ยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตหนานซาแห่งเมืองกวางโจว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2011 15:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานผังเมืองของนครกวางโจวได้วางแผนโครงการเขตสาธิตการพัฒนาพื้นที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หรือ Close Economic Partnership Agreement (CEPA) ระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งจะดำเนินการสร้างในเขตพื้นที่หนานซาซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกวางตุ้ง บนเกาะ Longxue ที่เชื่อมต่อทั้งฮ่องกงและมาเก๊า

รัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่และเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทที่สาม ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านการขนส่งสินค้า, การบริการจัดจ้างคนภายนอก, การพาณิชย์สมัยใหม่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เป็นต้น โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล รวมไปถึงการสร้าง "เศรษฐกิจเรือสำราญ" เอาไว้เป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกของเมืองกวางโจว ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสวยงามของวิวทิวทัศน์และสิ่งแวดล้อมของเขตหนานซาเมืองใหม่ริมฝั่งทะเลแห่งนี้

โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับไฮเอนด์นี้เป็นโครงการที่ร่วมมือระหว่างสามเขต คือ กวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า ร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมบริการให้ทันสมัย และพัฒนารูปแบบอุตสาหกรรมในเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง พร้อมทั้งยังมีการวางแผนการวิจัยร่วมกับสถาบันสังคมวิทยาแห่งประเทศจีนเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นเฉพาะการพัฒนาเขตใหม่หนานซา มีทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ ด้านผังเมือง, ด้านอุตสาหกรรม, ด้านที่ดิน, ด้านการคมนาคม, ด้านจำนวนประชากร, ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและด้านความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า โดยมีเมืองฮุ่ยกู่ที่อยู่ทางภาคใต้ของเขตหนานซาเป็นแหล่งรวบรวมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มีการรวบรวมสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงมาไว้ที่นี่ เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน, สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเมืองกวางโจว, สถาบันวิจัย Hua Ying Dong ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฮ่องกง, อุตสาหกรรมการบริการจัดจ้าง, ห้องแลป UL ของสหรัฐอเมริกา, สถาบันวิจัยซอฟแวร์จีนในปักกิ่ง, สถาบันออโตเมติกเมืองเสิ่นหยาง, สถาบันวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูงเมืองเสิ่นเจิ้น, สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งทะเลจีนใต้ เป็นต้น สถาบันเหล่านี้ต่างมาสร้างหน่วยงานของตนที่ในเขตพื้นที่ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองหนานซา คาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามแผน ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงาน CEPA และรัฐบาลของทั้ง 3 เขต เพื่อแสวงหาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์, การบริการด้านสุขภาพ,การรักษาพยาบาลระดับสูง, โครงการวางผังเมืองและการจัดการ, สถาบันการศึกษาและอบรม, การแพทย์แผนจีนระดับสากล, เขตพิเศษท่าเรือกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ อาณาเขตแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกระดับไฮเอนด์ระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า รวมถึงจะมีการนำกลไกและแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของฮ่องกงและมาเก๊ามาปรับใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโซนสาธิตเขตหนานซานี้ด้วย

สร้าง " เมืองคาร์บอนต่ำ "

ในอนาคตรัฐบาลเมืองหนานซาจะดำเนินการพัฒนาด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการสร้างท่าเรือกวางโจว - ฮ่องกงและท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์หนานซา - ฮ่องกง ในขณะเดียวกันจะเร่งขยายสายรถไฟใต้ดินโดยเร็วที่สุด ส่วนด้านระบบนิเวศของเมืองได้มีการพัฒนาการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ คือการสร้างเมืองให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มีการนำเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและสารสนเทศเทคโนโลยีแบบใหม่มาประยุกต์ใช้ เช่น E - government และ E - commerce, โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เช่น ไฟถนน LED, สถานีชาร์จไฟรถประหยัดพลังงาน เพื่อสร้างภาพลักษณ์แก่เมืองหนานซาในฐานะเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและการจัดการ เพื่อนำร่องการวางผังเมืองและการจัดการรูปแบบใหม่ของภูมิภาค

ข้อคิดเห็นของ สคร. กวางโจว

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้จีนมีปริมาณสินค้าส่งออกและนำเข้าในแต่ละปี ค่อนข้างสูง รัฐบาลจีนมีนโยบายกำหนดเขตพื้นที่หนานซาให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติทางตอนใต้แถบสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง สามารถเชื่อมโยงกับเมืองกวางโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ ตงก่วน จงซาน และเจียงเหมิน จากการศึกษาเส้นทางโลจิสติกส์ไทย - จีน ยังพบว่าท่าเรือที่ผู้ประกอบการไทยใช้ในการขนส่งสินค้ายังกระจุกตัวอยู่ 2 แห่งคือ ท่าเรือหวงผู่ มณฑลกวางตุ้ง และท่าเรือเซี่ยงไฮ้ โดยท่าเรือเซี่ยงไฮ้จะเป็นท่าเรือที่ขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง ลำไยอบแห้ง รวมทั้งอุตสาหกรรมหนักๆ เช่น เหล็ก ส่วนท่าเรือหวงผู่ เป็นท่าเรือที่ขนส่งสินค้าผลไม้เป็นส่วนใหญ่

แม้จะมีการพัฒนาเส้นทางทางบกเชื่อมไทย-จีนขึ้นมาหลายสาย แต่ก็ยังพบว่าการขนส่งทางเรือยังได้รับความนิยมต่อไป เนื่องจากมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า 2-3 เท่า อีกทั้งถ้านับถึงมูลค่าที่ขนส่งได้ ปริมาณที่ขนส่งได้ รวมทั้งความปลอดภัยในตัวสินค้าที่ไม่ต้องย้ายจากรถบรรทุกไปคันอื่นบ่อยๆ ก็ทำให้การขนส่งทางน้ำยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะรถบรรทุก 1 คันจะสามารถบรรทุกสินค้าได้ไม่เกิน 18 ตันเท่านั้น ซึ่งการขนส่งทางเรือจะขนส่งได้ปริมาณมากกว่า

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดผู้บริโภคให้ดีเสียก่อน ก่อนจะส่งสินค้าไปยังเมืองใด เพราะการเลือกท่าเรือที่คำนึงถึงระยะทางใกล้ไกลนั้นก็เป็นปัจจัยที่ดี แต่สินค้าของเราจะสามารถเปิดตลาดจีนบริเวณนั้นได้หรือไม่ หรือมีความต้องการบริโภคสินค้าของเราหรือไม่ ย่อมเป็นปัจจัยหลักที่ต้องศึกษาให้ดี

แหล่งที่มา : Guangzhou Daily ฉบับลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554 หน้า A6

สคร. เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ