รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาคอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 16, 2011 13:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2554

1. การค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทย ในช่วงครึ่งปีแรก (มค.-มิย.) ของปี 2554

การค้ารวมระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีมูลค่ารวม 12,904.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสิงคโปร์ส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 7,216.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยมูลค่า 5,687.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สิงคโปร์ได้เปรียบดุลการค้ากับไทย มูลค่า 1,529.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าหลักที่ส่งออกและนำเข้า ดังนี้

  • การส่งออก สิงคโปร์ส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 7,216.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป สื่อบันทึกข้อมูล/ภาพ/เสียง เครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่ใช้ประกอบการพิมพ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เคมีภัณฑ์(อะไซคลิกแอลกอฮอล์และอนุพันธุ์ไนเตรเต็ด) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าป้องกันวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องจักรใช้กับประเภท 85.35, 85.36 หรือ 85.37 และ โพลิเมอร์ของเอทิลีนในลักษณะขั้นปฐม
          - การนำเข้า   สิงคโปร์นำเข้าจากไทยมูลค่า  5,687.5  ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพิ่มขึ้นร้อยละ  14.41  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.16 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 10  สำหรับอันดับหนึ่ง คือ  มาเลเซีย รองลงมา ได้แก่  สหรัฐฯ   จีน   ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้   ไต้หวัน  อินโดนีเซีย      ซาอุดิอาระเบีย  และอินเดีย  สินค้านำเข้าสำคัญ  ได้แก่  น้ำมันสำเร็จรูป   แผงวงจรไฟฟ้า   เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล  เครื่องโทรสาร/โทรพิมพ์/โทรศัพท์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ    เครื่องปรับอากาศ   ยางพารา   น้ำมันและผลิตภัณฑ์อื่นๆจากทาร์/ถ่านหิน    ไซคลิกไฮโดรคาร์บอน  และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด

2. การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรก (มค.- มิย.) ของปี 2554 มีมูลค่ารวม 380,717.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.65 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 200,949.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.04) และมูลค่าการนำเข้า 179,767.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.22) โดยประเทศคู่ค้านำเข้าและส่งออก 10 อันดับแรก ดังนี้

3. ผลการเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 และคาดการณ์ ปี 2554 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (10 สิงหาคม 2554) ได้ประกาศผลการเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมสำคัญ คือ

1. ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวลดลงร้อยละ 5.9 เนื่องจากผลผลิตสินค้า Biomedical ลดลง เพราะว่าผู้ผลิตบางรายเปลี่ยนไปผลิตส่วนผสมของเภสัชภัณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม และผลผลิตของสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ก็ขยายตัวลดลงด้วย เนื่องจากความต้องการของ semiconductor chips จากทั่วโลกลดลง

2. ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ซึ่งการเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยที่ภาครัฐมีกิจกรรมการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. ภาคธุรกิจบริการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยกลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การคมนาคมและคลังสินค้า (+ร้อยละ 4.1) โรงแรมและภัตตาคาร (+ร้อยละ 6.4) สารสนเทศและโทรคมนาคม (+2.4) การบริการด้านการเงิน (+ร้อยละ 10.0 ) การบริการด้านธุรกิจ (+ร้อยละ 2.2) และการบริการด้านอื่นๆ (+ร้อยละ 5.0) ยกเว้น การค้าส่งและค้าปลีก ที่ไม่มีการขยายตัว

          ทั้งนี้ MTI คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ปี 2554  เป็นร้อยละ 5.0 -6.0  (ลดลงจากที่คาดการณ์เดิม  ร้อยละ 5-7)  และในช่วงที่เหลือของปี 2554 ให้พึงระวังปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ (1) ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ (2) ราคาพลังงานในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง แต่จะค่อยๆลดลงในอนาคต    (3) การเติบโตเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังพัฒนาจะชะลอตัวลง (4) เศรษฐกิจถดถอยและหนี้สินในสหรัฐฯ    (5)  เศรษฐกิจ EU ที่บอบบาง และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการติดต่อของโรคที่แพร่กระจายด้วยการสัมผัส ซึ่งอาจจะขยายสู่ภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมีระดับเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์อาจลดลงกว่าอัตราที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว

4. อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์เดือนกรกฎาคม 2554 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5.4 (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) เนื่องจากราคาสูงขึ้นของการคมนาคม (+ร้อยละ 11.5) และที่พักอาศัย (+ร้อยละ 9.5) อาหาร (+ร้อยละ 3) การศึกษาและเครื่องเขียน (ร้อยละ 2.7) นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่ผู้คนจำนวนมากประสงค์จะซื้อรถยนต์ บ้าน และสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ เห็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก และได้เพิ่มระดับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2554 เป็นร้อยละ 4.8 (จากคาดการณ์เดิมร้อยละ 4.3) ทั้งนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะอยู่สูงกว่าระดับร้อยละ 5 ต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน และจะค่อยลดลงต่ำกว่าร้อยละ 4 เมื่อถึงปลายปี 2554

5. การแข็งค่าของเงินเหรียญสิงคโปร์ส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดเล็กในสิงคโปร์ ซึ่งสาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สาขาการผลิตและการขนส่งทางเรือ โดยผลกำไรที่ได้รับลดลงประมาณ 5,000 เหรียญสิงคโปร์ ต่อ 100,000 เหรียญสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตสิงคโปร์ต้องขอทำความตกลงกับผู้ซื้อในบริเทนและสหรัฐฯ เพื่อให้จ่ายเงินเป็นเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทในบริเทนตกลง แต่ในสหรัฐฯยังไม่ตกลงเพราะรู้ว่า ถ้าจ่ายเป็นเงินเหรียญสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบอย่างมาก สำหรับธุรกิจการขนส่งทางเรือ บางบริษัทจำเป็นต้องปรับลดพนักงานและบางบริษัทอาจต้องปิดกิจการ หากค่าเงินเหรียญสิงคโปร์แข็งค่าขึ้นและค่าใช้- จ่ายในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก แต่ผลผลิตงานต่อพนักงานยังคงอยู่ในระดับเดิม อนึ่ง บริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากสามารถปรับไปใช้เงินสกุลอื่นแทน

6. สิงคโปร์วางแผนริเริ่มเป็นกำลังสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่น้อยสำหรับการเพาะปลูก ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปัจจุบัน

สิงคโปร์มีแผนการที่จะสร้างความแข็งแกร่งทั้งภายในประเทศและนานาชาติในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร โดยการดูแลความต้องการของประชากรในประเทศ และในขณะเดียวกันทำประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อโลกในส่วนที่ปัองกันปัญหาการขาดแคลนอาหาร จึงได้มีแผนการยุทธศาสตร์ 4 ประการ คือ (1) การค้นคว้าวิจัยการพัฒนาสายพันธ์ข้าวที่สามารถปลูกและปรับเข้าได้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน/น้ำและอากาศที่เปลี่ยน- แปลง ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศต่างๆไม่ใช่เฉพาะสิงคโปร์เท่านั้น (2) ส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็น Agribusiness Hub โดย Economic Development Board พยายามสนับสนุนบริษัทใหญ่ๆให้ตั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานดำเนินธุรกิจ รวมถึงให้มีการค้นคว้าวิจัยในสิงคโปร์ (3) ปรับเปลี่ยนให้ตลาดภายในประเทศกลายเป็น Test Lab โดยเฉพาะ การทำเกษตรกรรมในเมือง โดยใช้หลังคาอาคารเป็นพื้นที่เพาะปลูก (Rooftop Farming) ซึ่งโครงการแรกได้เริ่มเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อ Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) ได้ให้บริษัท Sky Greens ดำเนินการต้นแบบ Vertical Farming ทั้งนี้หลังคาอาคารของอาคารที่พักอาศัยจำนวนมากสามารถปรับให้เป็น Urban Farmland โดยใช้ระบบ Aeroponics (growing plants without soil and water) และ Aquaponics (growing plants using recycles fish waste) และจะทำให้สิงคโปร์กลายเป็นผู้นำของโลกแห่งการเกษตรกรรมบนหลังคาอาคาร สำหรับผักสด ผลไม้ และดอกไม้ และอาหารทะเลบางชนิด อีกทั้ง ยังสามารถช่วยรักษาระบบสมดุลทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของอากาศ (4) วางนโยบายให้มีการผลิตภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอาหารสำคัญ 3 ประเภทคือ ไข่ไก่ ผักใบเขียว และปลา

7. การปรับปรุง FTA ระหว่างสิงคโปร์กับออสเตรเลีย (Singapore-Australia Free Trade Agreement : Safta) ซึ่ง Ministry of Trade and Investment (MTI) สิงคโปร์ กล่าวว่า การแก้ไขข้อตกลงในครั้งนี้ ทำให้บริษัทสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจในออสเตรเลียในปัจจุบันมีความมั่นใจมากขึ้น และจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ได้รับการป้องกันและมีความมั่นคงปลอดภัยตามกฎหมายสากล ที่รวมถึง สิทธิในการดำเนินการตามกฎหมาย และการคุ้มครองจากตำรวจ การเปลี่ยนแปลงล่าสุดของ Safta จะช่วยยกระดับการป้องกันทางทรัพย์สินทางปัญา ให้มีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ จัดให้นักลงทุนได้รับความกระจ่างสำหรับข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ต่างๆ อนึ่ง Safta เป็นข้อตกลงการค้าด้านสินค้าและการบริการ ที่ครอบคลุมถึงการโทรคมนาคมสื่อสารและการบริการด้านการเงิน การดำเนินการค้าของนักธุรกิจ นโยบายการแข่งขันทางการค้า e-commerce และความร่วมมือด้านการศึกษา ทั้งนี้ ข้อตกลง Safta ครั้งแรกได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 อีกทั้ง ได้มีการทบทวนครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2552 และแก้ไขอีกครั้งในปัจจุบันโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2554 เป็นต้นไป

8. ความร่วมมือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ระหว่างสิงคโปร์กับออสเตรเลีย โดยการลงนามความร่วมมือระหว่าง Science, Technology and Research (A*Star) ของสิงคโปร์ และ National Health and Medical Research Council (NHMRC) ของออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 มีมูลค่า 4.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์เพื่อการค้นคว้าวิจัยด้านสุขภาพและทางการแพทย์ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี สาขาที่จะทำการค้นคว้า ได้แก่ infectious diseases และ nanotechnology รวมถึงการจัดประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่วางแผนว่าจะจัดครั้งแรกในปีหน้า ทั้งนี้ เมื่อปี 2552 สิงคโปร์ได้มีความร่วมมือกับ Department of Innovation, Industry, Science and Research ของออสเตรเลีย และได้จัดการประชุมสัมมนาด้านพลังงาน ในปี 2552 และด้าน Stem Cells ในปี 2553

9. บริษัท SMEs สิงคโปร์ขยายธุรกิจด้านการบำบัดน้ำ บริษัทสำคัญคือ บริษัท MattenPlant ได้รับรางวัล Singapore Brand Award เมื่อปี 2552 ภายใต้สาขา Promising Brand ซึ่งบริษัทฯได้รับการสนับสนุนจาก EnviroTech Capability Development Programme ของ Spring Singapore ที่ช่วยให้บริษัทฯทำการค้นคว้าวิจัยสำเร็จอย่างรวดเร็วในส่วนของระบบ Ultrafiltration (UF) Technology ที่ใช้ในการบำบัดน้ำ ส่งผลให้มีรายได้ถึงร้อยละ 40 ของรายได้รวมของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯเริ่มกิจการด้วยการสร้างเครื่องบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กเป็นไปตามความต้องการของบริษัทลูกค้า ปัจจุบัน ธุรกิจสำคัญของบริษัทฯ คือ การผลิตเครื่องบำบัดน้ำ ซึ่งสามารถผลิตได้ปีละ 35 เครื่อง และส่งออกไปยังอินโดนีเซียและออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายธุรกิจในบังคลาเทศ ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ด้วย บริษัทฯมีสินทรัพย์ประมาณ 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ มีรายได้ในปี 2553 ประมาณ 3.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 35) และในอนาตตมีแผนการที่จะขยายธุรกิจไปยังเวียดนาม อินเดีย อัฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง อนึ่ง ในภาพรวมของกลุ่มการให้บริการด้านสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ในปี 2552 มีรายได้ประมาณ 15 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และมีการจ้างงานประมาณ 68,000 ตำแหน่ง

กิจกรรมที่ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2554

1. รายงานผลการดำเนินงานการจัดโครงการคณะผู้แทนการค้าสินค้าแฟชั่นไปเจรจาการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย) โดยคณะเยือนสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2554 ณ Orchard Hotel

2. ผช.ผอ. นำคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์สินค้าอุตสาหกรรมหนักและอื่นๆ เจรจาการค้าในประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 14-19 สิงหาคม 2554

3. รายงานผลการนำคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์สินค้าอุตสาหกรรมหนักและอื่นๆ เจรจาการค้าในประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 14-19 สิงหาคม 2554

4. ดำเนินการจัดจัดโครงการส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจสปาไทยสู่ตลาดสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรม Goodwood Park Hotel

5. ประสานงานเพื่อการจัดโครงการส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจสปาไทยสู่ตลาดสิงคโปร์ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรม Goodwood Park Hotel

6. ดำเนินการจัดโครงการผู้ประกอบการไทยเดินทางไปขยายตลาดและแสวงหาหุ้นส่วนทางธุรกิจในประเทศสิงคโปร์โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Gift & Stationery Fair 2011 ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2554 ณ Marina Bay Sands

7. ประสานการลงโฆษณางาน Bangkok RHVAC 2011 และ Bangkok E&E 2011 ในสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์

8. ประสานงานการลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการส่งออกในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ (สิงคโปร์)

9. ประสานงานการลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์งาน Thailand International Logistics Fair 2011 ในสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์

10.ประสานงานการลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์งาน Health & Beauty Show 2011 ในสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์

11.ประสานเชิญชวนและจัดคณะนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair 2011 (14-18 September 2011), Thailand International Logistic Fair 2011 (7-11 October 2011)

12.ประสานเชิญสื่อมวลชนสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้า Thailand International Logistic Fair 2011 (7-11 October 2011)

13.ประสานงานการประชาสัมพันธ์การขยายตลาดการค้าข้าวขององค์การคลังสินค้าในตลาดสิงคโปร์

14.ประสานงานการลงโฆษณางานแสดงสินค้า BIFF & BIL 2012 ทางสื่อสิ่งพิมพ์ในสิงคโปร์

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ