ภาครัฐสิงคโปร์ ให้ความสำคัญต่อการสร้างให้ประเทศมีภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น จึงได้จัดตั้งกองทุนมูลค่า 12 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจการสร้างภูมิทัศน์ในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย Ministry of National Development และ Ministry of Manpower เป็นหน่วยงานตัวแทนดูแลการส่งเสริมนี้ ซึ่งกำหนดระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 จนถึง ปลายปี 2559 ให้การสนับสนุนหลักแก่ (1) การยกระดับทักษะการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน โดยเฉพาะจัดให้มีกิจกรรม “Earn as you learn” ให้แก่บุคคลากร ระหว่างอายุระหว่าง 20-35 ปี ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจสาขานี้ เข้าร่วมโปรแกรม Landscape Apprenticeship and Mentorship Programme (LAMP) และ (2) ให้บริษัทดำเนินธุรกิจด้านการจัดภูมิทัศน์สามารถเช่าซื้อเครื่องจักรที่มีคุณภาพ หรืออาจจะเช่าเครื่องจักรใหม่ เช่น Stump Grinder (เครื่องมือที่ทำการตัดต้นไม้ได้อย่างรวดเร็ว) จาก National Parks Board (NParks) แทนที่จะต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องจักรซึ่งมีราคาสูงมาก
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ส่งเสริมธุรกิจการสร้างภูมิทัศน์ คือ หน่วยงาน Centre for Urban Greenery และ Ecology and the Landscape Industry Association ของสิงคโปร์ ได้จัดให้มีกิจกรรม “Green Thumps” (การแข่งขันการปีนต้นไม้ การตัดต้นไม้และการตัดหญ้า) ณ West Coast Park ในเดือนกันยายน 2554 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 1200 คน โดย Brigadier-General (NS) Tan Chuan-Jin ได้แถลงการณ์ถึงความก้าวหน้าในด้านการจัดภูมิทัศน์ในสิงคโปร์ว่า Mr. Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็นผู้นำร่องในการขับเคลื่อนให้สิงคโปร์เป็น “City in a Garden” โดยขอให้ NParks จัดสวนสาธารณะต่างๆในเขตนอกเมืองมีการเชื่อมต่อไปยังสวนสาธารณะรอบๆประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 Nparks ได้เปิดตัว Blue Print แผนการสร้างภูมิทัศน์ในความฝันให้เป็นความจริง เป็นการช่วยสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ นอกจากนี้ คาดหวังว่า การเติบโตของสาขาอุตสาหกรรมการสร้างภูมิทัศน์ จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 - 6 ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
อนึ่ง NParks ได้จัดทำข้อแนะนำในการออกแบบ การสร้าง และบำรุงรักษาภูมิทัศน์ ให้รูปแบบมีความสวยงาม สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ยุ่งยากในการดูแลบำรุงรักษา ซึ่งข้อแนะนำใหม่ๆนี้ เหมาะสมสำหรับนักออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทพัฒนาภูมิทัศน์ ผู้จัดการสวน และเจ้าของอาคาร ที่จะช่วยการสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามและมีพื้นที่ใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการดูแลและอยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา
(1) ภาครัฐสิงคโปร์พยายามวางแผนการนำร่องในการสร้างประเทศให้มีความน่าอยู่และรักษาธรรมชาติ ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการดำเนินชีวิต การทำงาน การค้าและให้เศรษฐกิจมีการเติบโตในทางบวกอย่างต่อเนื่อง
(2) สิงคโปร์มีแผนการส่งเสริมให้รางวัล “อาคาร Green Mark” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ที่มีอาคารเพียง 17 แห่งที่ได้รับรางวัล ในขณะนี้ อาคารที่ได้รับรางวัลมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 840 แห่ง ซึ่งนอกจากจะได้รับการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังช่วยให้เป็นการประหยัดเงินและประหยัดพลังงานเพื่อรักษาโลกร้อนอีกด้วย ทั้งนี้โปรแกรม “อาคาร Green Mark” ของสิงคโปร์ได้รับ ความสนใจและเป็นไปตาม Environment Programme ขององค์กรสหประชาชาติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้มีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นและขยายต่อไปยังประเทศต่างๆ รวมถึง เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย และแทนซาเนีย โดยที่สิงคโปร์สามารถเป็น “สะพานเชื่อมในภูมิภาคเอเชีย” และเป็นประเทศตัวอย่างแก่ประเทศอื่นๆต่อไป
(3) Singapore Green Building Council คาดหวังว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะพิจารณาการสร้างและพัฒนาอาคารให้มีการประหยัดพลังงานเป็นสำคัญ และมีความเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
(4) นอกจากนี้ สิงคโปร์ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ “Green Label” โดยมี Singapore Environment Council (SEC) เป็นผู้รับผิดชอบ Singapore Green Labelling Scheme (SGLS) มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับการรักษาธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในเขตชุมชน รวมถึงให้คำแนะนำ และอนุมัติออก Green Label ให้กับสินค้าที่ยื่นขอ ทั้งนี้ ครอบคลุมสินค้าเกือบทุกประเภท ยกเว้น อาหาร เครื่องดื่ม และเภสัชภัณฑ์
ที่มา : Ministry of National Development, Ministry of Manpower, Singapore Green Building Council, Singapore Environment Council, The Straits Times (12 กย.54)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th