เมื่อต้นเดือนกันยายน 2554 World Economic Forum (WEF) ได้ประกาศผลการสำรวจประจำปีด้าน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทำการสำรวจจาก 142 ประเทศ ปรากฎว่า สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 2 ของโลก โดยฟินแลนด์เป็นอันดับที่ 1 และรองจากสิงคโปร์ ได้แก่ สวีเดน สวิซเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ การสำรวจของ Asian Intelligence Reports (รายงานประจำปีของสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาการจัดการความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของโลกและที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ) ได้จัดอันดับคุณภาพการจดสิทธิบัตร โดยจัดให้สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย นำหน้าฮ่องกงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับในเรื่องปริมาณการจดสิทธิบัตร สิงคโปร์อยู่ที่อันดับ 4 (รวบรวมโดย NUS Entrepreneurship Centre)
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2554 Mr. K. Shanmugam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสิงคโปร์ได้กล่าวในงาน Global Forum on IP เกี่ยวกับความพยายามที่แน่วแน่ของสิงคโปร์ในการสร้างระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการฝึกอบรมบุคคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการ
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ (Intellectual Property Office of Singapore : Ipos) ประกาศว่า ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์และการเจริญเติบโตของภาคการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ทำให้แนวโน้มการคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สินปัญญาในสิงคโปร์ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2553 จำนวนการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร 9,773 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (8,736 ราย) ร้อยละ 11.87 และการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีจำนวน 17,404 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (15,446 ราย) ร้อยละ 12.67 และคาดว่า จำนวนการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
จำนวนการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในสิงคโปร์ ปี 2552 — 2553 หน่วย : ราย ปี จำนวนยื่นขอจดทะเบียนของบริษัทในประเทศ จำนวนยื่นขอจดทะเบียนของบริษัทต่างประเทศ รวม 2553 892 (9%) 8,881 (91%) 9,773 2552 827 (9%) 7,909 (91%) 8,736 จำนวนการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสิงคโปร์ ปี 2552 — 2553 หน่วย : ราย ปี จำนวนยื่นขอจดทะเบียนของบริษัทในประเทศ จำนวนยื่นขอจดทะเบียนของบริษัทต่างประเทศ รวม 2553 4,336 (25%) 13,068 (75%) 17,404 2552 4,110 (27%) 11,336 (73%) 15,446 ข้อคิดเห็น
(1) ความพยายามของสิงคโปร์ที่ทำให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ระดับสากล และการได้รับจัดอันดับสูงจากหน่วยงานนานาชาติ เป็นการสะท้อนถึงการยอมรับในระดับโลกที่ต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในความความสามารถอันแข็งแกร่งในการวางระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์
(2) ผลที่สิงคโปร์ได้รับโดยตรง คือ การลงทุนของชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ผลิตจากสิงคโปร์
(3) นอกจากที่สิงคโปร์จะสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างอัตรางานที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้แก่ชาวสิงคโปร์อีกด้วย
(4) ทั้งนี้ จากการที่สิงคโปร์มีการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเคร่งครัด ทำให้เป็นการป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบ ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในสิงคโปร์
ที่มา : Intellectual Property office of Singapore (IPOS), The Straits Times (16 Sept 2011)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th