พลาสติกกับอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2011 15:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มาตรฐานการประหยัดน้ำมันรถ

นโยบายรัฐบาลประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ ในการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ประกาศมาตรฐานใหม่ของการประหยัดน้ำมันของรถ (Fuel Economy) หรือเรียกว่า CAFE: Corporate Average Fuel Economy กำหนดให้รถยนต์ที่ผลิตจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องเพิ่มระดับการประหยัดน้ำมันเป็น 54.5 ไมล์ต่อแกลลอน ภายในปี 2025 (2568) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ให้ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ เตรียมการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 35.5 ไมล์ต่อแกลลอนตามที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552

มาตรฐานใหม่การประหยัดน้ำมันรถยนต์ (Fuel Economy) ผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิต รถยนต์ของสหรัฐฯ วางกลยุทธ์ 3 ประการ คือ

1. เพิ่มการผลิตรถใช้พลังงานไฟฟ้า ไฮบริด และพลังงานแบตเตอรี่

2. ผลิตรถขนาดเล็กออกจำหน่าย (Small Car)

3. ผลิตรถให้มีน้ำหนักเบา (Light Weight Vehicle)

โอกาสของพลาสติก

ปัจจุบัน พลาสติกมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ มากขึ้นเป็นลำดับ ในพ.ศ.ปี 2533 รถยนต์มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 7,000 ปอนด์ (3,180 กิโลกรัม) ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบในการผลิตคิดเป็นประมาณ 217 ปอนด์ (99 กิโลกรัม) ต่อรถหนึ่งคัน เพิ่มขึ้นเป็น 255 ปอนด์ (116 กิโลกรัม) ต่อคันในปี 2543 และ เพิ่มขึ้นเป็น 286 ปอนด์ (130 กิโลกรัม) ในปี 2553 ตามลำดับ

กลยุทธ์ผลิตรถให้มีน้ำหนักเบา (Light Weight Vehicle) ได้รับความสนใจมากจากอุตสาหกรรมรถยนต์ และตั้งเป้าหมายว่า จะต้องลดน้ำหนักรถต่อคัน ลงประมาณ 200-700 ปอนด์ (90 -318 กิโลกรัม) ซึ่งหมายถึงว่า การผลิตรถต้องเพิ่มหรือหันไปใช้อุปกรณ์และส่วนประกอบที่มีน้ำหนักเบาลง (Light Weight Components & Parts) ภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แก่พลาสติกซึ่งวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเบา แข็งแรง และมีความเหมาะสม ในการนำไปผลิตส่วนประกอบยานยนต์บางประเภทที่มีน้ำหนักเบาได้เป็นอย่างดี

สมาคม The Automotive Composites Alliance ของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบยานยนต์ ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

1. การประหยัดพลังงาน (Reduce Energy Consumption) จากการค้นคว้าพบว่า น้ำหนักรถลดลงประมาณร้อยละ 10 จะเป็นผลให้ประหยัดน้ำมันได้ร้อยละ 7

2. ช่วยลดมลภาวะของอากาศ (Mitigate Climate Change) หรือปัญหาโลกร้อน

3. ช่วยลดหรือพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ (Reduce Oil Import)

4. เพิ่มความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ (Enhance Vehicle Safety)

แนวโน้มและความต้องการ

1.คาดว่าภาคอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ มีความต้องการเม็ดพลาสติกเพื่อผลิต ส่วนประกอบยานยนต์ประมาณ 1,500 ล้านปอนด์ หรือ 680 ล้านเมตริกตันภายในปี 2555 และความต้องการจะขยายตัวคิดเป็นประมาณร้อยละ 4 ต่อปี

2. ส่วนประกอบยานยนต์ที่สามารถใช้พลาสติกในการผลิตหรือนำไปทดแทนโลหะ แยกเป็น 4 กลุ่มที่สำคัญ คือ

2.1 ส่วนประกอบภายในตัวรถ (Interior Components)

2.2 ส่วนประกอบภายนอกรถ (Exterior Components)

2.3 ส่วนประกอบเป็นโครงสร้าง (Structural Components)

2.4 ส่วนประกอบใต้ฝากระโปรงรถ (Underhood Components)

3. ประเภทพลาสติกที่ต้องการได้แก่ Acrylonitrile-butadiene-styrene (ABS), polypropylene (PP)และ polycarbonate (PC), Polybutylene Terephthalate (PBT), Polyamide (Nylon)

อนึ่ง สหรัฐฯ นำเข้าเม็ดพลาสติกเป็นมูลค่า 6,268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.96 และมีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ คานาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น และ เยอรมนี ซึ่งรวมกันมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 70

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ