สถานการณ์การค้าของไทย-อิตาลี
เดือนสิงหาคม 2554 ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 350.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.8 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2553) โดยขาดดุลการค้า 46.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2554 ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 2,750.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 เทียบกับเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553) โดยขาดดุลการค้า 90.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
เดือนสิงหาคม 2554 ไทยส่งออกมายังตลาดอิตาลีคิดเป็นมูลค่า 151.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปกติจะพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังอิตาลีมีลักษณะแนวโน้มคล้าย ๆ กันในแต่ละปี โดยเดือนที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ เดือนพฤษภาคมและจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปและจะกลับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเดือนกันยายนและลดลงในช่วงพฤศจิกายนและเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมอีกครั้ง
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรกในเดือนสิงหาคม เช่น ยางพารา (สัดส่วน 9.6%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (สัดส่วน 9.2%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 8.3%) ผลิตภัณฑ์ยาง (สัดส่วน 5.4%) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (สัดส่วน 5.1%) เป็นต้น
โดยสินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+10,956.9%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+98.6%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+96.8%) ยางพารา (+63.8%) และปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง (+35.9%) เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่มีการขยายตัวลดลง ได้แก่ เลนซ์ (-14.3%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-6.9%)และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-3.3%) เป็นต้น
ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2554 ไทยส่งออกมายังตลาดอิตาลีคิดเป็นมูลค่า 1,329.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2553
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก เช่น ยางพารา (สัดส่วน 9.9%) อัญมณีและเครื่องประดับ (สัดส่วน 9.4%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (สัดส่วน 8.8%) ปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง (สัดส่วน 6.3%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 4.6%) เป็นต้น
โดยสินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวของปีก่อนหน้า ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+3,191.8%) เม็ดพลาสติก (+83.4%) ยางพารา (+79.6%) สิ่งทออื่นๆ (+61.0%) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+50.5%) เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีการขยายตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-24.2%) ผ้าผืน (-13.8%) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (-13.2%) เป็นต้น
เดือนสิงหาคม 2554 ไทยนำเข้าจากอิตาลีคิดเป็นมูลค่า 198.35 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ89.2 เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 89.2 ล้านเหรียญสหรัฐเทียบกับการนำเข้าเดือนสิงหาคม 2553 โดยปกติจะพบว่าไทยนำเข้าสินค้าจากอิตาลีมีลักษณะแนวโน้มคล้าย ๆ กันในแต่ละปี โดยเดือนที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดคือ เดือนมีนาคมและจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไปและกลับมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมและพฤศจิกายนของทุกปี
สินค้านำเข้าที่สำคัญจากอิตาลี ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (สัดส่วน 23%) ผลิตภัณฑ์โลหะ (สัดส่วน 19.9%) เคมีภัณฑ์ (สัดส่วน 7.8%) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (สัดส่วน 4.8%) และสินค้าทุนอื่น ๆ (สัดส่วน 4.4%) เป็นต้น
โดยสินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเทียบกับปีก่อนหน้า ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (+591.3%) ผลิตภัณฑ์โลหะ (+376.8%) แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ (+202.8%) สบู่ ผลซักฟอกและเครื่องสำอาง (+190.9%) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+77.6%) เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีการขยายตัวลดลง เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-32.5%) และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (-20.3%) เป็นต้น
เดือนมกราคม-สิงหาคม 2554 ไทยนำเข้าจากอิตาลีคิดเป็นมูลค่า 1,420.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.1 เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันปี 2553
สินค้านำเข้าที่สำคัญจากอิตาลี ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (สัดส่วน 23%) ผลิตภัณฑ์โลหะ (สัดส่วน 15.1%) เคมีภัณฑ์ (สัดส่วน 8.9%) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (สัดส่วน 4.9%) และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (สัดส่วน 4.5%) เป็นต้น
โดยสินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวของปีก่อนหน้า ได้แก่ กาแฟ ชา เครื่องเทศ (+1,563.7%) ผลิตภัณฑ์โลหะ (+271.1%) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (+199%) เคมีภัณฑ์ (+66.0%) และเลนซ์ แว่นตาและส่วนประกอบ (+46%) เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีการขยายตัวลดลง เช่น สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (-21.3%) และเครื่องจักรไฟฟ้าในบ้าน (-4.9%) เป็นต้น
อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่กำลังประสบปัญหาด้านฐานะการคลังและต้องเผชิญปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลอิตาลีพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศสามารถใช้งบประมาณแบบสมดุลได้ในปี 56 แต่ถ้าพิจารณาภาพรวมแล้วสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอิตาลีก็ยังถือว่าขยายตัวได้ดี โดยล่าสุดGDP อิตาลีในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 0.1 เทียบจากไตรมาสก่อนหน้า
1. ไขมันและน้ำมันจากพืชจากสัตว์ การส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชจากสัตว์ของไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 โดยเดือนกรกฎาคม 2554 การส่งออกมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 12,156.6 เทียบจากปีก่อนหน้า
2. ผลิตภัณฑ์ยาง ถึงแม้การส่งออกเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2554 การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในเดือนสิงหาคม 2554 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขื้นร้อยละ 98.6
3. ยางพารา เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทยมาโดยตลอด ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2554 การส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 79.6 เทียบจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสินค้ายางพารายังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทย โดยเฉพาะยางรถยนต์และถุงมือยางซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการใช้เป็นอย่างมากในตลาดอิตาลี
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
ที่มา: http://www.depthai.go.th