กระแสไฟฟ้าดับๆ ติดๆ เป็นเรื่องปกติสำหรับอินเดียเป็นผลให้คนชั้นกลางเศรษฐีใหม่ของอินเดียรู้สึกหงุดหงิดและต่างแสวงหาเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS)หรือเครื่องอินเวอร์เตอร์ กันเป็นแถวๆ จนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้วโดยเฉพาะคนในเมืองสำคัญๆ ของอินเดีย จึงเป็นโอกาสให้กับผู้ส่งออกไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดได้เป็นอย่างดี
ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน-อินเดียเปิดเผยว่า ในเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น คอมบาตอร์ ที่ซึ่งไฟฟ้าดับมาราธอนวันละ 3 ชั่วโมง ยิ่งส่งผลให้ความต้องการเครื่องสำรองไฟฟ้ามีสูงขึ้นไม่จำกัดเฉพาะคนชั้นกลางเท่านั้น แม้แต่คนรายได้น้อยก็ยังดิ้นรนซื้อไว้ติดบ้านกันด้วย อย่างน้อยเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้พัดลมสักตัวและหลอดไฟสักดวงสำหรับทำงาน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าในแต่ละปี ความต้องการได้พุ่งสูงขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่กระตุ้นให้คนชั้นกลางหาซื้อเครื่องสำรองไฟฟ้าไว้ใช้กันมากขึ้นก็คือ ความง่ายในการใช้งาน ค่าบำรุงรักษาต่ำ การเปลี่ยนระบบการจ่ายไฟฟ้าก็ไม่เกิดการสะดุด ไม่เกิดอารมณ์เสียเพราะแอร์หรือพัดลมดับๆติดๆ ตอนนอนหลับยามค่ำคืน และที่สำคัญไม่มีเสียงดังรบกวนซึ่งดีกว่าเครื่องปั่นไฟเป็นอย่างมาก ถ้ามีตังค์หน่อยก็ต้องจ้างคนเปิดเครื่องตอนดึกๆ ซึ่งคนอินเดียกับการฟุ่มเฟือยไปด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว แม้ในอันที่จริง UPS จะมีราคาแพงกว่า แต่ราคา UPS ในท้องตลาดก็ไม่ได้แพงกว่าราคาทีวีสี 25 นิ้ว หรือตู้เย็นขนาดกลางเลย ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นค่านิยมใหม่ที่ทุกครอบครัวในอินเดียจะต้องมีให้ได้ จึงถึอเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
นายมาโนหรัน กรรมการผู้จัดการบริษัท Electro India ที่เมืองคอมบาตอร์ผู้ผลิต UPS เปิดเผยว่า อินเวอร์เตอร์ตัวหนึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับการจ่ายไฟฟ้าให้หลอดไฟ 2-3 ดวง พัดลม และทีวี เมื่อไฟดับ ช่วยให้ลูกค้าหายหงุดหงิดไปได้มากทีเดียว
พฤติกรรมการบริโภคอินเดียเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อก่อนลูกค้า UPS เป็นคนรวยเท่านั้น ราคาก็ตกราวๆ 1 หมื่นรูปี (ประมาณ 7 พันบาท) เมื่อก่อนถือว่าแพง แต่เดี่ยวนี้ลูกค้าไม่เกี่ยงเรื่องราคากันแล้ว เป็นเพราะคนอินเดียมีกำลังซื้อสูงขึ้นนั่นเอง แถมยังถามหาของแพงกันเสียอีกเพราะถือว่าของแพงเป็นของดี
ประเทศยิ่งพัฒนาไฟฟ้าก็ยิ่งดับบ่อย ที่กรุงนิวเดลีในหน้าร้อนคนยิ่งเดือดร้อนหนัก เพราะคนที่อยู่คอนโด เวลาไฟฟ้าดับเครื่องปั้มน้ำก็ไม่ทำงานด้วย จึงไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยเลยสำหรับคนอินเดีย ส่งผลให้ความต้องการเครื่องสำรองไฟฟ้าเติบโตแบบก้าวกระโดดจนผู้ผลิตเร่งผลิตสินค้าแทบไม่ทัน จากอดีตที่ต้องไปตามตื้อลูกค้า แต่ปัจจุบันลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้ากันข้ามปี อีกทั้งปัจจุบันแบตเตอรีภายในก็ได้พัฒนาให้สามารถใช้ได้นานถึง 5 ปีจึงนับว่าคุ้มค่ามาก
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเครื่องสำรองไฟฟ้าอยู่ 15 โรงในคอมบาตอร์ แม้ว่าจะมีคู่แข่งแบรนด์ดังเข้ามาแข่งขัน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นแข่งขันได้ก็คือบริการหลังการขายที่ดีกว่า รุ่นที่ขายดีเป็นรุ่น 600 VA ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ 4 หลอดและพัดลม 3 ตัว และรุ่น 800 VA ซึ่งสามารถรองรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ 5 หลอดและพัดลม 4 ตัว ส่วนเวลาการช้าจไฟประมาณ 18 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สินค้าตัวนี้จะขายดีเฉพาะในหน้าร้อนที่ไฟฟ้าไม่พอใช้เท่านั้น ส่วนหน้าหนาวคนไม่ค่อยซื้อกันเท่าไร นอกจากนั้น นายมาโนหรันได้ให้ข้อสังเกตว่า สินค้าตัวนี้เหมาะกับผู้ใช้ในเมืองมากกว่า เพราะว่าในเขตชนบทบางพื้นที่ ไฟฟ้าดับข้ามวันข้ามคืน ไม่มีช่วงเวลาให้ชาจไฟเพียงพอ
“ตลาดนี้น่าสนใจไม่น้อย แม้แต่บริษัทเดลตาของไทยก็ได้ลงไปเล่นในตลาดนี้แล้ว และกำลังขยายโรงงานไปทั่วประเทศอินเดียด้วย ผู้บริหารเดลต้าเองยังกล่าวเลยว่า ตราบใดที่อันเดียยังไฟดับบ่อย เดลต้าก็จะขยายโรงงานได้ไม่รู้จบ” นายไพศาล กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.depthai.go.th