สถานการณ์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2011 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การนำเข้า

ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะในรัฐดูไบที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความร้อนแรงมาตลอดเกือบ 10 ปี แต่ได้เริ่มลดระดับการขยายตัวและตกต่ำเนื่องจากปัญหาวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 ทำให้เกิดหนี้ขนาดใหญ่ เกิดความเสียหายมากมาย ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกือบทุกชนิดรวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ลดลงเมื่อ 2552 และต่อเนื่องมาถึงปี 2553 ที่ผ่านมา

คาดว่าการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในปี 2554 มีทิศทางการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เพราะภาคอสังหายังคงซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา กอร์ปกับความวิตกหนี้ในสหรัฐทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เกิดการวิตกกังวลและมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

ยูเออีนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Code 94) ปี 2553 ทั้งสิ้นมูลค่า 1,596.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากมูลค่า 1,644.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่เคยนำเข้าเมื่อปี 2552 หรือลดลง 2.9%

สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ยูเออีนำเข้าแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม เรียงตามลำดับมูลค่านำเข้าได้แก่

1. เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ระบุไว้ในสถิติการนำเข้าหมวด H.S. code 9403 ปี 2553 มูลค่า 813.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราลดลง 2.7% จากมูลค่า 836.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นำเข้าปี 2552

2. กลุ่มโคมไฟ สปอตไลต์ ป้ายชื่อที่มีแสงสว่าง โคมระย้า สำหรับติดเพดานหรือผนัง ชุดไฟตกแต่งชนิดที่ใช้กับต้นคริสต์มาส และส่วนประกอบของของดังกล่าว ระบุไว้ในสถิติการนำเข้าหมวด H.S. code 9405 ปี 2553 มูลค่า 381 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราลดลง 12.5% จากมูลค่า 435.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่นำเข้าเมื่อปี 2552

3. เก้าอี้ H.S. code 9401 ปี 2553 มูลค่า 204.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราเพิ่มขึ้น 36.3% จากมูลค่า 150.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่นำเข้าปี 2552

4 ที่นอน เบาะรองนั่ง ผ้านวม H.S. code 9404 ปี 2553 มูลค่า 105.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราเพิ่มขึ้น 15.8% จากมูลค่า 90.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นำเข้าเมื่อปี 2552

5. อาคารสำเร็จรูป H.S. code 9406 เมื่อปี 2553 มูลค่า 42.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราลดลง 53.3% จากมูลค่า 99.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นำเข้าเมื่อปี 2552

6. เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ศัลยกรรม ทันตกรรมหรือสัตวแพทย์ (เช่น เตียงผ่าตัด เตียงตรวจโรค เตียงโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์กล เก้าอื้-ทำฟัน) เก้าอี้ตัดผมและเก้าอี้ที่คล้ายกันที่มีกลไกสำหรับหมุน เอนและเลื่อนขึ้นลงได้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าวข้างต้น H.S. code 9402 เมื่อปี 2553 มูลค่า 46.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราเพิ่มขึ้น 39.7% จากมูลค่า 32.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นำเข้าเมื่อปี 2552

2. การส่งออกของไทย

ปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไปยูเออีมูลค่า 29.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2552 มูลค่าส่งลดลงเหลือ 18.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 38.4%

ปี 2553 ยูเออีนำเข้าเพิ่มเป็นมูลค่า 19.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือขยายตัว 5.2%

ในช่วงครึ่งแรกปี 2554 มูลค่าส่งออกลดลงเล็กน้อยเป็น 9.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ส่งออกมูลค่า 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 4.0%

สินค้าไทยที่ส่งออกมูลค่าสูงสุดเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นสินค้าเป็นที่ยอมรับทางด้านคุณภาพและความประณีต (กลุ่ม H.S. code 9403) ที่ยูเออีนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 8 เมื่อปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 12.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมูลค่าลดลง 18%

ในขณะสินค้าจากประเทศสหรัฐฯยูเออีนำเข้าเพิ่มมากขึ้น (71.2%) เพราะราคาสินค้าเฟอร์นิเจอร์สหรัฐฯราคาถูกลง หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะชุดโซฟารับแขก

สินค้าจากอินเดียมีอัตราขยายตัวเพิ่ม (75%) ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ทำขึ้นมาใหม่สีและรูปแบบโบราณเลียนแบบของเก่าสมัยโมกุล

3. การส่งออกและส่งออกต่อ (Re-export)

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของยูเออีมีขนาดย่อม เป็นโรงงานผลิตโซฟา เตียงนอน และเฟอร์นิเจอร์สไตล์อาหรับ ปี 2553 ส่งออกมูลค่า 94.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปประเทศอิหร่าน อิรัค ปาปัวนิวกินี ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย กาตาร์ แทนซาเนีย ซูดานและอาร์เมเนีย ยูเออีเป็นแหล่งนำเข้าและส่งออกต่อเฟอร์นิเจอร์(Re-export) ที่สำคัญของภูมิภาคนี้ โดยมีตลาดหลักที่ส่งออกต่อได้แก่ อิหร่าน อิรัค เทนซาเนีย ลิเบีย ศรีลังกา เบนิน ซูดาน และเคนย่า มูลค่าการส่งออกต่อปี 2553 อยู่ที่ 247.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบปี 2552 ที่เคยส่งออกต่อมูลค่า 306.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

4. ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด

ช่องทางการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของยูเออีไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่นำเข้าโดยผู้นำเข้าที่มีคลังสินค้าขายปลีกในประเทศ ซึ่งในขณะเดียวกันก็อาจเป็นผู้ขายส่งอีกด้วย นอกจากนั้นอาจเป็นร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีที่นำเข้าสินค้าจำหน่ายเฉพาะในร้านของตน หรือเพื่อจำหน่ายในร้านสาขาที่มีอยู่ในรัฐอื่น หรือในประเทศอื่นๆในกลุ่มอ่าวอาระเบียน สำหรับผู้นำเข้าในเขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบลอาลีส่วนใหญ่เป็น Distributor นำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายในดูไบหรือส่งออกต่อไปประเทศอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง

5. ฤดูกาลจำหน่าย

: ตลอดปี

6. ภาษีนำเข้าจากราคา CIF

: ร้อยละ 5

7. สิทธิพิเศษทางศุลกากร

: ไม่มี

8. เอกสารประกอบการนำเข้า

: Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรอง จากหอ การค้า ไทยและ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในประเทศ ไทย Bill of Lading และ Packing List เอกสารประกอบดังกล่าวจะระบุไว้ในแอลซี

9. สถานการณ์ตลาดและเนวโน้ม

9.1 ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในยูเออีนั้นได้รับอิทธิพลจากลักษณะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ซื้อขายส่วนใหญ่เป็นห้องเปล่า หากเป็นระดับราคาแพงซึ่งมักจะจำหน่ายในลักษณะห้องพร้อมตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ โดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าของโครงการมักจะจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวจากบริษัทผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสินค้าได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของโครงการ

9.2 ลักษณะการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จะเปลี่ยนแปลง ลูกค้าจะเป็นรายเล็ก เช่น กลุ่มสถาปนิก มัณฑนากร ที่ทำโครงการที่อยู่อาศัย Service Apartment&โรงแรม การสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จำนวนครั้งละไม่มากแต่มีกำลังซื้อแน่นอน

9.3 จากเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศรองรับสินค้าส่งออกต่อของยูเออี เช่น ลิเบีย มีผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากตลาดดังกล่าวในช่วงครึ่งแรกปี 2554 แต่คาดว่าจะกลับมากระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ภายหลังจากที่เหตุการณ์คลี่คลายลง ภาครัฐและภาคเอกชนเร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน และอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย

10. สรุปและข้อเสนอแนะ

10.1 ควรเร่งยกระดับคุณภาพของสินค้าและการออกแบบให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ส่วนการเข้าสู่ตลาดนั้น สามารถเจาะขยายผ่าน Distributor ท้องถิ่น หรือการร่วมลงทุนกับนักธุรกิจที่ดูไบในการเปิดบริษัทรับงานโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากกว่า

10.2 หลีกเลี่ยงการแข่งขันกับตลาดล่างเพราะแนวโน้มความต้องการจะลดลง ประเทศคู่แข่งเฟอร์นิเจอร์ในตลาดยูเออี ส่วนใหญ่มีค่าเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท จะทำให้ไทยสียเปรียบการแข่งขันด้านราคากับประเทศต่างๆ อาทิ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ใช้กลยุทธ์ด้านราคาแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง

10.3 การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นอีก 35-40% เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ใช้แรงงานสูง ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดิม 12-16% ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้าไม่สามารถปรับขึ้นได้ทันที ต้องทำตามคำสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี ดังนั้นอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนได้ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็ก(SME) ซึ่งคาดว่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยหดตัวลง

10.4 ปัจจัยเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยลบที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ชะลอตัวลง

10.5 ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องเตรียมหามาตรการรองรับเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ยกระดับคุณภาพและการผลิตสินค้า ควบคู่กับพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น มีความชำนาญในการผลิตมากขึ้น เพิ่มลดอัตราการสูญเสียในการผลิตลง โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับทางด้านคุณภาพและความประณีตในตลาดโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ