทางออสเตรเลียยินดีส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์มาประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม 2554 เพื่อเป็นวิทยากรในการสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือในส่วนของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและ มาตรฐานอาหาร ซึ่งเป็นเวทีการหารือเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และมาตรฐานอาหาร รวมถึงความร่วมมือด้านวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการผลักดันการดำเนินงานด้านต่างๆ ผ่านคณะกรรมการร่วมทุกชุดจะทำให้การค้ามีการขยายตัวมากขึ้น รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการมากขึ้นด้วย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ